อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเสียวสันหลัง!! ‘แคนาดา’ อัดเงินช่วยเหลือ ดันกระแสรถ EV จุดมุ่งหมายคือ Zero-Emission ภายในปี 2579

ในปี 2564-2565 จะเห็นได้ว่าหลายประเทศเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน มาเป็นการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

‘แคนาดา’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างเร่งด่วน หลังจากที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ในช่วง 2 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนโยบายหลักของภาครัฐฯ คือ ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล และ “รถไฟฟ้า”(Electric Vehicle:EV)

ซึ่งภาครัฐให้การผลักดันในเกือบทุกมิติ นับตั้งแต่การสนับสนุนการลงทุนทั้งทางตรง และทางอ้อมของภาคเอกชน สร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นใหม่ รวมถึงการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น นั่นทำให้ชาวแคนาดาได้หันมาสนใจรถไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก

โดย ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต’ เปิดเผยผลการสำรวจผู้บริโภคจากบริษัท Auto Trader พบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภค มีความต้องการซื้อรถคันต่อไปที่เป็นรถไฟฟ้า โดยปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้นคือการที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 6-9 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นเนื่องจากความกังวลของไวรัส ลดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในปีที่ผ่านมา

นั่นทำให้ยอดจำหน่ายรถไฟฟ้าในแคนาดาได้พุ่งสูงขึ้น 89% ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งในปี 2563 ยอดจำหน่ายรถไฟฟ้ามีสัดส่วนเพียง 3.2% แต่ขยายเป็น 5.6% ในปี 2564

ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 ยอดจำหน่ายน่าจะเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญถึงแม้ว่าอุตสาหกกรรมรถยนต์จะต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ก็ตาม

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลแคนาดาได้ออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคให้หันมาซื้อรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะให้เงินอุดหนุนคันละ 5,000 เหรียญแคนาดา (หรือราว 135,000 บาท) สำหรับรถไฟฟ้า 100% และ 2,500 เหรียญแคนาดา (ราว67,500 บาท) สำหรับรถไฮบริด (รถกึ่งไฟฟ้าและน้ำมัน)

โดยมาตรการใหม่ล่าสุดที่ประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะขยายการคลอบคลุมไม่เพียงรถโดยสารทั่วไป แต่รวมไปถึงรถบรรทุก (Truck) รถตู้ขนาดเล็ก (Minivan) และรถอเนกประสงค์ (SUV) ที่ครอบคลุมรถเกือบทุกประเภทที่มีราคาไม่เกิน 60,000 เหรียญแคนาดา (ราว 1.62 ล้านบาท)

ทั้งนี้รัฐบาลแคนาดาได้วางแผนระยะยาวกำหนดให้รถยนต์ที่จะวางจำหน่ายใหม่จะต้องเป็นรถ Zero-Emission ทั้งหมดภายในปี 2579 โดยเริ่มกำหนดให้รถรุ่นใหม่ที่เป็น Zero-Emission มีสัดส่วนตลาด 20% ภายในปี 2569 และ 60% ภายในปี 2573

แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์แล้ว กลับให้ความเห็นว่าถ้าหากรัฐบาลไม่มีแผนที่ตั้งในการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิต เป้าหมายดังกล่าวอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะทุกวันนี้รถฟ้าส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเฉลี่ยประมาณ 10,000 เหรียญ (ราว 270,000 บาท) เมื่อเทียบกับรุ่นที่มีขนาดเครื่องยนต์ใกล้เคียงกัน ซึ่งนโยบายสนับสนุน Rebate ในปัจจุบันตั้งไว้คันละ 5,000 เหรียญฯ อาจไม่พอเพียงพอที่จะกระตุ้นให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น และจะสามารถเพิ่มสัดส่วนตลาดได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้

จะเห็นได้ว่ากระแสของรถยต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ และทิศทาง Zero-Emission ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้พลังงานจากแหล่งน้ำมันฟอสซิล (Fossil Fuel) ซึ่งการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าได้กลายเป็นหนึ่งในแผนสำคัญระยะยาวที่ภาครัฐ และเอกชนได้เริ่มผลักดันให้รถไฟฟ้าสามารถเข้าสู่ตลาดหลักได้ ซึ่งรวมถึงการออกมาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคโดยการให้เงินอุดหนุนเมื่อซื้อรถไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศ การลงทุนวิจัยสร้างแหล่งผลิตแบตเตอรี่ ลดต้นทุนการผลิตรถไฟฟ้า สร้างแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องไปกับกระแสโลกจะก่อให้เกิดโอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่ๆการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

แต่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถไฟฟ้าอาจจะมาเร็วกว่าที่ทุกคนเคยคาดคิด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจับตากระแสดังกล่าว เพราะประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่ยังเน้นการผลิตสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #EV #ยานยนต์ไฟฟ้า