ESG สำคัญยังไง? ลดความเสี่ยงลงทุนได้แค่ไหน ทำไมนักลงทุนรุ่นใหม่ต้องรู้!!

จากบทความที่แล้ว ‘Business+’ ได้เล่าถึงที่มาและความหมายของ ESG ไปแล้ว หากให้พูดง่าย ๆ คือ การทำธุรกิจแบบยั่งยืนโดยเน้นให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)
สาเหตุที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คนให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นมาจากคนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงการใช้สอยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และได้รับผลกระทบจากมลภาวะมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่น การผลิตที่ต้องใช้การเผาผลาญ หรือใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ได้ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา ทั้งแง่ของมลพิษทางอากาศ และทางน้ำ
ดังนั้น หากย้อนกลับมาสู่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น คือ “การใช้สอยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด” จึงทำให้การดำเนินธุรกิจในแบบที่แสวงหาผลตอบแทนในรูปแบบของกำไรเพียงอย่างเดียว ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกต่อไป
เราจึงได้เห็นผู้บริโภคในกลุ่มรักษ์โลก ที่เลือกซื้อสินค้าที่กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นบริษัทที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล อีกด้วย โดยเฉพาะผู้บริโภค Gen Y (เกิดระหว่าง ปี 2524-2543 อายุ 21-40 ปี) และ Gen Z (เกิดปี 2544 จนถึงปัจจุบัน อายุต่ำกว่า 21 ปี)
สาเหตุที่คนใน Gen Y และ Z ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มาก เป็นเพราะทั้ง 2 Gen เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาในยุคที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในโลกเติบโตขึ้นสูง มีการผลิตและดำเนินธุรกิจที่สร้างมลภาวะจำนวนมาก ไม่ใช่ยุคบุกเบิกแบบ Gen X และ Baby Boomer ที่ทรัพยากรในโลกยังไม่ถูกทำลาย หรือถูกใช้เป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับการลงทุน เมื่อทรัพยากรที่มีอยู่เริ่มลดน้อยลง การดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ เชื่อว่าจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นานอีกต่อไป โดยเฉพาะธุรกิจที่อาศัยทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หรือใช้เวลานานกว่าจะกว่าจะเกิดขึ้นมาทดแทน อย่างเช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน
ซึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น เราจึงได้เห็นการเกิดขึ้นของ รถยนต์ไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
นอกจากนี้ ความสำคัญของ ESG สำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยู่ที่แผนการดำเนินธุรกิจในระยะ เพราะการทำ ESG จะทำให้เรามองเห็นวิสัยทัศน์ และเป้าหมายในระยะยาว รวมไปถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทยาว ไม่ได้มุ่งเน้นผลกำไรในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
หากบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ESG อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบที่จะตามมาในคราวหลัง อย่างการถูกร้องเรียน เรียกร้อง หากธุรกิจของเราไปทำลายทรัพยากร หรือสร้างผลกระทบต่อสังคม
นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากการทำ ESG ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีผลต่อผุ้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) อย่างรอบด้าน ทั้งผู้ถือหุ้น และสังคมทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องมีการวัดผล และรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทที่ได้คะแนน ESG สูง ๆ เป็นบริษัทที่มีมาตรฐานทั้งคุณภาพและผลประกอบการที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีการคอรัปชั่นต่ำ อีกทั้งต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ยังต่ำกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญด้าน ESG
ซึ่ง ‘Business+’ ได้พบข้อมูลเชิงสถิติว่า ดัชนี SET THSI (Thailand Sustainability Investment : THSI) มีความผันผวนน้อยกว่าดัชนีอื่น เช่น SET SET50 SET100 และเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนี THSI ปรับตัวขึ้นสูงกว่าดัชนีอื่น ๆ
โดยดัชนี SET THSI เป็นดัชนีที่รวมบริษัทในตลาดหุ้นที่มีความโดดเด่นด้าน ESG รวมถึงเป็นการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจากเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น
– เป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้คัดเลือกในทุก ๆ ปี (โดยปี 2564 ใช้เกณฑ์คัดเลือกจาก แนวทางบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ครอบคลุมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างชัดเจน และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงการช่วยเหลือสังคม และมีพัฒนาการโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม)
– เป็นหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เฉลี่ยอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท
– เป็นหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รำยย่อย (Free-float) ไม่ต่ำกว่า 20% ของทุนจดทะเบียน
ขณะที่มีสิ่งยืนยันจาก MSCI ESG Research LLC ที่ได้ทำการสำรวจนักลงทุนกลุ่ม Millennials และพบว่า นักลงทุนกลุ่มนี้มีแผนการลงทุนอย่างยั่งยืน และจะปฏิเสธการลงทุนในบริษัทที่ไม่คำนึงถึงด้าน ESG เช่น ผลิตสินค้าหรือบริการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ หรือทำลายทรัพยากร
ปิดท้ายกันด้วยความเห็นจากนักวิเคราะห์ที่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทที่เน้นหลัก ESG
คุณภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า แก่นการลงทุนในหุ้น ESG ไม่ได้มุ่งเสาะหาบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่าอุตสาหกรรมหรือตลาดโดยรวม เพราะบริษัทเหล่านี้จะคำนึงถึงด้าน ESG ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่ในมุมของนักลงทุนสามารถประยุกต์ใช้ ESG เพื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหกรรม และนำไปช่วยจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูล : thaipat ,SET
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ESG