เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย โจทย์ใหญ่จึงตกอยู่กับผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ต้องปรับกลยุทธ์พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส รอจังหวะตลาดฟื้นอีกครั้ง
‘บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน)’ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เปิดฉากปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 100% แต่ล่าสุดกลับลดสัดส่วนนี้เหลือ 25% และหันไปให้น้ำหนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึง 75%
จุดมุ่งหมายสำหรับการปรับทัพธุรกิจครั้งนี้ เป็นเพราะผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสเพิ่มผลกำไรให้เติบโตแบบก้าวกระโดด!
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ถือเป็นเรื่องปกติของและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเมื่อต้องปรับโฟกัสใหม่ คำถามที่น่าสนใจคือ ตลาดอนาคตที่จะมุ่งไปให้ผลตอบแทนคุ้มค่า หรือไม่ ..?
บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักดีในชื่อเดิมว่า อีเอ็มซี เอ็นจิเนียริ่ง ของตระกูล “ลีนะบรรจง” คืออีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจในตอนนี้ เมื่อมีการดึงมือดีหลายคนเข้ามา พร้อมๆ กับเปลี่ยนแผนธุรกิจ โดย 5 ปีจากนี้ทีมผู้บริหารชุดใหม่พร้อมกับตั้งเป้าหมายรายได้ 17,000 ล้านบาท และมีผลกำไรราว 13,000 ล้านบาท
เศรษฐวัจน์ ตั้งวัชรพงศ์ คือหัวหน้ารับผิดชอบงานใหญ่ให้กับบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) โดย “เศรษฐวัจน์ “ ข้ามห้วยมาจาก Fragrant Property เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้อีเอ็มซีเติบโตอย่างยั่งยืน
“โจทย์เราคือ ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทีนี้ก็ต้องกลับมาดูว่าบริษัทสามารถเดินหน้าต่ออย่างไร ก็พบว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในงบประมาณปีหนึ่งๆ เราสามารถทำกำไรได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็มองว่า ขีดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังไปได้ดีกว่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงเลือกหันมาโฟกัสธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” เศรษฐวัจน์ ตั้งวัชรพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หลังให้สัมภาษณ์พิเศษ Business+ ถึงเหตุผลการปรับพอร์ตธุรกิจจากรับเหมาก่อสร้างมาสู่ Developer
“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจก่อสร้างทั่วไปอยู่มาก ดังนั้นหากต้องการเติบโตให้สำเร็จตามแผน 5 ปี จึงต้องหาจุดร่วมในธุรกิจใหม่ และต้องการันตีว่าธุรกิจนั้นจะประสบผลสำเร็จ
…ธุรกิจก่อสร้างหนึ่งโปรเจ็กต์มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท จะใช้งบประมาณการก่อสร้างอยู่ที่ 400 ล้านบาท และสามารถทำท Net Profit ให้บริษัทได้เพียง 5-8% หรือคิดเป็นเงินราว 20 ล้านบาท
แต่หากอีเอ็มซีหันมาพัฒนาโครงการด้วยตนเอง จากกำไร 20 ล้านบาทก็จะเพิ่มเป็น 150-190 ล้านบาท ซึ่งจะทำรายได้มากกว่าเดิมเฉลี่ย 8-9 เท่า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทผันตัวมาเป็น Developer
เราต้องรู้ว่าจุดแข็ง-จุดอ่อนของบริษัทคืออะไร การที่จะทำให้รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดดนั้น สามารถใช้กลยุทธ์เสริมได้ แต่ถ้าต้องการเป็นตัวจริงในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เราจะต้องมีความยั่งยืนและไม่ลืมว่าเราเป็นใคร”
ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอึมครึม จากตัวเลขบทวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุไว้ว่า ปีนี้การลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หดตัวร้อยละ 7.0 ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ ‘อีเอ็มซี’ ยังฮึดสู้ขับเคลื่อนแผนธุรกิจ 5 ปี (ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2562) และตั้งเป้าโกยรายได้ 17,000 ล้านบาท
ในขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังซบเซา เศรษฐวัจน์ กลับมองเห็นโอกาสตลาดใจกลางเมืองติดกับรถไฟฟ้าที่กำลังขยายยังมีความต้องการค่อนข้างสูง จากยอดพรีเซลเปิดตัวเป็นยอดขายแต่ละโครงการเปิดตัวไม่ต่ำกว่า 50% ทุกโครงการ
“หากคิดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มันไม่ work มันก็ไม่ work ทุกปี แต่ถ้า work ก็ work เป็นบางจุด ยกตัวอย่าง ตลาดที่ซบเซาไปเลย เช่น ตลาดที่มีแบรนด์ใหญ่เข้าไปลงทุนเยอะๆ เช่น หัวหิน ซึ่งเป็นแบรนด์อสังหาฯรายใหญ่จากกรุงเทพฯ จากนั้นผู้เล่นรายถัดไปแห่ไปลงเพิ่ม แน่นอนมันทำให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นทันที ทำให้โอกาสในการขายพื้นที่ขายขึ้น เพราะดีมานด์ในตลาดมีระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้ที่อยู่รอดคือ ผู้เล่นอสังหาฯระดับท้องถิ่น เพราะเขารู้ว่ากำลังซื้อหลักคือใคร
จะเห็นได้ว่า หัวหินบูมมาตลอดเพราะต่างชาติและลูกค้าจากกรุงเทพฯคือ กลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ก็ต้อง drop ลงมา เพราะกำลังซื้อตอนนี้ลูกค้าชะลอออกไป ในขณะที่ในหลายๆ พื้นที่ทั้งในหัวเมืองเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่ นั่นจากปัญหาที่กล่าวมา แต่เชื่อว่าระยะยาวธุรกิจอสังหาฯ จะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะธุรกิจนี้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจากนี้ไทยจะต้องเปิดการค้าเสรีกับอาเซียน
ตลาดอนาคตนี้ ผมมองว่า กำลังซื้อจากต่างชาติจะหลั่งไหลเข้ามา เพราะที่ดินเอเชียมีราคาไม่แพง อีกทั้งราคาขายทั้งห้องชุด บ้านเดี่ยว คอนโด ฯลฯ ในเมืองไทยยังมีราคาไม่แพงมาก เทียบกับสิงคโปร์หรือฮ่องกง เพียงแต่ต้องรอเวลาให้ดีมานด์กับซัพพลายมาพบในจุดที่พอดีกันจริงๆ”
โดย จอมภัค สู่สุข
—– ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ July 2015 Issue 317 ทุกแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ—-