จุฬาฯ จับมือ CAT คิกออฟโครงการ “PM 2.5 Sensor for All”

จุฬาฯ ร่วมกับ CAT จัดเวิร์กชอปเปิดโครงการ “PM 2.5 Sensor for All” เฟสแรกดึงภาคประชาชนหน่วยงานภายในจุฬาฯ ร่วมมือติดตั้งเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่นผ่านโครงข่าย LoRaWAN เก็บข้อมูลเข้มข้นพื้นที่ 3 กม. เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบคุณภาพอากาศรอบจุฬาฯ ก่อนขยายผลวงกว้างผลักดันเทคโนโลยีนวัตกรรม IoT และ Big Data ตอบโจทย์แก้ปัญหามลภาวะอากาศอย่างยั่งยืน


คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเครื่องวัดคุณภาพอากาศ “PM 2.5 Sensor for All” ณ ห้อง MI makerspace อาคารวิศวฯ จุฬาฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที 15 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการอบรม เพื่อให้ความรู้และกระตุ้นความร่วมมือภาคประชาชนของจุฬาฯ ในการสร้างเครื่องวัดฝุ่นละออง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลในโครงการ PM 2.5 Sensor for All ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ


รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการ PM 2.5 Sensor for All เป็นการนำองค์ความรู้ที่มีในด้านเทคโนโลยี IoT และ Big Data มาพัฒนางานวิจัยเชิงนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการดูแลคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืน โดยคณะวิศวฯ ได้ร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และเครือข่ายพันธมิตร บริษัท เอสที ไมโครอิเล็คโทรนิกส์ (ไทยแลนด์) พัฒนาเซ็นเซอร์วัดฝุ่นที่ได้มาตรฐานเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลอากาศระยะแรก 20 ตัว เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระยะ 3 กิโลเมตรโดยรอบ อาทิ คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์ความปลอดภัยชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังระหว่างสถาบันการศึกษาร่วมกับภาคประชาชน


“เป็นเรื่องน่าดีใจที่บุคลากรหลากหลายรุ่นจากหน่วยงานต่างๆของจุฬาฯ ได้มาสนใจเรียนรู้เรื่องของเซ็นเซอร์ โดยเฉพาะด้านมลพิษอากาศ เพราะเราอยากทำให้เรื่องเซ็นเซอร์และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ภาคประชาชนสำคัญมากที่จะช่วยดูแลในจุดติดตั้งเซ็นเซอร์ โดยพวกเขาเหล่านี้จะเป็นเสมือนทูตด้านสิ่งแวดล้อมในสร้างการรับรู้ให้ชุมชนตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลการทำงานของอุปกรณ์เซ็นเซอร์ สามารถอ่านค่าฝุ่นและรายงานผลได้อย่างถูกวิธี ให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อมาใช้วิเคราะห์ผล”

ผลจากกิจกรรมอบรมครั้งนี้ ช่วยให้ผู้เข้าอบรมได้รับทราบข้อมูลฝุ่นPM 2.5 เรียนรู้เข้าใจหลักการทำงานของเครื่องวัดอนุภาคฝุ่นละอองและองค์ประกอบของเซ็นเซอร์ วิธีรวบรวมผลและรายงานผลการตรวจวัดฝุ่น ที่สำคัญคือทุกคนได้ร่วมลงมือในการประกอบเซ็นเซอร์วัดฝุ่นละอองเข้ากับแผงวงจรไฟฟ้าให้เป็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่จะนำไปติดตั้งใช้งาน ซึ่งเพิ่มความเข้าใจในชิ้นส่วนต่างๆ และยังได้สร้างความรู้สึกร่วมกันในการดูแลเซ็นเซอร์เหล่านี้เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการวิจัยและชุมชนในระยะยาว

ในด้านคุณภาพของเซ็นเซอร์วัดฝุ่นที่ทีมงานโครงการฯ ร่วมกันพัฒนาขึ้น ได้ทดสอบระบบฮาร์ดแวร์ ทั้งแผงวงจร ตัวเซ็นเซอร์และแพลตฟอร์มในการรับส่งข้อมูล สอบเทียบกับมาตรฐานของเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดกันอยู่ทั่วไปพบว่าสามารถทำงานเก็บข้อมูลได้ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งจะติดตั้งเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงด้วยความถี่และต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ส่งผ่านโครงข่าย LoRaWAN จากนั้นทำการวิเคราะห์ Big Data บนระบบเซิร์ฟเวอร์ IRIS Cloud ของ CAT เพื่อทำวิจัย Air Model หรือแบบจำลองสภาพอากาศ

“ผลลัพธ์ที่โครงการ PM 2.5 Sensor for All คาดหวังคือการทำแผนที่แสดงค่า (Contour mapping) การทำนาย (Prediction) และสุดท้ายคือการจัดการและแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างถูกจุดโดย Localize ตามสภาพปัญหาจริงของแต่ละชุมชน โดยเราคาดว่าผลที่ได้จากเฟสทดลองจะขยายผลเพิ่มจำนวนจุดติดตั้งในเฟสต่อๆไป เพื่อพัฒนาแผนที่คุณภาพอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 ภาพรวมของประเทศ เป็นข้อมูลที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน”

สมศักดิ์ พึ่งธรรมเกิดผล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า CAT พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการ PM 2.5 Sensor for All เฟสต่อไปในพื้นที่อื่นๆ โดยมองว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเกิดประโยชน์ทั้งมหาวิทยาลัยและจะสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับทั้งประเทศได้ในอนาคต


“การทำ Big Data และ AI ทั้งหมดย่อมต้องอาศัยการวัดค่าเป็นจุดเริ่มต้น โดยใช้เซ็นเซอร์ทำงานเป็นเสมือนแขนขาช่วยให้เราเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ได้ การรับส่งข้อมูลของเซ็นเซอร์จำนวนมากเหล่านี้ ต้องใช้โครงข่ายในการสื่อสารที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน

 

ซึ่งโครงข่าย LoRaWAN พร้อมรองรับโดยขณะนี้ได้ขยายพื้นที่โครงข่ายอย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่างๆ ภายในกลางปีนี้จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากโครงข่าย LoRaWAN แล้ว CAT ยังมีโครงข่ายสื่อสารอื่นๆคือ 3G 4G และไฟเบอร์ออปติก ทำให้ศักยภาพโครงข่ายพื้นฐานของ CAT สามารถรองรับการขยายตัวของแนวโน้มอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมากที่จะพัฒนาใช้งานในหลายๆรูปแบบในทั่วประเทศ ไม่ว่าการใช้งานด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ สำหรับทุกภาคส่วน”