ขับเคลื่อน SET2020 สู่ DJSI Thailand


ภายใต้ SET 2020 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแผนงานผลักดัน Sustainable Development ทั้งตลาดทุน และองค์กร ปีนี้จะได้เห็นตลาดหลักทรัพย์เปิดตัว Thailand Sustainability Investment (TSI) พร้อมกับเป้าหมายผลักดัน บมจ.สู่ความยั่งยืน ภายใต้ DJSI Thailand ในปี 2020

Sustainable Development (SD) อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ไม่ใช่สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่ดูแลตลาดทุนของประเทศ เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผลักดันเรื่องนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ตั้งแต่การตื่นตัวเรื่องบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่มีหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ผนวกไว้ในการพิจารณาด้วย

ส่วน SD ในไทยนั้น บริษัทแรกๆ ที่ให้ความสนใจในด้านนี้คือ กลุ่มเอสซีจี หรือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กระทั่งปัจจุบัน มีบริษัทมหาชนที่ให้ความสนใจ SD ไม่น้อยกว่า 30 บริษัท โดย 10 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)

SD สำคัญอย่างไร

เกศรา มัญชุศรี กรรมการ และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า SD เป็นหลักคิดของความยั่งยืน โดยมีรากความคิดว่า ถ้าต้องการให้บริษัทอยู่ 100 ปี จะต้องทำอย่างไร นอกเหนือจากธุรกิจที่เลี้ยวตัวเองได้ และผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทยังต้องมีคุณค่าต่อสังคม นั่นก็คือ Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่ง CSR ก็มีหลากหลายแบบมาก แต่จะยั่งยืนได้ก็ต้องมีการคิดขึ้นอีกขั้นหนึ่ง จึงเป็นที่มาของ SD ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เรื่อง Economic, Social และ Environment นั่นคือ การมีธรรมาภิบาล การเป็นประชากรที่ดี และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา บางคนเข้าใจว่า SD เป็นเพียงกระแส CSR แต่แท้จริงแล้ว SD เกิดขึ้นจากความพยายามมองบริษัทให้รอบด้าน เพื่อคัดเลือกบริษัทที่น่าลงทุนที่สุด เมื่อการลงทุนในบริษัท A และ B ให้ผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างกัน เราจึงต้องวัดทั้ง 2 บริษัทในแง่ความยั่งยืน นั่นคือ ไม่เป็นภัยกับสังคม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าบริษัท A ทำได้ดีกว่า นั่นหมายถึง บริษัท A มีโอกาสในการในการเกิดปัญหาน้อยกว่าบริษัท B

“ผู้ลงทุนสถาบัน เช่น กบข. ต่างประเทศ หรือกองทุนขนาดใหญ่ เมื่อเขาเลือกบริษัทน้ำมันเพื่อลงทุน เขาก็จะมองบริษัททั่วโลก อันแรกเขาก็จะดูว่ากำไรดีแค่ไหน แต่พอดีในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็จะเจอว่า บางบริษัท จัดการปัญหาได้ดี บางบริษัทจัดการได้ช้า ถ้าต้องเลือกลงทุนก็ต้องเลือกบริษัทที่คิดว่า ในกรณีที่เกิดประเด็นทางสังคมขึ้นมา เขาจะจัดการได้ดีกว่า เพราะเขาอยู่อย่างยั่งยืน”

DJSI มาตรวัด SD ระดับโลก

SD ในระดับโลกนั้น มีมาตรวัดหลักอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ DJSI, MSCI และ ฟุทซี่ แต่ DJSI มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด โดย DJSI จะคัดเลือกบริษัท โดยพิจารณาจากพื้นฐานการลงทุนว่า บริษัทเหล่านี้ต้องเป็น Top 10 ของอุตสาหกรรม ต้องมีความพร้อมรองรับการลงทุนจากกองทุนขนาดใหญ่ เช่น ต้องมีสภาพคล่องของหุ้นที่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมาวัดเรื่องการทำ SD ขององค์กรว่า เป็นประชากรที่ดี และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนประเทศไทย ปีที่ผ่านมามีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเข้าลิสต์ใน DJSI อยู่ 10 บริษัท ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการมีบริษัทที่ลิสต์ใน DJSI จำนวน 30-40 บริษัท

“บริษัทที่ลิสต์ใน DJSI ยังน้อยกว่าเป้าหมาย ไม่ใช่เพราะ บมจ.ของไทยไม่ดี แต่เป็นเพราะปัญหาด้านขนาดบริษัท เพราะ DJSI มักคัดเลือกบริษัทจาก Top 10 ของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก หลายบริษัทของไทยแม้จะมีขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารพาณิชย์ แต่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินในประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น แล้ว เรายังเล็กกว่าเขามาก” …

ศรันย์ทัศน์ ตั้งคุณานนท์

 —– ติดตามบทความทั้งหมดได้ที่ นิตยสาร Business+ July 2015 Issue 317 ทุกแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ—-