โครงการ eisa ร่วมกับชุมนุม SIFE จุฬาฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูป ให้กับกลุ่มวิสาหกิจบ้านทองหลาง จังหวัดนครนายก

โครงการ eisa (Education Institute Support Activity) ภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในโครงการที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม และกิจกรรมในสถาบันการศึกษา ร่วมมือกับชุมนุม (SIFE) Students in Free Enterprise คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูป ในด้านการพัฒนาโลโก้– แพคเกจสินค้า และวางแผนการตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มยอดการขายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน โดยทางคณะอาจารย์และนิสิตได้ดำเนินการวางแผนการทำงานร่วมกันประกอบกับกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐนครนายก ได้มอบโจทย์แก่นิสิตในชั้นเรียนเพื่อเก็บข้อมูลและแก้ปัญหาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน

ชุมนุม SIFE  ‘Students in Free Enterprise’ เป็นองค์กรอิสระก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1975 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก SIFE สนับสนุนมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกให้จัดตั้งทีมนักศึกษาขึ้นเพื่อพัฒนาธุรกิจในชุมชน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลการทำโครงการอย่างใกล้ชิด SIFE จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ  5 ประการคือ

  1. เศรษฐศาสตร์การตลาด (Market Economics)
  2. ทักษะแห่งความสำเร็จ (Success Skills)
  3. ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
  4. ความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy)
  5. จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics)

ล่าสุดวันที่ 9 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาโครงการ eisa และชุมนุม (SIFE) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อนำเสนอการออกแบบผ่านทางนวัตกรรมด้าน Logo & Packaging ของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงการวางแผนการตลาด Online marketing เน้นการ Promote ช่องทางขายออนไลน์ผ่านทาง Line official ร่วมกับชุมชน ณ กลุ่มวิสาหกิจปลาร้าแปรรูป ตำบลทองหลาง จังหวัดนครนายก

นางรำพึง ใจบุญ ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรและการทำมาหากินในด้านอาหารและโภชนาการ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรมและใช้บ้านของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมอาชีพ เช่น ทำปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลาดุก ได้เปิดใจถึงการนำองค์ความรู้ การปรับปรุงสินค้าเดิมให้สอดคล้องกับยุคสมัยของน้องๆนิสิตจุฬาฯว่า

“ รู้สึกดีใจมากๆปลื้มใจที่น้องๆมาช่วยแบ่งเบาช่วยแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนโลโก้สินค้า และช่วยขยายการตลาดทดลองการขายจริงมีการปรับปรุงวัสดุให้น่าจับต้องมากขึ้น ปกติแล้วทางกลุ่มปลาร้าแปรรูปของเราจะเน้นพัฒนาคุณภาพปลาร้าและผลิตภัณฑ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น พอเราได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากโครงการ สมาชิกในกลุ่มต่างก็ให้ข้อมูลเชิงลึกและมีการสนทนาผ่านทางระบบ Zoom ก็รู้สึกตื่นเต้นแปลกใหม่เพราะพวกเราไม่เคย ทำให้เกิดมุมมองรวมถึงสถานการณ์การผลิตปลาร้าที่มีการปรับปรุงแต่งสี กลิ่น รส เพิ่มจากภูมิปัญญาเดิม พ่อบ้านแม่บ้านหลายครัวเรือนที่เข้าร่วมทดสอบต่างยอมรับการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมถึงได้ความรู้และข้อมูลต่างๆทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ เรารู้สึกจริงๆว่างานจะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ eisa บริษัท ไทยเบฟและน้องๆ จากจุฬาโครงการ SIFE ที่ทำให้สินค้าของพวกเรามีการต่อยอดกว้างไกลออกไป มีคุณภาพมากขึ้น จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ”  คุณรำพึงกล่าวด้วยรอยยิ้ม

บุคคลที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยกับ นางอรกัญญา นิลบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครนายก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ผู้ซึ่งดำเนินการประสานงานโครงการระดับท้องถิ่นกับโครงการ eisa เห็นสมควรคัดเลือกนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาการตลาดออกแบบโลโก้ พร้อมเข้าไปมอบโจทย์ให้กับนิสิตจุฬาลงกรณ์ในชั้นเรียน โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โครงการ eisa และ SIFE จุฬาฯได้ลงพื้นที่ทำการตลาดสินค้าปลาร้าแปรรูปและน้ำพริกในรูปแบบใหม่ ณ ตลาดขุนด่าน@นครนายก ซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว เขื่อนขุนด่านปราการชล ได้สังเกตการณ์ในการทำงานของนิสิตว่าจะตอบโจทย์และสามารถนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่  โดยสรุปผลออกมาดังนี้

รู้สึกดีนะคะ ที่เห็นน้องๆมาช่วยชุมชนและมีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการหาข้อมูลชุมชน และช่วยกันพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ปลาร้าแปรรูปมีมาตราฐานที่ดีขึ้น ชุมชนมีโลโก้เป็นของตัวเอง มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามน่าจับต้อง ส่งผลที่ดีต่อด้านการตลาดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาด้านการตลาดออนไลน์ทำให้ชุมชนขายสินค้าได้หลายช่องทาง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าของชุมชนกว้างขึ้นค่ะ อยากจะบอกว่าโครงการนี้มีประโยชน์มากกับชุมชน เป็นโครงการที่ทำให้น้องๆได้เข้ามาใกล้ชิดกับชาวบ้านได้เข้ามาพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ”

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจของ นายธีร์ พงศ์พลไพรวัน หลักสูตร BBA-Accounting คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในฐานะผู้นำทีมนิสิตในการบริหารการทำงานครั้งนี้ว่า “สวัสดีครับ ชื่อธีร์นะครับ เป็น Project Operator ของปลาร้าแปรรูปนะครับ วันนี้ได้นำผลงานมาเสนอแม่ๆในชุมชน รู้สึกดีมากครับทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก โดยเราจะเน้นเรื่องการตลาดเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลโก้ เรื่องสโลแกนรวมถึงแพคเกจจิ้ง เราจะมาปรับเปลี่ยนให้กับชุมชนครับ ฟีดแบคจากชุมชนคือเห็นด้วยกับเราพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ทั้งนี้เรามีโลโก้ 18 แบบให้ชุมชนได้เลือก การปรับเปลี่ยนต่างๆที่พอจะปรับจูนกันได้เราก็จะพูดคุยกันว่าได้เท่าที่นะ อยากให้เป็นแบบนี้นะ อย่างเช่น แพคเกจจิ้ง เราเห็นว่าควรจะต้องปรับเปลี่ยนให้ดูน่าสนใจมีการ Work Shop กับชุมชน มีการลงพื้นที่ทดลองขายจริง สิ่งที่เราคาดไม่ถึงคือเราวางขายสินค้ารูปแบบใหม่ในที่สาธารณะจำนวน 2 จุด คือตลาดเกียรติบำรุง และตลาดเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งเกินคาดมากครับเราได้ผลตอบรับที่ดี นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนสนใจมาอุดหนุนซื้อปราร้าแปรรูปและน้ำพริก ขายหมดไวมากทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจกับการทุ่มเทครั้งนี้ครับ”

ด้านอาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุม SIFE อาจารย์ ดร.สาวิตรี บุญพัชรนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ?มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดูแลการปฎิบัติการของนิสิตได้แสดงความคิดเห็นว่า “ เป็นโครงการปีแรกของ SIFE ที่มีการลงพื้นที่ในจังหวัดนครนายก การที่เรามาทำโครงการนี้ เราเห็นศักยภาพของชุมชนบ้านทองหลางในมุมที่ว่ามีวัตถุดิบอยู่แล้วซึ่งก็คือปลาร้าที่เป็นข้าวคั่วที่แตกต่างจากปลาร้าทั่วไปที่เป็นน้ำๆในมุมมองของคนกรุงเทพ และชุมชนก็มีสินค้าอื่นๆ เช่นน้ำพริก เราก็เห็นว่าชุมนุม SIFE มีนิสิตที่มีความรู้ด้านธุรกิจทางด้านการตลาด Marketing ก็น่าจะลงมาช่วยเหลือชุมชนได้เพราะว่าสินค้าของชุมชนเป็นสินค้าที่ดีมากๆ แต่ยังอยู่ในวงแคบในจังหวัดนครนายก เราอยากให้สินค้าของชุมชนขยายวงกว้างออกไป สิ่งที่เราถนัดเราจะส่งเสริมด้านการตลาดออนไลน์ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับด้าน Branding ต่างๆที่เราจะทำค่ะแล้วปีนี้ชุมนุม SIFE ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี – จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัยเราได้รับความร่วมมือที่ดีมากๆจากคณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์จุฬา มาร่วมออกแบบโลโก้และการทำ Packagingเพื่อผสมผสานความรู้ระหว่างคณะเพื่อส่งมอบสิ่งดีๆให้ชุมชน สำหรับ Feedback ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่2 หลังจากที่เราได้เคยลงมาสำรวจไปแล้วหนึ่งครั้งเราจะเห็นว่าจริงๆชุมชนเปิดกว้างมากๆเลย น่ารักเป็นกันเองรู้ว่าตัวชุมชนมีดีอยู่แล้วแต่ก็อยากจะพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ขายได้มากยิ่งขึ้น ให้ข้อมูลเชิงลึกพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี วันนี้นอกจากหน้าบ้านที่เรานำแบบโลโก้และPackaging มาให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมเลือกแบบตามความชอบของชุมชน รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ ในวันนี้เราก็จะมาทำหลังบ้านด้วยเรามองว่าธุรกิจจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตเราคิดว่าหน้าบ้านการตลาดออนไลน์ไม่เพียงพอ นิสิตก็จะมาแนะนำเรื่องการคิดต้นทุนซึ่งต้องดูว่าวันนี้สิ่งที่ชุมชนขายตั้งราคาไว้เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้าเราปรับ Packaging เรามีสินค้าตัวใหม่ๆออกไปเราจะต้องปรับเรื่องต้นทุนไหมเพื่อที่จะให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อๆไปค่ะ “

สุดท้ายเรามาฟังความรู้สึกของนิสิตหญิงในฐานะผู้มีความรักษ์โลก นางสาววรกมล ธารสุวรรณวงศ์ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีต่อวิสาหกิจชุมชนบ้านทองหลางในการบริหารจัดการระบบ Food Waste ว่า ชื่นชมกับชุมชนบ้านทองหลางที่มีการจัดการระบบ Food Waste หรือขยะจากกระบวนการผลิตปลาร้าแปรรูปที่ได้นำไปเป็นอาหารให้กับปลาสวายที่ชุมชนเลี้ยงไว้ ได้เห็นการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลอย่างเคร่งครัดรวมถึงแนวทางการอนุรักษ์โดยจัดการเชิงระบบนิเวศ อาทิ การจัดการพื้นที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรชีวภาพอย่างบูรณาการ มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและแบ่งปัน ซึ่งเราจะเห็นว่าปัจจุบันปัญหาของระบบนิเวศมักมาจากปัญหามลพิษขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล หากเราไม่รีบป้องกันแก้ไขอาจส่งผลกระทบต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ การป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันค่ะ”  วรกมล กล่าว     

การดำเนินการพัฒนาปลาร้าแปรรูป ตำบลทองหลาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่ทางโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และชุมนุม SIFE จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าไปพัฒนาโลโก้ Packaging และแผนการตลาดให้กับชุมชนปลาร้าแปรรูปแห่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและมีจุดเด่นคือการผลิตปลาร้าจากปลาดุกและปลานิล นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์รองเป็นน้ำพริกซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุดิบจากปลามาดัดแปลงเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม สำหรับการพัฒนาของโครงการจะครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องการขยายตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า โดยมีเกณฑ์การประเมินสถานการณ์ที่ต้องการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้อาศัยและประกอบอาชีพของตนในชุมชนอย่างยั่งยืน