ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจบนความไม่แน่นอน ก่อนก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด ในอีก 20 ปี

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย ยังเติบโตไปในทิศทางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน และกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเกินร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

เมื่อแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุ เป็นไปในทิศทางที่ประมาณการได้ จากจำนวนประชากรที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้น และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี นับเป็นความแน่นอนที่ไม่แน่นอน มีทั้งโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นมากมาย แต่ขณะเดียวกันก็นับเป็นความท้าทาย ว่าจริง ๆ แล้ว นี่จะเป็นเส้นทางการเติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงหรือไม่

จากจำนวนผู้สูงอายุ ที่จะมีมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ในอีก 20 ปีข้างหน้า นับเป็นความท้าทายและเป็นภาระที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ได้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ไปจนถึงชุมชน และครอบครัว ที่ต้องดูแลทั้งเรื่องสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการยังชีพ และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ซึ่งต้องเป็นการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนตั้งแต่ปัจจุบัน หากไม่เป็นเช่นนั้นจะมีผลต่อการเติบโตของทั้งตลาดผู้สูงวัยในระยะยาว และกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งในและนอกประเทศแน่นอน

แต่ในอีกมุมที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด เกิด digital disruption ส่งผลให้ชีวิตของผู้คนแตกต่างไปจากเดิม มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมผู้สูงวัย ที่เริ่มปรับตัวในแบบคนเมืองยุคดิจิตัลได้ดีขึ้น โดยล่าสุดนิด้า โพล ได้เผยผลสำรวจ ช่วงหลังโควิด พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย Line ร้อยละ 44.72 รองลงมา ร้อยละ 30.56  ใช้ Facebook ร้อยละ 29.60 ใช้ YouTube ร้อยละ 4.80 ระบุว่า ใช้ Instagram และร้อยละ 3.44 และใช้ Twitter 3.44

นอกจากนี้ผู้สูงวัยยุคใหม่ยังมีแนวโน้มว่า จะมีฐานะทางการเงิน มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ หรือมีเงินออมมอบให้ลูกหลานไว้ดูแลยามแก่ ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ มีกำลังซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกสูง หรือเลือกใช้บริการเฮลแคร์ ประกอบกับผลวิจัยของนิด้าโพล ที่ยังบอกอีกว่า ผู้สูงวัยมีชีวิตประจำวันเกินกว่าครึ่งชอบอยู่บ้าน ซึ่งร้อยละ 80.96 ทำกิจกรรมภายในบ้านที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ ร้อยละ 74.96 ระบุว่า ทำกิจกรรมในบ้านที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ทำสวนครัว/สวนดอกไม้ และร้อยละ 64.64 ระบุว่า ออกกำลังกาย เช่น การเดิน โยคะ แอโรบิค เต้นรำ

การจับพฤติกรรมผู้สูงอายุในปัจจุบัน และวิเคราะห์ตามการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จะทำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดผู้สูงอายุ ที่ค่อนข้างแข็งแรง ยิ่งหากได้แรงสนับสนุนจากรัฐบาล จะยิ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้นไปด้วย โดยคาดว่าธุรกิจในกลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี  เช่น ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจอสังหาฯ และบริการเพื่อผู้สูงวัย รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยี ที่มีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกภายในบ้าน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันตอบโจทย์สำคัญตั้งแต่ปัจจุบันว่าจะทำอย่างไร ให้สังคมสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม สภาพแวดล้อมในบ้าน-นอกบ้าน และสภาพแวดล้อมของเมือง เพราะนอกจากที่รัฐบาลจะต้องมุ่งเน้นส่งเสริมเรื่องสุขภาพให้ครอบคลุมแล้ว ควรส่งเสริมธุรกิจที่ผลิตสินค้าและการบริการซึ่งตอบโจทย์ผู้สูงอายุยุคใหม่ด้วย ขณะเดียวกันประชากรวัยทำงานในปัจจุบันที่จะก้าวเป็นผู้สูงวัยในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า ควรมีการวางแผนการเงินให้พร้อม เพื่อจะได้ใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณได้อย่างมีคุณภาพควบคู่ไปด้วย

ที่มา : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ, นิด้าโพล, กรมกิจการผู้สูงอายุ