ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช’ ขับเคลื่อน ‘บางจากฯ’ สู่องค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน

บางจากฯ ในอดีตที่คนส่วนใหญ่จำภาพลักษณ์ จากธุรกิจโรงกลั่นและปั๊มน้ำมัน แต่ปัจจุบันองค์กรแห่งนี้ก้าวสู่กลุ่มธุรกิจแบบหลากหลาย มุ่งมั่นนำนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เข้ามาเสริมธุรกิจมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งกับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

แน่นอนว่า กว่าจะมาเป็นบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ในวันนี้ได้นั้น ไม่ได้อาศัยความสำเร็จเพียงปีหรือ 2 ปีก่อนหน้า แต่เป็นเพราะการฟูมฟัก ปรับเปลี่ยนภายในองค์กร

 

ภายใต้วิสัยทัศน์สู่การเป็นผู้นำด้าน Greenovation แห่งเอเชียของ คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก ที่ใช้เวลากว่า 7 ปี ในฐานะ CEO เข้ามาพัฒนาองค์กรจนมั่นใจได้ว่า บางจากฯ ในวันนี้เป็นองค์กรที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

 

เมื่อเจาะลงมาที่กลยุทธ์ของการเป็นผู้นำด้าน Greenovation ของบางจากฯ เรื่องหลัก ๆ นอกเหนือไปจากธุรกิจโรงกลั่นและการตลาดแล้ว ยังมี 3 กลุ่มธุรกิจใหม่ คือ กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ดำเนินงานภายใต้บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ครอบคลุมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ และรุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่

 

กลุ่มธุรกิจที่ 2 คือ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินงานภายใต้บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และกำลังขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง และกลุ่มธุรกิจที่ 3 คือ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ ดำเนินงานภายใต้บริษัท บีซีพีอาร์ จำกัด หรือ BCPR ดำเนินธุรกิจพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างราบรื่น

 

ไม่เพียงแต่การตั้งบริษัทในกลุ่มมากมาย ซึ่งคุณชัยวัฒน์ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรจากการให้ความสำคัญกับการทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบางจากฯ ให้ทันสมัย เสริมบริษัทด้วยคนรุ่นใหม่ คนที่มีความคิดใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กร เพื่อพัฒนาในหลายสิ่งหลายอย่างที่คนไม่รู้ว่าบางจากฯ ทำ!

 

ตั้งแต่การได้สิทธิ์ซื้อลิเทียม 6,000 ตัน/ปี ซึ่งแร่ชนิดนี้เป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมสำหรับใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าได้หลายหมื่นคัน ลงทุนในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เหมาะกับการใช้ในระบบไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง Carbon Markets Club คลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของไทย เพื่อกระตุ้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต Synthetic Biology เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถผลิตโปรตีน ได้ในห้อง lab  เช่น ผลิตโปรตีนจากนมโดยไม่ต้องทำฟาร์มโคนม หรือโปรตีนเนื้อสัตว์ที่ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ รวมถึงได้จัดตั้งหน่วยผลิตน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

“บางจากฯ ในวันนี้ ทรานส์ฟอร์มโครงสร้างองค์กร เป็นองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น มีความหลากหลายทางธุรกิจ มีความมั่นคงทางด้านการเงิน มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น มีการลงทุนในหลายประเทศทั้งนอร์เวย์ ลาว ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งเป็นการสะสมการเดินทางของเราจนมาถึงจุดนี้”

 

นอกเหนือจากการเติบโตของธุรกิจ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจภายใต้การบริหารของ คุณชัยวัฒน์ คือแนวทางการบริหารองค์กร และการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม

“การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม ของบางจากฯ นั้นต้องถือว่าอยู่ใน DNA ของพนักงานทุกคน จากการปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะพร้อมจะช่วยคนรอบข้าง และยังถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างความรู้สึกของความเป็นผู้ให้กับพนักงาน สำหรับเรื่องแรกที่บางจากฯ ทำในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมคือ ภายในสถานีบริการน้ำมันของบางจากฯ ทุกสถานีจะไม่ขายน้ำมันฟอสซิล 100% จะต้องมีผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ biofuel ผสม”

 

มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยอุดหนุนสินค้าจากเกษตรกรมาขายในปั๊มน้ำมัน รวมถึงการนำสินค้าเกษตรมาจัดกิจกรรมในปั๊มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งข้าวสาร ลำไย กล้วยตาก นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ 11 องค์กรใหญ่ทั่วประเทศ

 

แม้แต่อาคารสำนักงานใหญ่ของบางจากฯ ที่ได้ LEED ระดับ Platinum คือเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานต่ำที่สุด ซึ่งในประเทศไทยเป็นอาคารเดียวที่ทำได้ทั้งอาคาร ประมาณ 10,000 ตารางเมตร

ทุกอย่างที่ทำจะต้องตอบโจทย์สังคม ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจลงทุน หรือตัดสินใจอะไรก็ตามจะต้องคิดถึงผลประโยชน์ทางสังคม ควบคู่กับผลตอบแทนการลงทุนอยู่เสมอ

 

คุณชัยวัฒน์ กล่าวเสริมว่า เมื่อบางจากฯ ขยับขยายองค์กรไปค่อนข้างมาก จึงต้องอาศัยการบริหารองค์กรภายใต้หลักค่านิยม IAM BCP ประกอบด้วย I = Innovation สร้างสรรค์สิ่งใหม่ AM = Agility & Mobility การพร้อมจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง B = Boldness กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ C = Customer Empathy เข้าใจลูกค้า และ P = Passion & Ownership ทุ่มเททำงานด้วยใจ

 

ยกตัวอย่าง พนักงานที่อยู่มานานจะกังวลว่าทักษะของตัวเองตอบโจทย์กับการขยายขององค์กรหรือไม่ บริษัทจึงจัดหลักสูตรอบรม เพื่อให้พนักงานสามารถก้าวหน้าไปในตำแหน่งหน้าที่การงานได้ สร้างทีมให้คนเก่งขึ้นมาเป็นผู้บริหารที่พร้อมรับผิดชอบกับงานที่ยากกว่า ท้าทายกว่าได้ ขณะที่พนักงานรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน

 

“เราพยายามที่จะตัดกล่อง (ส่วนหรือฝ่ายงาน ในผังองค์กร) ทิ้ง ทลายกำแพง ไซโล และให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันสนับสนุนซึ่งกันและกัน ปรับสำนักงานให้ทันสมัย ทุกชั้นจะมีพื้นที่นั่งเล่น มีเตียงนวด สำหรับผ่อนคลาย เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกว่าต้องนั่งทำงานอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น สนุกสนานกับการทำงานมากขึ้น”

 

สำหรับก้าวต่อไปของบางจากฯ ภายใต้การบริหารของคุณชัยวัฒน์ จะเดินหน้าด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ให้ตอบโจทย์ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยแผนในระยะสั้นและระยะกลาง จะให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) จากพลังงานฟอสซิลมาสู่พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น สร้างธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์พลังงานรูปแบบใหม่

 

ส่วนอีกเรื่องคือความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) จากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในยุโรปแพงขึ้น 7-10 เท่า จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ต้องเข้ามาจัดการ

ด้านกลยุทธ์หลักในระยะยาวนั้น จะใช้แผน BCP 316 NET ย่อมาจาก B = Breakthrough Performance การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30%

 

สำหรับ C = Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10% และ P = Proactive Business Growth and Transition การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นการขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 60%

 

คุณชัยวัฒน์ สรุปถึง step การก้าวสู่อนาคตของกลุ่มบริษัทบางจากว่า “เราต้องการเดินหน้าสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ด้วยการสร้างระบบนิเวศอย่างครบวงจร ด้วยคอนเซปต์ NET คือ Net Zero Ecosystem คือเป็นการสร้างระบบนิเวศ เพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ซี่งเราประเมินว่า BCP จะเป็นแบรนด์รายแรก ๆ ของประเทศที่วางแผนประกาศ Roadmap เรื่องนี้อย่างชัดเจน

 

ตลอดจนการผลักดันเรื่องของ Carbon Neutrality ในปี 2030 รวมถึงแผนผลักดันองค์กรสู่ Net Zero ในปี 2050 ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เน้นนวัตกรรมสีเขียว ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยมีสะพานเชื่อมที่สำคัญ คือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน Carbon Markets Club” 

 

สำหรับใครที่ต้องการรับฟังบทสัมภาษณ์จากคุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สามารถรับชมได้ที่ : https://youtu.be/XE1B4JLX3YE

 

เขียนและเรียบเรียง : ทรงกลด แซ่โง้ว

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #BCP #Bangchak