แกะวิธีคำนวณต้นทุนคริปโตฯ เพื่อยื่นภาษีอย่างง่าย เทรดแบบไหน เหมาะใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบไหนกันแน่?

หลัง ‘กรมสรรพากร’ ออกคู่มือรูปแบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 ซึ่งได้มีการแจกแจงวิธีการคำนวณเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ

ซึ่งครั้งนี้ ‘Business+’ จะมาอธิบายในส่วนของการขาย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล ที่สรรพากรได้กำหนดการคำนวณต้นทุน โดยให้นักลงทุนเลือกวิธีคำนวณเองได้ 2 วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (First in, First out : FIFO) และ วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) ซึ่งหากเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้วต้องใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

โดย 2 วิธีนี้จะให้ผลลัพท์ คือ กำไรที่ต้องนำไปยื่นภาษีแตกต่างกันในบางกรณี ดังนั้น ‘Business+’ จะมายกตัวอย่างวิธีการคำนวณต้นทุนทั้ง 2 วิธีแบบให้เข้าใจได้ง่าย ๆ เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถเลือกวิธีการคำนวณที่เหมาะสมกับการลงทุนของตัวเอง

สำหรับ วิธีแรก คือ FIFO จะเป็นวิธีการคำนวณต้นทุน โดยมีแนวคิดที่ว่าคริปโตเคอร์เรนซีที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อนตามลำดับ ดังนั้น รายการคริปโทเตคอร์เรนซีที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายจะเป็นคริปโตฯ ที่ซื้อมาครั้งหลังสุด

อธิบายง่าย ๆ ว่า FIFO เป็นวิธีจัดการและวัดมูลค่าของสินทรัพย์ เช่น ในการบริหารจัดการคลังสินค้า ซึ่งเจ้าของกิจการจะต้องนำสินค้าที่เข้าคลังก่อนมารีบใช้งานและหมุนเวียนก่อนสินค้าที่เข้ามาทีหลัง เพื่อลดความเสื่อมสภาพและรักษามูลค่าของสินทรัพย์

เราสามารถคำนวณต้นทุนแบบ FIFO อย่างง่าย ๆ ตามกรณีนี้

Ex. หากเราทำการซื้อคริปโตฯ มาครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 10 เหรียญ ที่ราคา 10 บาทต่อเหรียญ (รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการซื้อ)

และทำการซื้อคริปโตฯ มาครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 ก.พ.2565 จำนวน 10 เหรียญ ที่ราคา 16 บาทต่อเหรียญ (รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการซื้อ)

ต่อมาในวันที่ 1 มี.ค.2565 เราทำการขายคริปโตฯ จำนวน 12 เหรียญ ที่ราคา 17 บาทต่อเหรียญ (ราคาขายสุทธิหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการขาย)

การคำนวณต้นทุนด้วยวิธี FIFO จะเป็นดังนี้

วิธี FIFO เราจะดึงเหรียญคริปโตฯที่ถือครองออกมาขาย 12 เหรียญโดยเริ่มจากเหรียญที่ซื้อมาก่อนเพื่อนำมาขายก่อน (ซื้อครั้งที่ 1 บางกรณีถ้ามีเหรียญคงเหลือต้นปีให้นำเหรียญดังกล่าวมาขายก่อน) ซึ่งการซื้อครั้งแรกมีจำนวนทั้งหมด 10 เหรียญ ราคาเหรียญละ 10 บาท คิดเป็นมูลค่า 100 บาท (10×10) ซึ่งไม่พอขายยังขาดอีก 2 เหรียญ (จากเหรียญที่ขายทั้งหมดคือ 12 เหรียญ)

เพราะฉะนั้นเราจะดึงเหรียญที่ซื้อมาครั้งที่ 2 ออกมาขายเพิ่ม ซึ่งราคาของการซื้อครั้งที่ 2 คือเหรียญละ 16 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 32 บาท (2×16) ดังนั้นต้นทุนขายคริปโตฯ ทั้งหมด 12 เหรียญ คือ 132 บาท (100+32)

ซึ่ง ณ วันขายเราขายไปทั้งหมด 12 เหรียญ ในราคาเหรียญละ 17 บาท เท่ากับว่าเราได้เงินจากการขายทั้งหมด 204 บาท (12×17) เพราะฉะนั้น กำไรที่นำไปคำนวนภาษีโดยวิธี FIFO เท่ากับราคาขายหักลบต้นทุน (204-132) นั่นคือ 72 บาท

หากเปลี่ยนมาเป็นการคำนวณวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) จะเป็นดังนี้

วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ เราจะคำนวนหาราคาต่อเหรียญคริปโตฯที่เราถือครองตลอดทั้งปีว่ามีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่เหรียญละกี่บาท โดยนำต้นทุนของเหรียญที่ถือครองทั้งปี (ต้นทุนเหรียญคงเหลือต้นปีจากปีก่อน+ต้นทุนเหรียญที่ซื้อปีปัจจุบัน) มารวมกันหารด้วยจำนวนเหรียญทั้งหมดที่เราถือครองในปีนั้น ซึ่งเป็นการหาต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของเหรียญ (แต่กรณีตัวอย่างนี้ผู้ลงทุนไม่มีเหรียญคงเหลือต้นปีมีเพียงต้นทุนเหรียญที่ซื้อปีปัจจุบัน)

จากโจทย์เดิม ต้นทุนการซื้อครั้งที่ 1 (10×10) เท่ากับ 100 บาท และต้นทุนการซื้อครั้งที่ 2 (10×16) เท่ากับ 160 บาท ดังนั้น ต้นทุนทั้ง 2 รอบคือ 260 บาท (100+160) จากนั้นนำต้นทุนรวมที่เราได้ไปหารกับจำนวนเหรียญทั้งหมดที่ซื้อมา 20 เหรียญ เราจะได้ต้นทุนถัวเฉลี่ยต่อเหรียญเท่ากับ 13 บาทต่อเหรียญ ( 260/20 )

หากเราต้องการหาต้นทุนของเหรียญคริปโตฯทั้งหมดที่เราจะขาย จะต้องนำต้นทุนถัวเฉลี่ยต่อเหรียญที่เราได้จากการคำนวณ (13 บาทต่อเหรียญ) ไปคูณกับจำนวนเหรียญทั้งหมดที่เราขาย (12 เหรียญ) ได้ผลลัพท์เท่ากับ 156 บาท (13×12)

จากนั้น หากต้องการหากำไรจากการขายเหรียญจะต้องนำราคาขายคือ 204 (12×17) มาลบกับต้นทุนขายคือ 156 (13×12) ได้ผลลัพท์คือกำไร เท่ากับ 48 บาท (204-156)

จะเห็นได้ว่า หากต้นทุนในช่วงแรกต่ำกว่าช่วงหลัง การใช้วิธีคำนวณแบบถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่จะส่งผลให้กำไรที่ต้องนำไปยื่นคำนวณเป็นฐานภาษีกับสรรพกรต่ำกว่าส่งผลให้เสียภาษีน้อยกว่าแบบ FIFO (48 < 72)

ในทางกลับกันหากต้นทุนในช่วงแรกสูงกว่าช่วงหลังวิธีคำนวณแบบถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่จะส่งผลให้กำไรที่ต้องนำไปยื่นคำนวนเป็นฐานภาษีกับสรรพกรสูงกว่าแบบ FIFO ส่งผลให้เสียภาษีมากกว่า (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ทำการคำนวนไว้หากนักลงทุนสนใจสามารถทดสอบเองได้โดยสลับราคาซื้อครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 แล้วคำนวนตามที่ผู้เขียนแสดงเอาไว้)

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราซื้อคริปโตฯ แล้วขายออกไปทั้งหมด (ไม่เหลือทิ้งไว้ในพอร์ต) ไม่ว่าจะเลือกวิธีการคำนวณภาษีแบบใดก็ตามจะให้ผลลัพท์คือกำไรออกมาเท่ากัน (คำนวณแบบไหนก็ให้กำไรเท่ากัน) หรือในกรณีที่เราซื้อคริปโตฯในราคาต่อเหรียญเท่ากันทุกรอบกำไรจากการคำนวนทั้ง 2 วิธีก็จะเท่ากันเช่นกัน

หมายเหตุ
ในกรณีในปีนั้นมีการซื้อขายคริปโตฯ หลายชนิด สามารถนำผลขาดทุนของการขายคริปโตฯชนิดที่เราขาดทุนมาหักลดภาษีที่คิดจากคริปโตฯชนิดที่ได้กำไรได้ แต่ธุรกรรมดังกล่าวต้องเกิดขึ้นในปีเดียวกัน และต้องเป็นธุรกรรมผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของก.ล.ต.เท่านั้น

สำหรับนักลงทุนที่เข้าข่าย 3 กรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษี
1. มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียวและมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ไม่ต้องยื่นหรือเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้

2. มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียว และมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 210,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน

3. อายุครบ 65 ปี หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และมีกำไรจากการขายคริปโตฯ ตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน

ด้าน ‘กสิกรไทย’ แนะนำให้นักลงทุนเตรียมยื่นภาษีด้วยการสรุปทำบัญชีกำไร/ขาดทุนในการซื้อขาย (เทรด) การ Stake เหรียญ และทำบัญชีต้นทุนในการขุดเหรียญให้ละเอียดชัดเจน

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ ของต่างประเทศเป็นดังนี้
– สวิตเซอร์แลนด์และโปรตุเกส ยกเว้นภาษีคริปโทฯ
– ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์ ยกเว้นให้ในกรณีที่ลงทุนระยะยาว
– ขณะที่สหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีอัตราเดียวกับหลักทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ อย่างหุ้น และสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับรายได้ที่ใช้คำนวณภาษี ในกรณีที่ไม่มีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สรรพากร ,กสิกรไทย

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #คริปโตเคอร์เรนซี #โทเคนดิจิทัล