”ศ.ดร.นฤมล“ เปิดภารกิจขับเคลื่อนการค้า-ลงทุนไทยรับปี’67 ถกผู้พัฒนา WeChat ดึงเกษตรกร-SMEรุกขยายตลาดจีนเพิ่ม

“ศ.ดร.นฤมล” ผู้แทนการค้าไทยเร่งขับเคลื่อนดันการค้าและการลงทุนไทยรับศก.และส่งออกปี 2566 ฟื้นตัว รุดหารือผู้พัฒนา WeChat หวังพัฒนาเป็นแอคเคาท์สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อเปิดตลาดให้เกษตรกรและเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงตลาดจีน 1,400 ล้านคน เผยตลาดจีนยังมีศักยภาพสำหรับไทยอีกมากหลังกลุ่มสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้และเครื่องสำอางแบรนด์ไทยมาแรง เร่งเดินหน้าขยายโอกาสการค้าและการลงทุนผ่านFTA

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย (TTR) เปิดเผยว่า เป้าหมายของผู้แทนการค้าไทย เป็นหนึ่งในทีมไทยแลนด์ ที่จะร่วมกันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และร่วมผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยปี 2567 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคส่งออกที่เดือนต.ค.66 เป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และคาดว่าปลายปีที่เหลือจะเป็นบวกต่อเนื่อง โดยมีจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สร้างเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าจากอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้ง ผลไม้ ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้สด กลุ่มเกษตรแปรรูปยางพารา รวมถึงเครื่องสำอาง(Cosmetic)ที่เป็นแบรนด์ไทย พบว่ากำลังได้รับความนิยมจากตลาดจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสขยายตลาดจีนอยู่อีกมากมาก เมื่อเร็วๆ นี้จึงได้หารือกับทางผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม WeChat จากจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาเป็นแอคเคาท์สำหรับประเทศไทยเพื่อให้เกษตรกรและวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ของไทยเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น

“ จีนมีระบบการสื่อสารผ่านแอปพิเคชั่นเฉพาะตัวนั่นคือ WeChat ที่ใช้สั่งซื้อสินค้า จ่ายค่าน้ำค่าไฟ แม้กระทั่งกู้เงิน เขาอยู่ตรงนี้หมด เขาไม่ได้ใช้ Facebook ไม่ใช้ google เราจึงต้องมองช่องทางที่ให้เข้าถึงลูกค้าเขาจริงๆ จึงเชิญ ทางผู้พัฒนา WeChat มาหารือว่าถ้าเราจะเข้าถึง B2B2C (Business to Business to Customer) หรือผู้บริโภค 1,400 ล้านคนในจีน เราจึงมองหนทางทำเป็นแอคเคาท์ของไทยโดยกระทรวงพาณิชย์หรือหน่วยงานใดที่จะรวบรวมผู้ประกอบการเข้ามาแล้วโปรโมท ซึ่งขณะนี้หลายประเทศได้ใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อส่งสินค้าเข้าถึงกลุ่มตลาดจีน ทั้งญี่ปุ่น รัสเซีย เป็นต้น” ศ.ดร.นฤมลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการเปิดตลาดและส่งสินค้าเกษตรไทย ยังมีช่องทางขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับบริษัทหวาอี้ กรุ๊ป ประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนเพื่อร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย นำผลผลิตยางพารา ไปสู่การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับยางพาราของไทยเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทดังกล่าว ได้มีการตั้งโรงงานรถยนต์ในไทย ภายใต้ ยี่ห้อ Double Coin ตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 มีการใช้วัตถุดิบยางพาราของไทย ถึง 150,000 ตันต่อปี และมีแผนขยายโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 5 โรงงาน โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อส่งออกยางรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สุด หากบรรลุของตกลงทั้งสองฝ่าย เชื่อว่าจะทำให้ความต้องการผลผลิตยางพารา ทั้งน้ำยาง ยางแผ่น แผ่นยางรมควัน ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้

สำหรับด้านการลงทุนนั้นจากการหารือกับนักลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหอการค้า และสภาธุรกิจของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่สนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ยังมีความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำถาม ใน 3 ประเด็นหลักในการหารือ ประกอบด้วยการจัดหาแหล่งน้ำ การพัฒนาระบบโลจิสติส์ และนโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดของไทย โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความห่วงใยในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำ มีแผนการจัดการน้ำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ไทยมีแผนรองรับที่ชัดเจน โดยการขับเคลื่อนของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ส่วนในเรื่องระบบโลจิสติกส์ ต้องการให้ขยายระบบโครงสร้างพื้นฐานในทุกระบบ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่จะยกระดับระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและมีความพร้อมรองรับการขยายตัวด้านการขนส่งสินค้าทั้งระบบราง น้ำ และอากาศ ส่วนในด้านพลังงานสะอาด ไทยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาพลังงานสะอาด ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีความก้าวหน้า สอดรับกับทิศทางการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อมุ่งไปสู่ carbon neutral ในปี 2065

ศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในรูปแบบพหุภาคี และทวิภาคี ซึ่งมีอยู่แล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ภายใต้การทำงานของ TTR ยังคำนึงถึงโอกาสการทำตลาดในหลายกลุ่มที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เร่งขยายตลาดส่งออก และดึงดูดเงินลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจะขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกให้ไทยมากขึ้น เพราะสมาชิก 15 ประเทศภายใต้ RCEP มีประชากร 2,222.8 ล้านคนคิดเป็น 30.1% ของประชากรโลก และครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 ของ GDP โลก

“ดังนั้นหน้าที่ของผู้แทนการค้า ต้องมองหาโอกาส ในการทำตลาดของสินค้าไทยในเวทีเหล่านี้ ซึ่งไทยยังสามารถเจาะเข้าไปได้อีกจำนวนมาก ด้วยศักยภาพของเอกชนไทย หนุนดเวยนโยบายรัฐบาล การขยายตลาดและการเพิ่มเม็ดการลงทุนเข้ามาสู่ไทย จะเสริมให้ไทยรักษาขีดความสามารถการแข่งขันให้เติบโตต่อเนื่อง”“ศ.ดร.นฤมลกล่าว