‘ชาตรามือ’ แบรนด์ชาไทยที่ดังไกลถึงต่างแดน จากผู้ผลิตในตำนานสู่ร้านเครื่องดื่มยอดนิยม ตัวอย่างการปรับตัวและต่อยอดธุรกิจให้กลับมาฮิตอีกครั้ง

เมื่อนึกถึงเครื่องดื่มประเภทชา หนึ่งในชื่อแบรนด์ที่คนไทยนึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘ชาตรามือ’ ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยภาพจำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคงเป็นในรูปแบบของผงชาสำเร็จรูปที่บรรจุมาในถุงหรือกระป๋องเหล็กที่บรรดาร้านเครื่องดื่มนำไปชงขาย และก็เป็นอย่างนั้นมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเข้าสู่การเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญของแบรนด์ เมื่อผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของร้านค้ามากมาย เปลี่ยนมาเป็นผู้จำหน่ายเครื่องดื่มจากผลิตภัณฑ์อันเลื่องชื่อด้วยตัวเอง ทำให้นอกจากแบรนด์จะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ยังสามารถต่อยอดธุรกิจให้ไปได้ไกลกว่าเดิมด้วยฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นและไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้าภายในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงต่างประเทศอีกด้วย และในวันนี้ Business+ ได้นำเรื่องราวของแบรนด์ชาในตำนานอย่าง ‘ชาตรามือ’ มาเล่าถึงเส้นทางของแบรนด์ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งจนถึงวันที่กลายเป็นหนึ่งในร้านเครื่องดื่มยอดนิยมในปัจจุบัน

เริ่มที่ปี พ.ศ. 2463 ต้นตระกูล ‘เรืองฤทธิเดช’ ได้พาครอบครัวอพยพมาจากเมืองแต้จิ๋ว ประเทศจีน เพื่อมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ได้ก่อตั้งร้านชาจีนชื่อว่า ‘ลิมเมงกี’ ที่เฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช โดยนำเข้าผลิตภัณฑ์ชาจากประเทศจีน และถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจชาของครอบครัว

โดยหลังจากเปิดร้านที่เฉลิมบุรีได้ประมาณ 20 ปี ร้านชามีผลการดำเนินงานค่อนข้างดี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้าน ‘ลิมเมงกี’ ถูกทำลายจากระเบิด จึงจำเป็นต้องย้ายร้านไปที่ซอยผดุงด้าว ถนนเยาวราช ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักของร้านยังคงเป็นชาจีน ชาอู่หลง ชาเขียว และได้เริ่มนำเข้าชาแดงเข้ามาในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของชาตรามือ

ในปี 2488 จุดเริ่มต้นของชาตรามือ (ชาไทยอันดับหนึ่ง) เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน ชาจีนร้อนจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย จึงได้นำเข้าชาแดงมาทำเป็นชาไทยและชาดำ ซึ่งจะเสิร์ฟชาทั้งสองประเภทพร้อมน้ำแข็งเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย และเริ่มนำชื่อ ‘ชาตรามือ’ มาใช้ในช่วงนี้ และนับเป็นปีเริ่มต้นของแบรนด์ ‘ชาตรามือ’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กระทั่งในปี พ.ศ. 2488-2508 นายทิง ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านในช่วงนั้นเป็นผู้บุกเบิกคนแรกที่เปิดโรงงานชาขึ้น ณ ดอยวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยใช้ชื่อโรงงานว่า ‘โรงงานชาหอม’ อย่างไรก็ดี เนื่องจากความยากลำบากและความไม่สะดวกในการเดินทางและการบริหาร โรงงานที่ดอยวาวีจึงจำเป็นต้องยกเลิกการผลิตในปี พ.ศ. 2508 – 2532 ผู้จัดการร้านจึงได้หันไปพัฒนาและสร้างเครือข่ายการจัดซื้อกับผู้ปลูกชาในท้องถิ่น ต่อมาเมื่อถนนมีความสะดวกสบายมากขึ้น คุณดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีชาอยู่เป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2532 จึงสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้น ณ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยตั้งชื่อโรงงานว่า ‘โรงงานใบชาสยาม’ ซึ่งเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับสากล เช่น GMP Codex, Halal โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเป็นผู้ผลิตชาที่สามารถผลิตชาได้ทุกชนิด เน้นความอร่อยของชาที่ลูกค้าทุกคนสามารถวางใจได้ในคุณภาพและราคาที่เหมาะสม และได้จดทะเบียนเป็น บริษัท ชาไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเวลาต่อมา

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2562-2564) ของบริษัท ชาไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่า

ปี 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,798,200,520.16 บาท เพิ่มขึ้น 100.79% จากปี 2561 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 895,534,293.82 บาท และมีกำไรสุทธิ 29,948,449.77 บาท เพิ่มขึ้น 92.63% จากปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 15,546,804.79 บาท

ปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,599,887,206.24 บาท ลดลง 11.02% จากปี 2562 และมีกำไรสุทธิ 25,925,397.17 บาท ลดลง 13.43% จากปี 2562

ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,977,435,267.02 บาท เพิ่มขึ้น 23.59% จากปี 2563 และมีกำไรสุทธิ 32,505,612.02 บาท เพิ่มขึ้น 25.38% จากปี 2563

โดย ‘ชาตรามือ’ ถือเป็นแบรนด์ชาไทยที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสูตรที่เป็นเอกลักษณ์และความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อผลิตชาไทยที่มีคุณภาพ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบคนไทยและชาวต่างชาติมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ชาเขียว, ชาเขียวนม, ชากุหลาบ และชาอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ด้วยคุณภาพของชาและความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้บรรดาร้านค้ามากมายต่างนำ ‘ชาตรามือ’ ไปใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำเครื่องดื่มขาย จึงเปรียบได้กับผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของบรรดาเครื่องดื่มชาของหลาย ๆ ร้านมาเป็นระยะเวลายาวนาน และไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศและได้รับการตอบรับที่ดี จึงทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แม้ไม่ได้หวือหวาเหมือนหลาย ๆ แบรนด์ แต่ก็เป็นแบรนด์ที่ไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ดี ได้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ชื่อของ ‘ชาตรามือ’ กลับมาเป็นที่รู้จักและเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อทางแบรนด์ได้หันมาทำธุรกิจเครื่องดื่มเป็นของตัวเอง ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทางแบรนด์มองเห็นโอกาสนี้ และได้ต่อยอดธุรกิจจากผู้อยู่เบื้องหลัง สู่ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มจากผลิตภัณฑ์ของแบรนด์โดยตรง ซึ่งนอกจากชื่อแบรนด์จะการันตีในคุณภาพของรสชาติชาแล้ว ยังมีการนำเมนูใหม่ ๆ มาเป็นตัวดึงดูดลูกค้าอีกด้วย อย่างเช่น ชากุหลาบที่ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายท้อง ทำให้เกิดเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และมีลูกค้ารายใหม่ ๆ มาอุดหนุนเมนูเครื่องดื่มจากร้าน ‘ชาตรามือ’ อย่างรวดเร็ว และไม่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ทางแบรนด์ยังได้มีการขยายสาขาไปยังต่างประเทศเพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างมากมาย ได้แก่ บรูไน, กัมพูชา, จีน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เมียนมาร์, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์

โดยร้าน ‘ชาตรามือ’ อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ทิพย์ธารี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกออกมาจากบริษัทที่ดูแลในส่วนของผลิตภัณฑ์ชา มีรายได้รวมปี 2564 อยู่ที่ 419,827,793.58 บาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 32,133,092.08 บาท

จากเรื่องราวของ ‘ชาตรามือ’ คงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ ทำให้แบรนด์ที่ดำรงมาอย่างยาวนาน ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา และสามารถกลับมามีชื่อเสียงได้อีกครั้ง

ที่มา : cha-thai, datawarehouse

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ชาตรามือ #ChaTraMue #แบรนด์ในตำนาน #ร้านชา #ร้านเครื่องดื่ม