Total Service Solutions แนวคิดทำเงินของ EA

เมื่อมองเข้าไปในธุรกิจหลักของ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA คือ การเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งธุรกิจไฟฟ้า มีสัดส่วนเกิน 60% จากการมีรายได้ส่วนเพิ่มจาก Adder และกำลังจะทยอยสิ้นสุดทีละน้อย บริษัทฯ จึงได้เริ่มสร้างแหล่งรายได้ใหม่มาตั้งแต่ปี 2561

แต่หลังการที่บริษัทฯ ได้สร้าง S Curve ตัวใหม่ ๆ ขึ้นช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี สถานีชาร์จไฟฟ้า กระทั่งธุรกิจผลิตสารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM : Phase Change Material จากน้ำมันปาล์ม สามารถกักเก็บพลังงาน ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่งเป็นรายแรกของโลก ทำให้สปอร์ตไลท์ยังคงฉายมาที่ EA

และจากการสัมภาษณ์ล่าสุดกับผู้บริหาร EA ถึงทิศทางบริษัทฯ ต่างมั่นใจใน Roadmap ว่า ปีนี้ยังเป็นปีทองสำหรับรายได้ที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนลงทุนต่าง ๆ ในอนาคต และบทบาทใหม่ซึ่งจะเกิดจากการที่บริษัทฯ วาง Positioning สู่การเป็นผู้ให้บริการครบวงจร หรือ Total Service Solutions ด้านพลังงาน


“ที่ EA เรามีปรัชญาคือ เราพยายามนำเอานวัตกรรมมาเป็นตัวนำธุรกิจ เราเชื่อว่านวัตกรรมเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่บางส่วนเราอาจจะร่วมมือกับคนอื่น และพัฒนาเองบางส่วน เช่น เราสร้างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เราสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน เราก็สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีให้รองรับ Fast Charge คือ ไม่เกิน 15 – 25 นาที จากนั้นสามารถเดินทางต่อได้ โดยที่เรายังคงจุดแข็งหลักไว้คือ แบตเตอรีต้องไม่เสื่อมเร็ว ซึ่งในจุดนี้ถือว่าเราดำเนินธุรกิจครบระบบนิเวศ ได้เปรียบคู่แข่งขัน

และอีกมุมหนึ่งคือ ทุก ๆ ธุรกิจสามารถมองหาความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา เช่น E-Truck หรือ E-Bus ซึ่งเรามองแล้วว่าตลาดกลุ่มนี้ในอนาคตล้วนเป็นโอกาส (Opportunity) โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้น เราสามารถ Provide บริการต่าง ๆ ของเราคู่กับพันธมิตร

โดยสถานะของรายได้ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น คือ EA จะก้าวสู่การเป็น Total Service Solutions ด้านพลังงานครบวงจร แทนที่จะพึ่งพิง Adder จากกลุ่มธุรกิจเดิม ซึ่งจะทยอยหมดไปเริ่มจากปี 2565 เป็นต้นไป” นี่คำกล่าวของคุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ Business+

“ทิศทางนั้นชัดเจน เราจึงต้องสื่อสารไปยังพนักงานทุกคนว่า จากนี้เราจะเดินไปอย่างไร โดย 3 ปีที่แล้ว เรารุกเข้าในตลาด Energy Storage, Charging Station, รถไฟฟ้า หรือเรือไฟฟ้า และปีนี้กับธุรกิจสารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM : Phase Change Material

ซึ่งก็ต้องบอกว่า จากนี้ไปจะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ โดยประเมินว่าธุรกิจใหม่จะค่อย ๆ รับรู้รายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคาดหมายว่าธุรกิจใหม่จะบาลานซ์พอร์ตของบริษัทฯ ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน คือ 50:50  ซึ่งก็ถือว่าแนวทางที่ดำเนินการมาตลอด 3 ปีทำให้ EA ก้าวมาไกลนับจากจุดเริ่มต้น”

ล่าสุด บริษัทรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/63 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) มีรายได้รวม 4,761ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้ 3,080 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านบาท

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1/63 หน่วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก โครงการหนุมาน โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 260 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ใน จ.ชัยภูมิ ที่เริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงไตรมาสที่ 1 – 2 ของปีก่อน

เมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังตลอดไตรมาส จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 362% ประกอบกับ โครงการหาดกังหัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 126 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ใน จ.สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 14% จากกระแสลมแรงตลอดไตรมาสที่ผ่านมา นับเป็นหลักฐานพิสูจน์ที่หักล้างข้อติติงของหลาย ๆ คนที่เคยคิดว่า ประเทศไทยไม่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตรวมกัน 278 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกันรายได้จากธุรกิจไบโอดีเซลมีการเติบโตที่สูงขึ้นถึง 120% เป็นผลมาจากราคาขายน้ำมันไบโอดีเซลที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันปาล์มดิบที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากการที่ภาครัฐส่งเสริมการใช้น้ำมัน B10 เป็นดีเซลพื้นฐานของประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ทำให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้องมีการปรับคุณสมบัติของ B100 เพื่อให้นำไปใช้เป็น B10 ได้ จึงทำให้ราคาขายขยับสูงขึ้น

สำหรับผลประกอบการปี 2563 คาดว่าจะสามารถสร้างสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งจากพลังงานลมและโซลาร์ฟาร์ม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต 664 เมกะวัตต์ เป็นปีแรก และจะเริ่มรับรู้รายได้จากผลิตภัณฑ์สารเปลี่ยนสถานะหรือ PCM ที่โรงงานสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้เริ่มทดลองผลิตมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 จึงคาดว่าจะรับรู้รายได้เต็มกำลังได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

ส่วนธุรกิจไบโอดีเซล ในระยะยาวมีแนวโน้มรายได้ที่ลดลงจากการลดการใช้น้ำมันในการเดินทางและใช้ยานพาหนะ ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ามีการปรับแผนเพื่อขยายเวลาการเริ่มผลิตและส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินและผลประกอบการของบริษัทแต่อย่างใด

เพิ่มงบลงทุน รับงานขยาย

จากแผนธุรกิจที่เดินหน้าในงานส่วนต่าง ๆ แบบไม่หยุดนิ่ง ทำให้ EA ปรับเพิ่มงบลงทุนในปี 2563 เป็น 12,400 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ประมาณ 7,400 ล้านบาท ตามแผนที่บริษัทมุ่งหมายไว้ ดังนั้นคาดหมายว่าสัดส่วนรายได้ปี 2563 บริษัทฯ จะยังคงมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจพลังงานทดแทน 65% รองลงมาคือธุรกิจไบโอดีเซล 29% ธุรกิจกรีนดีเซล และการผลิตสารเปลี่ยนสถานะ หรือ PCM 4% ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า 1% และธุรกิจสถานีชาร์จและเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้ารวม 1%

“บริษัทฯ ยืนยันว่า ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมา มีผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการดูแลพนักงาน เช่น การใช้หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ติดตั้งอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรคในอากาศ และแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจและดำเนินการโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างได้โดยไม่หยุดชะงัก

สำหรับทิศทางโรงงานผลิต PCM บริษัทฯ ตั้งเป้าการผลิต PCM ในปี 2563 อยู่ที่ 130 ตัน/วัน คาดสร้างรายได้เพิ่มปีนี้อีกกว่า 800 ล้านบาท หรือ 3% ของรายได้รวม เบื้องต้นโรงงานผลิตสาร PCM จะผลิตได้ 65 ตัน/วัน ก่อนทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 130 ตัน/วันภายในปีนี้ พร้อมวางเป้าหมายผลิต PCM เพิ่มเป็น 1,000 ตัน/วัน ภายใน 5 ปีข้างหน้า เน้นทำตลาดส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ที่ให้ความสำคัญด้าน Green Economy

ทั้งนี้สาร PCM ของบริษัทฯ ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) นี้ ถือว่าเป็นรายแรกของโลกที่คิดค้นนวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งราคา PCM จากน้ำมันปาล์มนี้สามารถแข่งขันกับ PCM ที่ผลิตจากฟอสซิลได้ แถมยังมีความได้เปรียบด้าน Green Economy

ขณะที่ธุรกิจแบตเตอรีขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในโรงงานแห่งใหม่ คุณอมรคาดหมายว่าจะเสร็จภายในปลายปีนี้ ซึ่งปี 2564 ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่สร้างไว้จะครบสมบูรณ์ ทั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ EA Anywhere ครบ 1,000 สาขา อีกทั้งตลาดใหม่ ๆ ที่มีการสำรวจเพิ่ม เช่น E-Truck หรือ E-Bus ซึ่งมองแล้วว่า ตลาดพวกนี้ก็มีโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มตลาดฟลีทพอสมควร

ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี ถูกคาดหมายว่าจะมีความสำคัญต่ออนาคตของ EA เพราะจะช่วยให้บริษัทฯ เข้าถึงบริการใหม่ ๆ อาทิ ตลาด E-Truck หรือ E-Bus เพราะสามารถนำผลผลิตจากการผลิตแบตเตอรี ซึ่งมีสถานะเป็น Energy Storage ขยายไปยังกลุ่มธุรกิจแบบ Mass มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ครอบคลุมความต้องการใช้งานระดับประเทศได้ทันที

ทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้า เป็นตัวกักเก็บพลังงานและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้มีความเสถียร รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการกักเก็บพลังงานสะอาดในอนาคต ซึ่งเมื่อโรงงานเปิดสายการผลิตได้แล้ว บริษัทฯ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายส่งมอบบริการต่าง ๆ พร้อมกับการเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป”

แต่ก่อนจะไปถึงจุดฝันนั้น ประเด็นที่น่ากังวลหลังผ่านช่วง Covid-19 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ จะทำอย่างไรให้แผนเชิงรุกต่อการส่งมอบงาน (Deliver) สมบูรณ์ที่สุด

“ในปี 2020 ในมุมคนในบริษัทฯ ค่อนข้างกดดัน เนื่องจากเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้อง Push ผลงานให้ออกมา เนื่องจากปัญหาหลัง Covid-19 ส่งผลให้ซัพพลายเออร์ที่เราดีลด้วยต้องหยุดทำการ แต่เรายังต้องส่งมอบงานออกไป ทำให้เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วเราก็ต้องกลับมาคิดว่า เราจะชดเชยเวลาที่เสียไปอย่างไรเพื่อส่งมอบงานให้ทัน”

และสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับช่วงเวลารวมใจเป็นหนึ่งของพนักงาน EA เพื่ออย่างน้อยให้พิชิต ‘เป้าหมาย’ เติบโตของปีนี้ ยังเป็นมุมบวกอย่างที่คุณอมรระบุไว้  คือ การปรับตัวต่อการทำงานภายในองค์กร ภายใต้สภาพแวดล้อม New Normal ผ่านแนวทางสำคัญ ๆ อาทิ Agile Process Development คือ นำโปรแกรม RPA (Robotic Process Automation) ในที่นี้หมายถึง Software Robot ที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากรทั้งคนและเวลาได้อีกด้วย

รวมถึงการมององค์กรในภาพรวม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้พนักงานปรับ Mindset ที่แต่เดิมเป็น Fixed Mindset สู่การเป็น Growth Mindset กล่าวคือ ให้เลิกมองว่าฉันทำแค่หน้าที่ฉันเท่านั้น เมื่อทำงานในส่วนของตัวเองเสร็จก็จบ เนื่องจากทุกคนก็คือ EA และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คนนอกจะไม่มามองว่าเป็นเพราะฝ่ายใด คนนอกจะมองเพียงว่า เกิดจาก EA เราจึงพยายามสร้างให้พนักงานมองภาพความสำเร็จเดียวกันนั่นเอง