Drone

ยุคของ Drone เพื่อการพาณิชย์ที่จะเปลี่ยนท้องฟ้าไปตลอดกาลได้เริ่มขึ้นแล้ว??

Drone อากาศยานไร้คนขับ หรือ ‘โดรน’ เคยเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นที่คาดว่าจะขยายตัวทะลุเพดานจากการใช้งานเพื่อความเพลิดเพลินอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ปัญหาเรื่องความปลอดภัยและการใช้งานแบบไร้การควบคุม ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการออกกฏระเบียบการใช้งานที่เข้มงวด ทำให้ตลาดโดรนไม่ได้ขยายตัวอย่างที่คิดกันไว้

แต่ Drone เพื่อการพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัวแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง เมื่อโลกธุรกิจยุคใหม่ โดรนได้กลายมาเป็นช่องทางกระจายสินค้าของบรรดาผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่สามารถส่งอาหาร พัสดุ และการเกษตร 

ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของโดรนเพื่อการพาณิชย์คือ คุณสมบัติของโดรนที่สามารถใช้ในการสำรวจและตรวจเช็คระบบท่อสาธารณูปโภคและงานที่เสี่ยงอันตรายต่าง ๆ การขนส่งยา และเครื่องเวชภัณฑ์สำหรับภารกิจช่วยเหลือและกู้ภัย รวมทั้งปฏิบัติการด่านหน้าของการกู้ภัย และที่สำคัญที่สุดคือ การใช้งานใหม่เป็นโดรน Delivery สำหรับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซและผู้ผลิตอาหารทั่วโลกในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งได้นำร่องไปแล้ว

โดยบริษัทโดรนเพื่อการพาณิชย์ที่เด่น ๆ ในช่วงนี้ คือ DJI, Yuneec, Kespry, Insitu, EHang, Aeryon, senseFly, Freefly กระทั่ง Aerialtronics ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอแค่บริการอากาศยานไร้คนขับ หรือ ‘โดรน’ สำหรับการทำตลาดในกลุ่มความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังแตกไลน์สินค้าไปจับตลาดการบริการเพื่อการพาณิชย์แบบลงในทุกๆ Segment อีกด้วย

นอกจากยังมีโดรนของ Xiaomi, AeroVironment และ 3D Robotics ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษเพราะทั้งสามบริษัทนี้ถือว่า กำลังมาแรง!!!

 

Drone

นอกจากนี้เว็บไซต์ Grandviewreseach.com ได้มีการประเมินยอดขายโดรนเพื่อการพาณิชย์ทั่วโลกว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากจำนวน 274,600 ลำ ในปี 2561 เพิ่มเป็น 823,000 ลำ ภายในปี 2566

ขณะที่รายงานจากเว็บไซต์ alliedmarketresearch.com ระบุว่า ตลาดโดรนเพื่อการพาณิชย์จะมีมูลค่า 10,738 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 328,095 ล้านบาท) ในปี 2565

เห็นได้ชัดว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมนี้เดินทางมาไกลมาก จากผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังเข้ามาในตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีดาวรุ่งก็ต้องมีขาใหญ่ที่ไม่อยากแบ่งปันพื้นที่บนท้องฟ้าใครกับใคร

บริษัทที่เคลื่อนไหวอย่างคึกคักในอุตสาหกรรมนี้ ในสหรัฐอเมริกาต้องมีชื่อของ Amazon, Google Uber, UPS และ Walmart ขณะที่ประเทศจีนคือ DHL, SF Express, JD Antwork และ Eleme ส่วนผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียนก็มี Airbus และ JD.com หลังเริ่มทดสอบบริการโดรน Deliveryในประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

มาเริ่มกันที่ บริการ Prime Air ของ Amazon เป็นบริการส่งสินค้า สามารถส่งสินค้าที่มีน้ำหนักสูงสุดได้ประมาณ 2.27 กิโลกรัม เพื่อส่งให้ลูกค้าในพื้นที่ที่ระบุไว้ในเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น
กล่าวง่าย ๆ คือ บริการนี้สามารถส่งสินค้าได้เร็วขึ้นหนึ่งเท่าตัว จากเดิมที่ Jeff Bezos ซีอีโอของ Amazon เคยประกาศไว้ในปี 2556 ที่ 60 นาที

ทั้งนี้ Amazon Prime Air อยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบต่าง ๆ และร่วมกับ Google ในการพัฒนาระบบบริหารโดรนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และในเวลาเดียวกันได้เริ่มกระบวนขอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการรวมทั้ง FAA ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษและแคนาดาเพื่อเริ่มให้บริการเช่นกัน

นอกจาก Amazon แล้ว Uber และ UPS กำลังยื่นขอใบอนุญาตจาก FAA เพื่อใช้โดรนในการขนส่งสินค้าเช่นกัน โดยการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Wing Aviation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ได้รับใบอนุญาตในการใช้โดรนเพื่อการขนส่งทางพาณิชย์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

Wing Aviation ซึ่งก่อตั้งในปี 2555 ได้ใบอนุญาตจาก FAA สหรัฐอเมริกาให้ใช้โดรนขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าในรัฐเวอร์จิเนียและสามารถขยายการขออนุญาตไปสู่รัฐอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาได้ โดยนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว Wing Aviation ทดสอบการให้บริการในเมืองแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย และเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ด้วย

Drone

แน่นอนความเคลื่อนไหวนี้ย่อมทำให้ Uber ต่างรุกธุรกิจการขนส่งด้วยโดรนใน 2 แนวรบคือ โดรนที่ใช้เป็นแท็กซี่ และโดรนขนส่งอาหาร ภายใต้ปีกธุรกิจของ Uber Eat ซึ่งมีความคืบหน้ามากที่สุด โดยสตาร์ทอัพ ModalAI แถลงข่าวในปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า Uber Eat ประสบความสำเร็จในการทดสอบขนส่งอาหารจากร้านแมคโดนัลด์ ไปให้ผู้สั่งซื้อในมหาวิทยาลัยเมืองซานดิเอโกได้สำเร็จ โดยใช้แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ VOXL เชื่อมต่อกับ Uber Eat คลาวด์แพลตฟอร์มผ่านเครือข่ายสื่อสาร 4 จี โดยการทดสอบเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการขอใบอนุญาตบินจาก FAA

UPS เป็นอีกรายที่เดินเครื่องขอใบอนุญาตขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ด้วยโดรน โดย UPS ได้ร่วมบริษัทเทคโนโลยี Matternet เปิดบริการส่งตัวอย่างสินค้าเวชภัณฑ์ไปรอบบริเวณศูนย์การแพทย์ WakeMed Raleigh ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นความร่วมมือในโมเดลแบ่งรายได้ภายใต้การดูแลจากภาครัฐและ FAA โดยการใช้โดรนขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ ตัวอย่างเลือด รวมทั้งชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ โดยบริการนี้สามารถร่นเวลาการขนส่งจาก 30 นาที เหลือเพียง 3 นาที 15 วินาที

เช่นกันสำหรับ Walmart ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของโลกจากสหรัฐอเมริกาก็มองหาวิธีนี้เช่นกัน โดย Walmart ใช้วิธีลงทุนโดยตรงในการพัฒนาเทคโนโลยีโดรน โดย Walmart ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์นวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับโดรน WIPO ถึง 97 ใบ รวมทั้งการใช้บล็อกเชนกับโดรน ซึ่งเป็นจำนวนลิขสิทธิ์ที่มากกว่า Amazon เกือบเท่าตัว และ Walmart ได้ขอ FAA ทดสอบการส่งสินค้าด้วยโดรนในบริเวณที่ใกล้กับคลังสินค้าแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเซ็กซี่ของตลาดโดรนเพื่อการพานิชย์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ อาจเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจนชินตากันเลยทีเดียว

—————————————————-

 

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

Drone