E-Sport อาชีพค้านสายตาผู้ใหญ่กับรายได้ที่ไม่ไร้สาระ

หากย้อนกลับไปเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เชื่อว่าเมื่อมีการพูดถึง Topic อาชีพในฝัน อาชีพอันดับแรก ๆ ที่ต้องติดโผคงหนีไม่พ้น หมอ ครู ทหาร หรือตำรวจ อย่างแน่นอน แต่เมื่อโลกขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมดิจิทัลที่ทุกสิ่งบนโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อาชีพในฝันของเด็กไทยย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ผลสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทยจากกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ครั้งที่ 10 ปี 2562 ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กไทยอายุระหว่าง 7-14 ปี จำนวน 2,684 คน บ่งชี้ว่า หมอยังคงเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทยทุกยุคสมัย ตามมาติดมาด้วยอาชีพครู นักกีฬา โดยเฉพาะนักฟุตบอลอาชีพ และอันดับ 4 คือ ทหาร

 

แต่ที่น่าสนใจก็คืออาชีพในฝันอันดับที่ 5 อาชีพนักกีฬา E-Sport และนักแคสเกม ที่มาแรงติดเทรนด์ Top 5 อาชีพในฝันของเด็กไทยปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความสนใจของเด็กไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ E-Sport ค่อย ๆ กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ทั้งในระดับสากลและในประเทศไทยเอง ส่งผลโดยตรงให้อาชีพนักแข่งเกมที่เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของวงการนี้ เริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในแง่ของการสร้างชื่อเสียงและรายได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นักกีฬา E-Sport และนักแคสเกม จะถูกมองว่าเป็นงานในฝันสำหรับเด็กรุ่นใหม่

 

บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ที่เป็นแรงส่งให้มีแคสเกมจำนวนไม่น้อยสามารถสร้างชื่อเสียงโด่งดัง และนำมาซึ่งรายได้จำนวนมหาศาลและจับต้องได้ ก็ยิ่งทำให้ E-Sport และนักแคสเกม ติดโผอาชีพในฝันได้ไม่ยาก

 

ทั้งนี้ ภาพของ E-Sport ในระดับโลก E-Sport มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของยอดเงินรางวัลที่บางรายการมีมูลค่ารวมเกือบเทียบเท่าการแข่งขันกีฬาดัง ๆ อย่างฟุตบอลโลกไปแล้ว และนำมาซึ่งลีกอาชีพนักพากย์ นักแคสเกมอาชีพมากมาย รวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ ในระดับโลกที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม

 

ไม่เพียงแค่นั้น ในประเทศไทยเอง แม้ว่าการเข้ามาของ E-Sport ดูจะค้านสายตาผู้ใหญ่บ้านเราไม่น้อย จากภาพลักษณ์แง่ลบที่มองว่าเกมคือสิ่งมอมเมาเยาวชน แต่อย่างไรก็ตาม E-Sport ก็มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วสวนทางกับภาพจำดังกล่าว มีการจัดตั้งทีมอาชีพมีสมาชิก มีผู้สนับสนุน นักกีฬามีตารางการฝึกซ้อมที่ชัดเจน และรับเงินเดือนจากสโมสรไม่ต่างกับนักกีฬาอาชีพทั่วไป ที่สำคัญมีโปรเพลเยอร์ชาวไทยหลายราย สามารถสร้างชื่อจากการแข่งขันหลายรายการดัง ทั้งในประเทศและระดับโลกที่ผุดขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

หากย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2552 ที่ E-Sport เพิ่งเริ่มต้น นักกีฬา E-Sport สามารถทำรายได้เพียงหลักพันต่อเดือน แต่ในปัจจุบันรายได้ที่ E-Sport สามาถทำได้ขยับขึ้นมาเป็นหลักหมื่นหลักแสน โดยไม่รวมกับเงินรางวัลจากทัวร์นาเมนต์แข่งขันในเฉพาะประเทศไทยนับหลายแสนบาท

 

ส่วนในเวทีระดับโลกเม็ดเงินที่นักกีฬา E-Sport สามารถทำรายได้สูงถึงหลักหมื่นดอลลาร์ โดยลีกที่มีการจ่ายค่าเหนื่อยให้ผู้เล่นสูงสุดในโลกเมื่อปี 2561 คือ NA LCS โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของนักกีฬาในลีกอเมริกาเหนืออยู่ที่ประมาณ 26,600 ดอลลาร์/เดือน (ประมาณ 8.3 แสนบาท) ขณะที่ลีกยุโรปมีค่าแรงประมาณ 6,700 ดอลลาร์/เดือน (2 แสนบาท)


กลับมาที่ประเทศไทย ความบูมของกีฬา E-Sport ยังทำให้นักกีฬาสามารถปั้นเงินได้เป็นกอบเป็นกำ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา อนุชา จิระวงศ์ หรือ แจ๊บ โปรเพลเยอร์ชาวไทย สามารถคว้าเงินรางวัลสูงถึง 76,596.60 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.5 ล้านบาทจากการแข่งขันรายการ The International 2018 กับทีม Mineski สัญชาติฟิลิปปินส์เพียงรายการเดียว เมื่อรวมกับเงินรางวัลจากการแข่งขันในรายการอื่น ๆ ส่งผลให้อนุชาสามารถทำเงินได้กว่า 6,800,000 บาทเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ E-Sport ยังได้สร้างระบบนิเวศของอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต นักพากย์เกม (Game Caster) งานถ่ายทอดสด (Live Streaming) เจ้าของสถานที่ใช้จัดการแข่งขัน นักออกแบบเกม ผู้ดูแลเกม (Game Master) และคนเบื้องหลังในทีมอีกหลายหน้าที่ ทั้งผู้จัดการทีม โค้ช นักวิเคราะห์ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า E-Sport ไม่ใช่แค่เรื่องไร้สาระไปวัน ๆ อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านเราเข้าใจ หากมีการจัดสรรเวลา ฝึกซ้อม อย่างเป็นระบบ

E-Sport