4 เทคนิคสร้างโอกาสใหม่ให้แบรนด์ สู่การสร้างยอดขายในตลาดจีน ประเทศที่มีสินค้าและการแข่งขันเข้มข้น

ผลกระทบจาก COVID-19 ได้ทำให้บริษัทจำนวนมากเผชิญความท้าทายทางการตลาดครั้งใหญ่ โดยที่ต้องหยิบยกสารพัดกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย และดึงดูดลูกค้าเข้าสู่แบรนด์ของตนให้ได้มากที่สุด แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้การทำธุรกิจอาจไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจเป้าหมายเอาไว้

ดังนั้น การสร้างแบรนด์ธุรกิจนอกจากจะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคู่แข่งและช่องทางโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะกับการตีตลาดในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีสินค้าและการแข่งขันทางการตลาดที่เข้มข้น และเป็นปลายทางที่เจ้าของธุรกิจในไทยอยากตีตลาดมากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตเศรษฐกิจสูง มีจำนวนประชากรสูง และคนจีนยังชื่นชอบสินค้า โดยเฉพาะอาหารและผลไม้จากไทย

แต่ในช่วงที่ผ่านมา COVID-19 ได้ทำให้กำลังซื้อของจีนลดลงไปบ้าง ดังนั้นการจะดึงยอดขายให้กับแบรนด์จะต้องสร้างสิ่งที่แตกต่างให้กับแบรนด์และสินค้า จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก การที่จะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจอาจจะต้องเริ่มที่การสะสมข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาด การเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจบุกตลาดจีนต้องทำการศึกษารูปแบบของตลาด แนวคิดของกลุ่มเป้าหมาย ลักษณะตลาด เพื่อนำไปปรับใช้วางแผนกลยุทธ์บุกตลาดจีน

โดย ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน’ วิเคราะห์เอาไว้ว่า แบรนด์ใหม่ที่ต้องการหาช่องทางทำธุรกิจในตลาดจีนยังสามารถเข้าสู่ตลาดนี้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 4 ปัจจัยด้วยกัน นั่นคือ

1. โอกาสในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ : ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกลุ่มผู้บริโภคไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่มีหมวดหมู่ที่แตกย่อยละเอียดมากยิ่งขึ้น ในอนาคตคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุในประเทศจีนจะเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอุปทานแบรนด์ของกลุ่มนี้ยังมีจำกัด ไม่ใช่สินค้าทุกหมวดหมู่ที่สามารถเป็นที่นิยมในหมู่คนกลุ่มนี้ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องคิดอย่างรอบคอบและเข้าใจถึงความต้องการของคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น

2. ตัวเลขทางสถิตินำมาซึ่งช่องทางใหม่ๆ การเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ : ตัวเลขข้อมูลทางสถิติสามารถทำให้แบรนด์นำไปวิเคราะห์ค้นหากลุ่มเป้าหมาย ตำแหน่งสินค้าของตนในตลาด และช่องทางที่แตกต่างของผู้บริโภคได้แม่นยำขึ้น

3. โอกาสจากชูจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันการทำงานหลายด้านที่มุ่งเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ : จะนำมาซึ่งโอกาสทีดีในอนาคต เพราะสินค้าที่มีหลายฟังก์จะสามารถตอบสนองความต้องการได้กับผู้บริโภคหลายกลุ่ม

4. โอกาสจากการบูรณาการในห่วงโซ่อุตสาหกรรม : การที่แบรนด์มีส่วนร่วม หรือบูรณาการร่วมกับองค์กรอื่นๆ จะเป็นส่วนช่วยให้แบรนด์ขับเคลื่อนได้ง่ายและมีประสทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีความก้าวหน้ามากมายในด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ในอนาคตด้วยการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ ต้นทุนจะลดลงหลายสิบเท่า หากองค์กรเข้าใจและนำไปใช้ก็จะสามารถลดต้นทุนในผลิตภัณฑ์ได้อีกมาก

นอกจาก 4 ปัจจัยนี้แล้ว ตามความเห็นจาก Wang Yijie ที่ปรึกษาของ Dark Horse Consumer Industry Accelerator ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมค้าปลีก และยังเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง Jinding Capital ซึ่งเป็นสถาบันการลงทุนด้านตราสารทุนอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศจีนได้ออกมาพูดถึงประเด็นการอยู่รอดของแบรนด์ใหม่ๆ ในยุคที่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดทางการตลาด

โดยให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการค้าปลีก ว่า การที่จะสามารถขึ้นเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลักคือ

1. ต้องตีประเด็นให้ได้ว่า สินค้าของคุณต้องการขายให้ใคร? จะต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้า หลายครั้งที่แบรนด์ต่างๆ มักจะเข้าสู่สถานการณ์ที่ยากลำบากในการเลือกกลุ่มลูกค้า หากเลือกกลุ่มลูกค้าแคบเกินไปจะทำให้รู้สึกว่าตลาดมีขนาดเล็กเกินไป แต่ถ้าเลือกกลุ่มลูกค้ากว้างเกินไป ก็จะรู้สึกว่าไม่มีจุดโฟกัส และกำหนดสินค้าได้ยาก ดังนั้นธุรกิจจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มไหนที่ชัดเจน

2. ต้องรู้ว่าตัวผลิตภัณฑ์เหมาะกับสถานการณ์แบบไหน เข้าใจสินค้าว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ในสถานการณ์แบบไหน เหมาะกับสถานการณ์ใด เช่น หากกลุ่มผู้บริโภคผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์การเดินป่าตั้งแคมป์ ไม่สามารถจุดไฟได้ สินค้าที่จะตอบโจทย์กับพวกเขา จะเป็นสินค้าอาหารที่พร้อมทานโดยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟหรือการปรุงใดๆ เช่น อาหารปรุงสุก หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปอุ่นร้อนเองได้ และเมื่อเข้าใจผู้บริโภคต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไรให้กับผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ก็จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด

3. หน้าที่และความสามารถของผลิตภัณฑ์คืออะไร หลายคนใช้สิ่งเดียวกันแต่ต้องการได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างเช่น Taobao ใช้กลยุทธ์ในการชูจุดเด่นของสินค้าและบริการคือ “เยอะ” และ “ถูก” หาก JD.com ก็ใช้กลยุทธ์เดียวกันก็อาจจะไม่สามารถแข่งขันกับ Taobao ได้เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคได้

ดังนั้น JD.com จึงใช้ทรัพยากรและเงินทุนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์วางกลยุทธ์เป็น “ดี” และ “เร็ว” แน่นอนว่าสามารถสร้างการแข่งขันที่แตกต่างกับ Taobao ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ก่อนอื่นต้องกำหนดคู่แข่งให้ถูกต้อง จากนั้นก็สามารถกำหนดตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ

จะเห็นได้ว่าโอกาสสำหรับแบรนด์ผู้บริโภคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบางแบรนด์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากแรงผลักดันของช่องทางออนไลน์ทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำกว่าช่องทางแบบเดิม
โดยช่องทางใหม่ทำให้เกิดสถานการณ์การซื้อใหม่ นำมาซึ่งโครงสร้างต้นทุนและความสามารถที่แตกต่างกัน จากกลุ่มผู้บริโภคใหม่และช่องทางใหม่ บริษัทหลายแห่งจึงได้สร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์มากขึ้น และยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาอย่างลึกซึ้งของอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน หากปราศจากการบ่มเพาะและปลูกฝั่งการบริโภคอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนการสร้างความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับองค์กรหรือธุรกิจใหม่ที่จะต้องพัฒนาให้ทันตามความต้องการ

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ตลาดจีน #จีน #เทคนิคการตลาด