กระแสรถ EV อาจสั้นกว่าที่คิด!! ดีมานด์ตลาดเยอรมนีเริ่มถดถอย หลังความคุ้มค่าลดลง

เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในหลายประเทศทั่วโลกกำลังเป็นขาขึ้น สาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ก่อนหน้านี้พุ่งพรวด ดังนั้น คนจึงหันมาใช้รถไฟฟ้าเพราะมองเห็นถึงความคุ้มค่าในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะต้องแลกกับราคารถไฟฟ้าที่สูงกว่ารถยนต์แบบเติมน้ำมัน

แต่ในตอนนี้สำหรับประเทศที่มีค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และไม่มีนโยบายสนับสนุนการใช้รถ EV จากรัฐบาลจะทำให้ความคุ้มค่าในส่วนนี้ลดน้อยลง จนเกิดเป็นการตั้งคำถามว่า หากค่าไฟยังสูงแบบนี้ต่อไป เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะชะลอตัวลงเร็วกว่าที่เราคิดหรือไม่?

หากพูดถึงความคุ้มค่าของการใช้งานรถ EV ที่มีต้นทุนคือการชาร์จไฟฟ้า กับ รถยนต์แบบสันดาปที่มีต้นทุนคือ น้ำมัน ในช่วงปกติเราจะเห็นว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วนั้น การซื้อรถ EV มีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์ธรรมดา (ในช่วงเวลาปกติ) แต่ล่าสุด ‘สมาคมรถยนต์เยอรมนี’ ได้มองว่าความคุ้มค่านี้อาจไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไปสำหรับประเทศของพวกเขา

เพราะข้อได้เปรียบของรถ EV จะถูกลดทอนลงเรื่อย ๆ หลังจากมีการประเมินจากสถาบัน CAR (Center of Automotive Research) ที่ได้ออกบทวิเคราะห์ชุดใหม่ว่า “ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป การซื้อรถ EV จะทำให้ผู้บริโภคเยอรมันเสียเปรียบในด้านราคามากขึ้น สาเหตุแรกคือ รัฐบาลเยอรมนีอาจไม่มีมาตรการสนับสนุนให้ซื้อรถ EV อีกต่อไป และสาเหตุที่ 2 คือ ค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยค่าไฟฟ้าในเยอรมนีที่สูงขึ้นจะทำให้ความน่าสนใจของรถ EV ลดลงอย่างที่เลี่ยงไม่ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์เห็นว่า “เมื่อความน่าสนใจในรถ EV ลดลงก็จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ยากขึ้นกว่าเดิม”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันรถยนต์เยอรมนี ได้นำรถยนต์ 3 รุ่นยอดนิยมมาทำการศึกษาเพื่อประเมินความคุ้มค่า
– รุ่นแรกคือ รถ Fiat 500 มาเปรียบเทียบกับ Fiat 500-e
– รุ่นที่ 2 คือ รถ Opel Mokka เทียบกับ Opel Mokka-e
– รุ่นที่ 3 คือ Tesla-3 เทียบกับ BMW-3

ซึ่งผลการศึกษา พบว่า รถ EV ในทั้ง 3 รุ่น มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 596 ยูโร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้า 67 ยูโร (กรณีที่คิดค่าไฟฟ้าที่ 32 เซ็นต์ต่อ 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง เป็นฐานในการคำนวน)

ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 631 ยูโร ซึ่งเป็นค่าน้ำมันถึง 142 ยูโร (โดยคิดจากราคาน้ำมันที่ 1.87 ยูโรต่อ 1 ลิตร เป็นฐานในการคำนวน) ซึ่งจากข้อมูลนี้จะเห็นว่า รถ EV ประหยัด (มีข้อได้เปรียบ) กว่ารถยนต์ธรรมดาเพียง 35 ยูโรเท่านั้น

แต่ถ้าหากราคาน้ำมันลดลงมาเหลือที่ราคาลิตรละ 1.55 ยูโร รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ธรรมดาจะได้เปรียบหรือประหยัดกว่ารถ EV ในทันที

นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานและน้ำเยอรมนี เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาค่าไฟฟ้าในเยอรมนีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37 เซ็นต์ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งหากสถาบัน CAR ใช้ราคาค่าไฟฟ้าที่ 50 เซ็นต์ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปได้จริงในอนาคต) มาเป็นฐานในการคำนวณ สุดท้ายแล้วการใช้รถยนต์ธรรมดาหรือรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปจะมีต้นทุนประหยัดกว่ารถ EV ที่ 2 ยูโรต่อเดือน

จากสมมุติฐานราคาน้ำมันที่ลดลง และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ได้ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ในปี 2023 ก็คงจะเป็นปีสิ้นสุดของรถ EV ในเยอรมนีเสียแล้ว

อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ในมุมของการเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ยังถูกวิเคราะห์โดย ‘ttb analytics’ เอาไว้ว่า ยอดขายรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicles : xEV) ของไทยปี 2565 จะพุ่งไปแตะ 6.36 หมื่นคัน เติบโตถึง 48% โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ถึง 1 หมื่นคัน หรือขยายตัว 539.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับประเทศไทย แม้ขณะนี้รัฐบาลไทยจะยังสนับสนุนรถ EV ด้วยนโยบายการขับเคลื่อนพลังงานสีเขียวอนาคตรถ EV ในไทยจึงยังคงสดใส แต่ในระยะยาวนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มทยอยปรับตัวลดลง แต่ค่าไฟฟ้ายังพุ่งสูงขึ้น หากใครคิดที่จะซื้อรถ EV มาใช้ก็ควรคำนวณ และพิจารณาอย่างรอบคอบ ด้วยการคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมันให้ดีก่อน

เขียนและเรียบเรียบ : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #EV #รถยนต์ไฟฟ้า #ยานยนต์ไฟฟ้า