Circular Economy

แก้วิกฤตขยะพลาสติก ด้วยธุรกิจ Circular Economy

เมื่อโลกเกิดวาระใหม่ ก็ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นเช่นกัน แนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” จึงก่อกำเนิดเติบโตขึ้นมา พร้อมกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกต่างระดมสมองกันแก้ไขในตอนนี้ เนื่องจาก “ขยะพลาสติก” เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล และทยอยส่งผลกระทบหลายด้าน จนหลายประเทศจับมือกันจัดการปัญหาดังกล่าว


เพราะต้องการหลีกเลี่ยงและลดการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี “เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” จึงมีการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลือกใช้ทรัพยากร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การใช้ และการจัดการของเสีย รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ บนหลักการของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และที่สำคัญคือ การใช้ทรัพยากรอะไรก็ตาม จะต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะในการผลิตมีทั้งต้นทุนและวัตถุดิบที่สูญเสียไป

 

Circular Economy
ภาพกราฟิกโดยสำนักข่าวบีบีซี ข้อมูลจาก NOAA/Woods Hole Sea Grant แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกแต่ละชนิดและกระป๋องอลูมิเนียมจะใช้เวลาย่อยสลายในเวลานานเท่าใด

 

โดยเศรษฐกิจหมุนเวียน แบ่งวัสดุในระบบออกเป็น 2 แบบ คือ

1.กลุ่มวัสดุชีวภาพ (Biological Materials) หรือ วัสดุที่มาจากธรรมชาติ และผ่านกระบวนการที่แทบไม่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ย่อยสลายคืนสู่สิ่งแวดล้อมได้

2.กลุ่มวัสดุทางเทคนิค (Technical Materials) ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่อาศัยเทคนิคต่าง ๆ ที่จะส่งผลเสียต่อธรรมชาติ จึงต้องมีการออกแบบใหม่ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในระบบปิด โดยไม่ส่งของเสียออกนอกระบบผลิต

 

ในต่างประเทศก็ได้ถือกำเนิดวิสาหกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ ที่มีนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพโดดเด่นขึ้นหลากหลายกิจการ ภูมิภาคที่ตลาดพลาสติกชีวภาพขยายตัวมากที่สุดตามรายงานของ plasticvisionindia.com คือ ยุโรป ตามด้วยแถบเอเชีย แปซิฟิก โดยตลาดที่ขยายตัวมากสุดคือ อินเดีย และจีน ส่วนทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ก็เป็นตลาดที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นในอันดับ 3 และ 4

 

ส่วนภูมิภาคที่ผลิตพลาสติกชีวภาพมากที่สุดคือ เอเชีย โดยมีสัดส่วนการผลิตมากกว่า 50% ของผลผลิตทั้งโลก ส่วนในยุโรปมีการผลิตคิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 5 ของผลผลิตรวม โดยคาดว่าสัดส่วนผลผลิตของยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็น 27% ในปี 2566 เนื่องจากนโยบายสนับสนุนพลาสติกชีวภาพของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส

 

โดยข้อมูลจาก chemplast.com นำเสนอดาวเด่นในธุรกิจนี้ อาทิเช่น Biome Technologies จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Biome Bioplastics ได้รับการยอมรับจาก Deloitte Technology Fast 50 (การจัดลำดับบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีของประเทศอังกฤษ ซึ่งการจัดลำดับขึ้นอยู่กับการเติบโตของรายได้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา) ในฐานะธุรกิจ GreenTech ที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศอังกฤษ

 

Biome Technologies มุ่งมั่นพัฒนาพลาสติกที่ใช้งานได้ดี โดยใช้วัตถุดิบมาจากธรรมชาติ เป้าหมายคือต้องการแทนที่พลาสติกแบบเก่าที่ผลิตจากน้ำมันและโพลิเมอร์ซึ่งย่อยสลายยาก กลยุทธ์หลักของ Biome Technologies คือ การพัฒนาธุรกิจพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีคุณค่ามากที่สุด โดยมีส่วนร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่หลากหลาย บนพันธมิตรทางการค้าและการพัฒนาที่สำคัญหลายแห่ง (http://biometechnologiesplc.com)

 

Circular Economy
Paul Mines CEO ของ Biome Technologies

 

ประเทศไทยเองก็ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีปริมาณการทิ้งขยะลงสู่ทะเลเช่นกัน เราจึงมีการตื่นตัวในการกำจัดขยะพลาสติกไม่น้อยหน้าต่างประเทศ เช่น โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ได้จัดการกับปัญหาขยะพลาสติกด้วยการเก็บขยะในทะเลนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น ถือเป็นการรณรงค์ให้เกิดการใช้สินค้ารีไซเคิลและอัพไซเคิล พร้อมร่วมกับบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ SPSE จัดทำโครงการ Upcycling SE เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกร่วมกับชุมชน โดยการแปรรูปขยะขวดพลาสติกด้วยนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าและของใช้แฟชั่น จัดจำหน่ายภายใต้ Trademark “Upcycling by GC” ซึ่งสินค้าและของใช้แฟชั่นมีหลากหลายอย่างให้เลือกซื้อ ทั้งกระเป๋ากีฬา กระเป๋าเป้ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืด เก้าอี้ เสื่อ และ ฯลฯ สามาถสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของ GC https://gccircularlivingshop.com/

Circular EconomyCircular Economy

รูปจาก http://www.energynewscenter.com

 

หรือโครงการที่ทุกคนสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการที่ ง่าย สะดวก และสนุกไปพร้อม ๆ กัน โดยมี นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร คู่รักนักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ริเริ่มรังสรรค์แอปพลิเคชัน ECOLIFE ขึ้น

เพียงลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use Plastc) ด้วยการปฏิเสธ แล้วสแกน QR code ผ่าน ECOLILE app ก็จะทำให้พื้นที่และตัวละครในแอปเติบโต ซึ่งสามารถดึงความสนใจให้ผู้ที่ดาวน์โหลดหันมาปฏิเสธการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อเป็นการตอบแทน โดยร้านค้าที่ร่วมรายการ เช่น Starbucks, Gourmet Market และ Ootoya เป็นต้น โดยสามารถเช็คได้ว่าพาร์ทเนอร์ของ ECOLIFE ทำให้เกิดการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปแล้วจำนวนเท่าไร ด้วยการเข้าไปที่ www.ecolifeapp.com/

 

Circular Economy Circular Economy

 

ร้านค้าต่าง ๆ ก็ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชื่อดังอย่าง Amazon ที่หากลูกค้านำแก้วมาเอง ทางร้านก็สนับสนุนด้วยการลดราคาเครื่องดื่มให้เมนูละ 5 บาท ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต หากไม่รับถุงพลาสติกก็ทำการเพิ่มแต้มสะสมให้กับสมาชิก ซึ่งสามารถนำไปใช้ลดราคาสินค้าหรือแลกรับของรางวัลได้ เป็นต้น

 

Circular Economy
รูปจาก https://www.facebook.com/cafeamazonofficial
Circular Economy
รูปจาก www.tescolotus.com

 

แต่ทั้งนี้แล้ว การแก้ปัญหาขยะพลาสติกและแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะดำเนินไปไม่ได้เลยหากไม่มีความร่วมมือจากประชาชนคนทั่วไป ซึ่งเป็นกำลังหลักในการลดใช้พลาสติกอย่างแท้จริง หากเราร่วมมือร่วมใจกันลด ละ เลิก การใช้พลาสติก แหล่งน้ำที่สะอาดปลอดภัยก็จะกลับคืนมาในเร็ววัน  

 

Circular Economy