ขาขึ้นครั้งสุดท้ายของ อุตสาหกรรมน้ำมัน

ภาพรวมอุตสาหกรรมพลังงานของไทยในปี 2021 ที่ผ่านมา ยังคงเจอแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการเดินทาง และการทำงานจากที่บ้านภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานในปีนี้บนสมมติฐานตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7-1.2% พร้อมราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 62-72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

โดยทางคุณวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เผยว่า การใช้พลังงานขั้นต้นของปี 2021 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ประมาณ 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากภาคส่งออกเป็นสำคัญ โดยการใช้พลังงานทุกประเภทน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมันที่ปรับตัวลดลง

ตัวเลขมีการเพิ่มขึ้น 3.5% และ 1.8% สำหรับการใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์  ด้านการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าคาดว่าเพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่การใช้น้ำมันคาดว่าลดลง 5.5% อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ ด้าน แก๊สแอลพีจี ในภาคครัวเรือนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% และ 11.5% ตามลำดับ

โดยตัวเลขนำเข้าพลังงานในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่ 723,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ส่งออกอยู่ที่ 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าพลังงานขั้นต้นต่อวันของไทยอยู่ที่เทียบเท่ากับ 1.45 ล้านบาร์เรลน้ำมันต่อวันซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีหลังสุด ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2021 แสดงให้เห็นว่าไทยมีการนำเข้าพลังงานหลัก ๆ ด้วยกัน 4 ประเภท

ประเภท                                                      เทียบเท่าบาร์เรลน้ำมัน/วัน

1.ปิโตรเลียม                                                              806,000

2.ถ่านหิน                                                                   308,000

3.ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว                  279,000

4.ไฟฟ้า                                                                      54,000

โดยการนำเข้าพลังงานของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% จากการนำเข้าทั้งหมดในปี 2020 ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งใน 12% นี้มีถึง 9% เป็นการนำเข้า ปิโตรเลียม ขณะที่การผลิตพลังงานขั้นต้นเชิงพาณิชย์ของไทยในปี 2021 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 867,000 เทียบเท่าบาร์เรลน้ำมันต่อวัน และประมาณ 418,000 บาร์เรลต่อวันเป็นของการกำลังการผลิตน้ำมัน ด้านก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 32,700 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในภาพรวมช่วง 9 เดือนของปี 2564 บริษัทจดทะเบียนใน SET กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ทั้งหมด 63 ราย มีรายได้ 3,476,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.58% จาก 9 เดือนของปี 2563 ที่มีรายได้ 2,421,415 ล้านบาท

และในส่วนของกำไรสุทธิช่วง 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 212,812 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 318% จาก 9 เดือนของปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 50,885 ล้านบาท (สาเหตุที่รายได้และกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 2564 เติบโตก้าวกระโดดเพราะมีบริษัทจดทะเบียนใน SET กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานเพิ่มจาก 56 ราย เป็น 63 ราย)

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เป็นบริษัทที่มีรายได้สูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน

-รายได้รวม 9 เดือนแรก อยู่ที่ 1,592,392 ล้านบาท เติบโต 29.9% เมื่อเทียบกับปี 2020

-กำไรสุทธิ 9 เดือนแรก อยู่ที่ 80,819 ล้านบาท เติบโต 228% เมื่อเทียบกับปี 2020

-ในแง่ของ อัตรากำไรสุทธิ PTT อยู่ที่ 7.15% เมื่อเทียบกับทั้งกลุ่มซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.22% ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม แต่โดยภาพรวมแล้วกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานถือว่ามีอัตรากำไรสุทธิค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นโดยรวมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

-ด้านอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 10.12% ซึ่งว่าใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจพลังงานโดยภาพรวมซึ่งอยู่ที่ 10.55%

-ด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E ซึ่งใช้แสดงถึงหนี้สินเทียบกับส่วนของเจ้าของอยู่ในระดับกลาง ๆ ที่ 1.07 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 1.24 เท่า

นอกจากนี้เมื่อดูอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ที่ 2.03 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก (สามารถขายสินทรัพย์มาชำระหนี้สินที่มีได้มากถึง 2 เท่า)

9 เดือนที่ผ่านมา ปตท. มีกำไรจากการสต๊อกน้ำมันของกลุ่มประมาณ 39,000 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2020 โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าปี 2022 ปตท. จะมีกำไรสุทธิลดลงราว 10-15% จากคาดการณ์กำไรจากสต็อกน้ำมัน (Inventory Gain) จะลดลงต่ำกว่าปีนี้ โดยภายในช่วงเวลา 1 ปี (ต.ค.2563-ต.ค.2564) ที่ผ่านมาราคาหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 20.45%

ขณะที่ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่า ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อไป หลังจาก กลุ่มโอเปกพลัสออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน พร้อมกับสถานการณ์ความตึงเครียดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ และมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างจีนและรัสเซีย ซึ่งตรงนี้จะกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และตรงนี้จะเป็นผลดีต่อกลุ่มธุรกิจ ปตท. ทั้งหมด