Digital Revolution เขย่าโลกการเงิน สงครามแห่งความอยู่รอด
โลกการเงินปัจจุบันกำลังถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง ปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงคงหนีไม่พ้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติของผู้บริโภคในการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเดิม ๆ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาขาของธนาคารพาณิชย์ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ซับซ้อนผ่านระบบดิจิทัลแบงกิงมากกว่า โดยเฉพาะโมบายแบงกิงและอินเทอร์เน็ตแบงกิงเนื่องจากสามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น หรือ “Any Where, Any Time, Any Device” นั่นเอง
ทั้งนี้ ความนิยมทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของผู้บริโภคในปัจจุบัน สะท้อนจากผลสำรวจ PwC’s Global Digital Banking Survey ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงจากฝ่ายไอทีจำนวน 157 ราย ใน 14 ประเทศทั่วโลกพบว่า ในปี 2559 ปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางสมาร์ตโฟนเติบโตถึง 64%
นอกจากนี้ ข้อมูลของบริษัท Statista ระบุว่า การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา ที่คาดว่าในปี 2559 จะมีผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 163.6 ล้านคน และ 101.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีจำนวน 85 ล้านคน และ 57.8ล้านคนตามลำดับ
เมื่อมองย้อนมายังบริการ Digital Banking ของไทยผ่านผลการสำรวจของบริษัท Gallup ในปี 2559 พบว่าในประเทศไทยยังมีลูกค้าที่นิยมใช้บริการผ่านสาขาสูงถึง 83% และมีการใช้บริการผ่านช่องทาง Online 41% และ Mobile App 35%
แสดงให้เห็นว่าบริการทางการเงินดิจิทัลของไทยยังคงมีช่องว่างให้พัฒนาอยู่อีกมาก ประกอบกับการพัฒนาโครงข่าย 4G ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Digital Banking ของไทยมีแนวโน้มเติบโต จึงเป็นโอกาสของผู้ให้บริการทางการเงินที่จะนำ Digital Banking มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่านทุกช่องทางดิจิตอล เพื่อตอบสนองสภาพแวดล้อมทางสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ตลาดการเงินในต่างประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลที่ใช้เงินสดลดลง (Cashless) จะมีผลต่อทิศทางการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าจำนวนเครื่องเอทีเอ็มและสาขามีความจำเป็นลดลง
สำหรับประเทศไทย บริการทางการเงินดิจิทัลที่มีการพัฒนาจนได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ บริการ e-Payment ซึ่งเป็นไปตามกระแสเดียวกันกับตลาดการเงินโลก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสเทคโนโลยีโดยผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
ทำให้มีการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ชำระเงินค่าสินค้า/บริการออนไลน์สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของวีซ่าระบุว่ากลุ่มผู้บริโภคทั้งเจนเอ็กซ์และเจนวาย นิยมชำระเงินผ่านสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในจำนวนเท่า ๆ กันอยู่ที่ 81% และ 82% เพราะประหยัดเวลา รวดเร็ว และสะดวกมากกว่าใช้เงินสด
ขณะที่กลุ่มผู้คนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง นับได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด อยู่ที่ 83% เมื่อเทียบกับตลาดทั่วไป โดยเหตุผลหลักกว่า 60% มาจากเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการถือเงินสดซึ่งมากกว่าปี 2558 อยู่ที่ 57%
นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติธุรกรรมการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2553-2558 พบว่า ทั้งปริมาณและมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผ่านทางเครือข่าย e-Payment มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านe-Payment ปี 2558 ที่เติบโตสูงถึง 34.92% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน (Bank) และผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) อยู่ที่ 64.10% และ 35.90% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัดส่วนปริมาณและมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน จะยังคงสูงกว่าผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน แต่เมื่อพิจารณาอัตราการเพิ่มขึ้นของการชำระเงินในปี 2558 เทียบกับปี 2557 พบว่า อัตราการเพิ่มของปริมาณและมูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงินอยู่ที่ 92.34% และ 14.38% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินที่มีอัตราการเพิ่มขึ้น 15.59% และ 8.88% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน เริ่มเข้ามามีบทบาทในระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตสูง
จากสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากสถาบันการเงินของไทยไม่มีการปรับตัวจะทำให้มีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาช่วงชิงตลาด และจะส่งผลโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าบทบาทของ FinTech ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธนาคารเริ่มส่งสัญญาณการปรับกลยุทธ์ด้วยการลดจำนวนสาขาลงโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนสาขาลดลงค่อนข้างชัดเจน จากพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่ได้หันไปทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ ณ เดือนพฤษภาคม 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,111 แห่ง ลดลง 47 สาขาเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 59
และอย่างที่ทราบกันดีว่าสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ มีรายได้จากธุรกิจหลัก (Core Business) มาจาก2 ส่วน คือดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทางการเงิน (Fee) ทั้งนี้ จากการเติบโตของระบบ e-Payment จากกลุ่ม Non-Bank ที่ได้เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งรายได้ของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับภัยคุกคามดังกล่าว ทั้งการลดต้นทุนการบริการและการหารายได้เพิ่ม เพื่อรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรต่อไป
แม้ว่าปัจจุบันสถาบันการเงินยังคงเป็นองค์กรที่มีความจำเป็นต่อระบบการเงิน แต่อาจต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวสอดคล้องกับพฤติกรรมทางการเงินของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพื่อรองรับการแข่งขันด้านบริการทางการเงินสมัยใหม่ในยุค FinTech ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในตลาดการเงิน
หลังจากนี้ เราจะได้เห็นการปรับตัวของสถาบันการเงินกันขนานใหญ่ จากเดิมที่ดำเนินธุรกิจแบบ Transaction Based มาเป็นธนาคารเพื่อให้คำปรึกษา Advisory Bank โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความต้องการด้านการลงทุนสูง รวมไปถึงการพัฒนา FinTech ของธนาคารเอง หรือทางลัดคือการจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้พัฒนา FinTech เพื่อให้มีโพรดักต์ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที
แต่ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ภาคสถาบันการเงินเท่านั้นที่จะต้องปรับตัว ทางฝั่งผู้กำกับสถาบันการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องก้าวให้ทันโลกของ FinTech ด้วยเช่นกัน เพราะยังมีกฎเกณฑ์อีกหลายส่วนที่ไม่สอดคล้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล ขณะที่การสนับสนุนสถาบันการเงินเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ยังมีน้อยมาก และเมื่อนำไปเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่าง แบงก์ชาติสิงคโปร์ (MAS) ที่ได้เปิด FinTech Innovation Lab เพื่อร่วมทดลอง FinTech ใหม่ ๆ กับธนาคาร, Startup และ Technology Vendors พร้อมให้คำปรึกษา Startup โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละส่วนตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา
แต่ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มตื่นตัวและได้อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมทดลองใน Regulatory Sandbox เพียง 1 โครงการเท่านั้น