climate change

สภาพอากาศโลกแปรปรวน จะกระทบในมุมธุรกิจอย่างไรบ้าง?

สภาพอากาศของโลกที่เกิดความแปรปรวนที่รุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลกในช่วง 150 กว่าปีที่ผ่านมา จากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น และได้ส่งผลกระทบต่อการเป็นอยู่ของผู้คนอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้กระทบเพียงแค่ครัวเรือน แต่กระทบไปถึงหน่วยธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ซึ่งเป็นต้นเหตุของความแปรปรวนนี้เช่นกัน และเมื่อหน่วยธุรกิจได้รับผลกระทบก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจโลกในเวลาต่อมา

โดยผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวนในทางธุรกิจนั้น ‘Business+’ ขอยกตัวอย่างที่มองภาพแบบง่าย ๆ คือ อุตสาหกรรมเกษตร เพราะว่าผลผลิตของพืชผลจากการเพาะปลูกจะมีผลผลิตที่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฤดูกาล ซึ่งฤดูกาลต่าง ๆ จะมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน

อย่างเช่น ในฤดูร้อน จะมีอากาศที่ร้อนกว่าช่วงปกติ และเป็นช่วงที่น้ำแล้ง ทำให้เหมาะกับพืชที่ทนแล้งได้ดี เช่น พืชไร่ที่อายุสั้น และต้องการน้ำน้อย เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง งาดำ งาขาว พืชตระกูลแตง รวมไปถึงสมุนไพรบางชนิด เช่น ข่า ขมิ้นชัน ไพร มะกรูด รวมไปถึงเหมาะกับพืชทนแล้งอายุยาว เช่น มะพร้าว อินทผลัม มะละกอ มันสำปะหลัง ตะบองเพชร แก้วมังกร ซึ่งหากฤดูร้อนยาวนานขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชเหล่านี้ก็อาจจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น แต่ถ้าหากว่าฤดูร้อนยาวนานเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาด ก็จะเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด และทำให้ราคาขายของสินค้าลดลง จนสุดท้ายก็กลับมากระทบที่กำไรสุทธิของเกษตรการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังกระทบไปยังเกษตรกรในพืชประเภทอื่น เช่น พืชที่ต้องการน้ำมากอาจจะไม่เหมาะที่จะเพาะปลูกในช่วงฤดูร้อน เพราะพืชจะขาดแคลนสารอาหาร ดังนั้น หากฤดูร้อนยาวนานขึ้น ก็จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกพืชชนิดอื่นที่เหมาะกับฤดูฝนอื่นได้เลย และเกิดเป็นภาวะขาดแคลนผลผลิต หรือสินค้าขาดตลาด และจุดนี้จะกระทบต่อเนื่องไปยังทั้งเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง รวมไปถึงเกิดผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าประเภทอื่นที่ต้องใช้วัตถุดิบเป็นพืชที่เกิดขึ้นในฤดูฝน หรือ ฤดูหนาว

ขณะที่หากสภาพอากาศในบางพื้นที่แปรปรวน และกลายเป็นฤดูฝนที่ยาวนานขึ้น หรืออาจจะเกิดเป็นพายุที่รุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมบ้านเรือน หรือพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งทำให้ผลผลิตในพืชประเภทที่ไม่ชอบน้ำล้มตายจากภาวะรากเน่า จะนอกจากนี้หากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากเขตอบอุ่นกลายเป็นอากาศหนาวจัด ก็จะมีผลต่อสัตว์ หรือพืชที่จะล้มตายได้เช่นเดียวกัน

นอกจากอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว ยังกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พลังงานทดแทน หากเป็นโซลาร์ฟาร์มที่เคยถูกตั้งในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน หากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีแดดน้อยลง ก็ส่งผลต่อค่ารับแรง และทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงได้เช่นกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมประมง หากอากาศเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของน้ำ สัตว์น้ำอาจล้มตาย หรือย้ายถิ่น ซึ่งจะทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลาได้ปริมาณมากเท่าเดิม

ทั้งนี้นอกจากสภาพอากาศแปรปรวนจะกระทบต่อผู้ผลิตขั้นต้นที่เป็นการผลิตที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรงแล้ว ยังกระทบไปถึงผู้ผลิตขั้นที่สอง (Secondary production) ซึ่งเป็นการผลิตที่ต้องอาศัยผลผลิตอื่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต กรรมวิธีการผลิตมีความซับซ้อนขึ้น เช่น การผลิต อาหารกระป๋อง ก็จะได้รับผลกระทบหากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ และอาจจะต้องนำเข้า หรือหาแหล่งวัตถุดิบอื่นเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตสินค้า ซึ่งการนำเข้า หรือใช้พัซพลายเออร์เจ้าใหม่อาจจะมีค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนสูงขึ้น และกระทบต่อไปยังความสามารถในเชิงแข่งขันด้านราคา หรือคุณภาพของสินค้าที่น้อยลง

จะเห็นได้ว่า สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปกระทบในหลายภาคส่วน นอกจากกระทบทางตรงแล้ว ยังกระทบต่อการค้าขายอีกด้วย เพราะปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการตรวจสอบไปยังขั้นตอนการผลิตที่ต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือของเสีย หากธุรกิจไหนก่อให้เกิดผลเสียต่อธรรมชาติในปริมาณมากก็อาจจะถูกแบน หรือไม่ได้รับการสนับสนุนในทางที่ดี

ยกตัวอย่างเช่น หากไทยต้องการค้าขายกับประเทศในทวีปยุโรปที่มีการคุมเข้มในเรื่องของการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ใน 12 กลุ่มสินค้าที่มีการกำหนดเอาไว้ และหากไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน แต่ต้องการทำการค้าขายกับ อียู ก็จำเป็นต้องซื้อใบรับรอง CBAM ซึ่งมาตฐานนี้จะถูกเริ่มใช้เต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 69 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อลดภาระการซื้อใบรับรอง CBAM ในอนาคต

ที่มา : kasetorganic , CBAM

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/