COBOT REVOLUTION

COBOT REVOLUTION พลิกกระดานเศรษฐกิจโลก

เมื่อถึงยุคของ COBOT REVOLUTION มาถึงคลื่นความเปลี่ยนแปลงบนกระดานตลาดแรงงานยิ่งรุนแรง บนโลกของการทำงานยุคใหม่ แรงงานจำต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
 

เพราะความสามารถของเทคโนโลยีทำให้การทำงานยิ่งท้าทาย แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้ยิ่งไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานใดก็ตาม


COBOT REVOLUTION

การเข้ามาของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ กำลังเปลี่ยนโฉมรูปแบบการทำงานยุคใหม่ และทำให้บางตำแหน่งงานในหลายอาชีพล้มหายตามไปด้วย แต่ขณะเดียวกันการเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็สร้างให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆเช่นเดียวกัน


 
World Economic Forum คาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอีกสี่ปีข้างหน้าโดยมีตำแหน่งงานใหม่ที่สร้างขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติภายในปี 2022 ซึ่งจะส่งผลให้งาน 75 ล้านตำแหน่งจะสูญหายไปทั่วโลกเนื่องจากงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำถูกตัดออกไปและระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งที่มีทักษะต่ำ


 
การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลทำให้อาชีพและค่าจ้างเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สูงขึ้น เนื่องจากแรงงานมีทักษะสูงขึ้น ภายในปี 2030 จะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นราว ๆ 8-9% ตามปัจจัยแวดล้อม และการเปิดรับระบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของประเทศนั้น ๆ
 

McKinsey & Company บริษัทผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาธุรกิจและนวัตกรรม ยังได้ออกมาตอกย้ำว่าปี 2019 เป็นยุคแห่งระบบอัตโนมัติ (Automation Age) ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้งานนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้พื้นที่ด้านการเรียนรู้ การทำการฝึกฝน และการสร้างอาชีพด้วยระบบอัตโนมัติ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะอุตสาหกรรมการผลิตแบบใหม่ ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้
 
โดยเทคโนโลยีเรือธงที่ทั่วโลกพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าจะเข้ามาเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน ก็ต้องพูดถึง AI หรือ Artificial Intelligence ซึ่งเป็นที่จับตามองอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปี 2018 อาจยังไม่ได้เห็นการพัฒนาของ AI ในรูปแบบที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่ในปี 2019 จะเป็นช่วงเวลาที่ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุก ๆ องค์กร โดยเฉพาะในรูปแบบของเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเข้าถึงลูกค้าที่มากขึ้น
 
ซึ่งสำหรับโลกยุคใหม่หลายประเทศที่เดินไว จึงจำเป็นต้องรับมือและพัฒนาศักยภาพ แรงงานคนร่วมกันไปกับระบบอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบการจ้างงานที่ประสานกันระหว่างคนกับหุ่นยนต์ และเติมเต็มช่องว่างด้วยเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ทุกฝ่าย เกิดเป็นแรงงานหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติที่ทำงานเหมือนมนุษย์ขึ้นมา


COBOT REVOLUTION

แต่หุ่นยนต์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเครื่องยนต์ที่เห็นกันในหนังไซไฟ แต่เป็น “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือ AI ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก โดยใช้ระบบ RAS (Robotics and Autonomous Systems) เพื่อวิเคราะห์และตรวจจับความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน
 
รวมไปถึงควบคุมระบบให้เกิดความลื่นไหล และมีศักยภาพในการทำงานระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ หรือที่เรียกว่าแรงงาน Gray Collar ซึ่งหมายถึงแรงงานที่มีความสามารถมีฝีมือเฉพาะ  สามารถพัฒนาความคิดในการทำงานปริมาณมาก เหมือนอุตสาหกรรมโรงงานอย่าง Blue Collar เราเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า Cobot (Collaborative Robot)
 
ทั้งนี้ McKinsey & Company ได้รวบรวมสถิติการเติบโตของระบบการทำงานของ Cobot ในอตุสาหกรรมของสหรฐัอเมริกา ว่าสูงขึ้นมาจากปี 2016 ราว 10% และจะสามารถขยับเป็น 25% ภายในปี 2025 จากการสำรวจแรงงานคนทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่ามากกว่า 80% ได้เริ่มฝึกฝนการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์แล้ว และพร้อมจะรับมือกับการทำงานแบบนี้ เพราะเชื่อในความเป็นกลางและความปลอดภัย
 
การพัฒนาศักยภาพการทำงานลักษณะนี้ องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาทักษะพนักงานที่มีอยู่ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานใดก็ตาม ให้สามารถเรียนรู้ที่จะทำงานไปพร้อมกับหุ่นยนต์ เพื่อสามารถรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีผลกระทบด้วยเช่นกัน จะเกิดสาขาวิชาใหม่ ๆ เพื่อผลิตบุคคลากรที่ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
 


CITE ปั้น RPA Developer บุคลากรยุคใหม่ป้อนโลกธุรกิจ

 

COBOT REVOLUTION

แน่นอนว่าการสร้างแรงงานดิจิทัลที่สามารถทำงานควบคู่กับหุ่นยนต์ในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น การปั้นบุคลากรที่มีทักษะทางด้านโรบอทจำเป็นจะต้องเริ่มให้เร็ว การรอให้แรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นหน้าที่ขององค์กรในการเทรนพนักงานอาจไม่ทัน
 
ความท้าทายจึงตกอยู่กับภาคการศึกษาที่ต้องสร้างแรงงานดิจิทัล ให้สามารถจบออกไปคว้าโอกาสในการทำงานด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากการเข้ามาของเทคโนโลยี RPA (Robotic Process Automation) และเริ่มงานได้ทันที

 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์(CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างแรงงานดิจิทัล ที่สามารถทำงานร่วมกับ Robot ในภาคอุตสาหกรรมว่า ทิศทางการทำงานของอุตสาหกรรมยุคใหม่ กระบวนการที่ทำซ้ำ ๆ เดิม ๆ จะถูกแทนที่ด้วย Robot ที่เป็นระบบโปรแกรมอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานต่าง ๆ ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาเอง เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ต้องสร้างคนในยุคถัดไปที่ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ


COBOT REVOLUTION

“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ 4.0 ทั้งหลาย สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าระบบต่าง ๆ มันจะขับเคลื่อนไปได้ ก็ต้องมีคนที่เข้าใจเทคโนโลยี แต่ถามว่าในยุคที่ผ่านมาประเทศไทยปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องบอกตามตรงว่าเรายังไม่ได้ปรับตัวมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเเราอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม แต่อย่างน้อยเราสามารถสร้างกระบวนการที่ทำให้คนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มี Creative มากขึ้น โดยให้หุ่นยนต์ทำงานที่ซ้ำซากแทน”
 

แน่นอนว่าบางส่วนอาจจะสูญเสียงาน แต่ก็จะมีบางส่วนที่ได้งานเพิ่มเป็น high skill มากขึ้น ถ้าประเทศไทยยังทำงานแบบเดิม ก็จะติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางเรื่อย ๆ และตลอดไป แต่วิธีนี้เราสามารถที่โยกพนักงานบางส่วนขึ้นไปทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น


 
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะของสถาบันการศึกษาที่มีความท้าทายในการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนอุตสาหกรรม ได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามกรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการควบรวมคณะด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ 2 คณะ คือคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็น วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (College of Innovative Technology and Engineering : CITE)  ซึ่งมีความพร้อมทั้งในศาสตร์เชิงระบบ และโครงสร้างแบบวิศวกรรม และศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบระบบคอมพิวเตอร์

COBOT REVOLUTION

“ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วพอพูดถึง Robotic Process Automation เราจะนึกถึง Physical Robot แต่พอเริ่มศึกษาจริง ๆ ก็พบว่ามันคือ Process คอมพิวเตอร์ แปลว่าโลกเสมือนกับโลกจริงกำลังจะมาชนกัน ในอีก 3-5 ปีข้างหน้ามันกับหุ่นยนต์จะสามารถคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น



ทางเราก็มีหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนทางด้าน Robot, AI, Computer Engineering และ Robot Automation เพื่อที่เราจะสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่เข้าใจทั้งกระบวนการ เพราะแต่เดิมแล้ววิทยาลัยเรามีความชำนาญเรื่องของหุ่นยนต์ที่เป็น Physical robot ในเรื่องของการแข่งขันการผลิตระบบ Automation ที่รองรับกับอุตสาหกรรมจริง ๆ แต่เราไม่อยากสร้างบุคลากรที่เรียน 4 ปี จบออกไปแล้วไม่เจองานเดิมกับที่ตัวเองเคยเรียนอีกแล้ว เพราะฉะนั้น วิทยาลัยของเราก็เลยเล็งเห็นจุดนี้เป็นสำคัญ ที่ว่าเราต้องการพัฒนาบุคลากรเพื่อมองไปข้างหน้าในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า”

 

ทั้งนี้ CITE ได้ปรับหลักสูตรใช้ควบรวมหลักสูตรที่ใกล้เคียงกันจาก 2 คณะเข้าด้วยกัน และปรับหลักสูตรที่ล้าหลังให้กลายเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์อนาคต เช่น หลักสูตร Digital Innovation โดยนำ Big Data เข้ามาช่วยปรับหลักสูตรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะอาจารย์ที่ต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจต่าง ๆ หลายองค์กร ในการเพิ่มทักษะจากการลงมือทำให้กับนักศึกษา โดยมีโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นกรณีศึกษา ล่าสุด CITE ได้ร่วมมือกับ บริษัท เอสเทลลิเจนซ์ จำกัด (STelligence) และ Automation Anywhere (AA) ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Robotic Process Automation (RPA) ในการสร้างทักษะด้าน RPA ให้กับนักศึกษา เพื่อพร้อมเป็นกำลังคนด้านดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่

 

“RPA เป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างโซลูชั่นที่ทันสมัย ตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของอุตสากรรม CITE ในฐานะสถาบันการศึกษาจึงต้องการผลักดันการผลิตบุคลากรเพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญในด้าน RPA เพื่อเป็น RPA Developer ที่เชี่ยวชาญ และเป็นบุคลากรยุคใหม่ในโลกธุรกิจ ผ่านวิชาเลือกที่เปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลับธุรกิจบัณฑิตย์ทุกคณะสามารถลงเรียนเป็นทางเลือก เพราะในมุมของภาคอุตสาหกรรมบริษัทต่าง ๆ มี Software License เรียบร้อย แต่ไม่มีคนที่จะไปบอก Robot ว่าต้องทำงานอะไรบ้าง

 

COBOT REVOLUTION

เรามีความมุ่งมั่นที่จะดึงศักยภาพของบริษัท ทั้งในประเทศเองและบริษัทต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทั้งตัวนักศึกษาของเราเอง และการอบรมบุคลากรภายนอกให้พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี โดยในระยะแรกจะโฟกัสที่ 2 กลุ่ม คือนักศึกษาสาย Business ซึ่งจะได้เปรียบตรงที่เขามองภาพการทำธุรกิจเป็นขั้นเป็นตอน ส่วนสาย Technology จะได้เปรียบตรงที่ไม่กลัวเครื่องมือ วิชานี้จะเป็นเฉพาะทางเลือกสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 เมื่อเด็กจบไป สามารถเข้าทำงานในสาย RPA Developer ได้เลย ซึ่งค่าตอบแทนเริ่มต้นอยู่ที่ราว 30,000-40,000 บาท เยอะกว่า Developer ทั่วไป และยังมีตำแหน่งว่างในตลาดแรงงานจำนวนมาก”

 

จากความร่วมมือดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดชเชื่อว่า CITE จะสามารถผลิตบุคลากรสาย RPA Developer เพียงพอในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ก้าวรับและก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

 

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่า Cobot ที่ออกสู่ตลาดแรงงานจะมีรูปร่างหน้าอย่างไร หรือใช้ระบบการประมวลผลรูปแบบไหน หากองค์กรสามารถรับมือตั้งแต่ระบบการศึกษา ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพการทำงานเป็นทีมระหว่างคนและหุ่นยนต์ได้

 

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย  (บรรณาธิการและผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

ประกันภัยไทยวิวัฒน์