Caesium-137

รู้จัก ‘ซีเซียม-137’ ในมุมธุรกิจ

จากประเด็นการสูญหายของวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” จากโรงไฟฟ้าไอน้ำใน จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 ได้เกิดเป็นความกังวลว่าจะกระทบต่อสุขภาพของคน และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยเฉพาะหากซีเซียม-137 ถูกหลอมละลาย เพราะกัมมันตรังสีนี้สามารถปนเปื้อนในอากาศหรืออาหารและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ เราอาจจะยังไม่คุ้นหรือรู้จักกับ ซีเซียม-137 (Caesium-137) กันมากนัก แต่จริง ๆ แล้วในหลาย ๆ อุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้มีการใช้งาน ซีเซียม-137 มาอย่างยาวนาน ทาง ‘Business+’ จึงจะพาทุกคนไปรู้จักซีเซียม-137 ในแง่มุมของธุรกิจกันบ้าง

เจ้า ซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีลักษณะโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผลผลึก ปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่า ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในโรงงาน และใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์รักษามะเร็ง ซึ่งซีเซียม ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2403 (163 ปีก่อน) โดยผู้ค้นพบคนแรกคือ กุสตาฟ เคอร์ชอฟฟ์ และโรเบิร์ต บุนเซน โดย กุสตาฟ เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า สเปกโทรสโกปี และการแผ่รังสีของวัตถุดำจากวัตถุที่ได้รับความร้อน ส่วน โรเบิร์ต บุนเซน เป็นนักเคมีชาวเยอรมัน ที่ได้ศึกษาสเปกตรัมการแผ่ของวัตถุที่ได้รับความร้อน เป็นผู้ค้นพบซีเซียม และรูบิเดียม

โดยทั้ง 2 ได้ค้นพบซีเซียมจากธรรมชาติในตัวอย่างน้ำแร่ในประเทศเยอรมนี ส่วนซีเซียม-137 ที่เป็นสารกัมมันตรังสีที่ใช้ในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้มีการค้นพบในปี 2470 (96 ปีก่อน) โดยเกลนน์ ที.ที. ซีบอร์ก และมาร์กาเร็ต เมลเฮล ซึ่ง ซีเซียม-137 เป็นไอโซโทปรังสีที่นิยมนำมาใช้ทางด้านอุตสาหกรรมมากที่สุดตัวหนึ่ง และมีเครื่องมือนับพันชนิดที่ใช้กัมมันตรังสีชนิดนี้

จากข้อมูลงานวิจัย ‘Business+’ พบว่า ประเทศที่ผลิตซีเซียม-137 มาอย่างยาวนาน คือ แคนาดา และรัสเซีย และปัจจุบันผู้เล่น 2 รายหลักของโลกก็ยังคงเป็นบริษัทฯ ขนาดใหญ่จาก 2 ประเทศนี้ นั่นคือ บริษัท Nordion Inc. และบริษัท Isotope JSC (ROSATOM)

โดย Nordion เป็นบริษัทในเครือ Sotera Health บริษัทด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จัดหาโคบอลต์-60 ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อและรักษาโรค โดย Nordion มีสำนักงานใหญ่อยู่ในออตตาวา ออนแทรีโอ ประเทแคนาดา โดยมีโรงงานอยู่ในแวนคูเวอร์ บริติชโคลัมเบีย

ส่วน Isotope JSC (ROSATOM) เป็นบริษัทในเครือของ Rosatom State Atomic Energy Corporation เป็นองค์กรของรัฐของรัสเซีย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงมอสโก ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอโซโทป โดยมีลูกค้าต่างประเทศมากกว่า 100 รายจากกว่า 50 ประเทศและเกือบ 600 บริษัทในรัสเซีย

ข้อมูลที่น่าสนใจของ Caesium-137 มีดังนี้

Caesium-137

ที่นี้มาดูกันบ้างว่า ภูมิภาคและประเทศไหนที่มีการค้าขาย Caesium-137 มากที่สุดในโลก

– อเมริกาเหนือ เป็นทวีปที่มีการค้าขายซีเซียม-137 เป็นจำนวนมาก โดยประเทศที่มีการค้าขายมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก

– ยุโรป : ประเทศที่มีการค้าขายมากที่สุด เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และตุรกี

– เอเชียแปซิฟิก : ประเทศที่มีการค้าขายมากที่สุดคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย ส่วน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีการค้าขายมากที่สุด อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม

– อเมริกาใต้ : ประเทศที่มีการค้าขายมากที่สุดคือ บราซิล

– ตะวันออกกลางและแอฟริกา : ประเทศที่มีการค้าขายมากที่สุดคือ แอฟริกาเหนือ และกลุ่มประเทศ GCC (กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน)

สำหรับอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่ใช้ซีเซียม-137 เป็นจำนวนมาก มีอยู่ 4 อุตสาหกรรมหลัก ๆ นั่นคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตโลหะ อุตสาหกรรมขุดเจาะ และสำรวจ และอุตสาหกรรมการแพทย์

อุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อะไรบ้างที่ต้องใช้งาน Caesium-137

– อุตสาหกรรมก่อสร้าง : ใช้ในเครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น

– อุตสาหกรรมผลิตโลหะ กระดาษ ฟิล์ม : ใช้ในเครื่องวัดความหนา

– อุตสาหกรรมขุดเจาะ และสำรวจในอุตสาหกรรมพลังงาน : ใช้ในเครื่องหยั่งธรณี เครื่องวัดระดับ เพื่อบอกลักษณพของชั้นดิน และหิน รวมถึงตรวจวัดการไหลของเหลวในท่อและแท็งก์

– อุตสาหกรรมการแพทย์ : ใช้ในการบำบัดมะเร็ง วัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสี

จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ซีเซียม-137 ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนัก และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ดังนั้น การเติบโตของทั้ง 4 อุตสาหกรรมนี้ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดซื้อขายซีเซียม-137 สูงตามไปด้วย ทั้งนี้มูลค่าตลาดของ Caesium-137 ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวไปอีกหลายล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2028

โดยกลุ่มธุรกิจที่เป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของตลาด Caesium-137 คือ

– อุปกรณ์ทางการแพทย์

– ภาคอุตสาหกรรม

– ภาคเกษตรกรรม

– การวิจัยทางวิทยาศาสตร์

จะเห็นได้ว่าในภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ ซีเซียม-137 และสารกัมมันตรังสีอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะสารเหล่านี้มีความสำคัญกับการสำรวจ ค้นหา และช่วยประหยัดเวลา เพิ่มความแม่นยำ และยังมีประโยชน์อีกมากมาย เพียงแต่การใช้งาน หรือมีในครอบครองอาจจะต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสูงที่สุด

สำหรับประเทศไทยนั้นของที่เป็นสารกัมมันตรังสีทุกชิ้นจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทั้งหมด ขณะที่พื้นที่ที่มีการตั้งโรงงานและมีการใช้สารประเภทนี้จำเป็นต้องมีวิธีการป้องกัน และมีการสื่อสารกับประชาชนรอบข้างให้ดี หากมีการปนเปื้อน รั่วไหล หรือสูญหาย ก็จะมีบทลงโทษตามมา

โดยในกรณีของโรงไฟฟ้าไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี ได้ถูก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ป.ส.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าของโรงไฟฟ้า เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองวัตถุที่หายไปและไม่แจ้งโดยพลัน ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2562 มาตรา 100 โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี (เนื่องจากวัตถุหายไปตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมแต่เข้าแจ้งในวันที่ 10 มีนาคม)

ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากประเทศไทยแล้วยังเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน กับหลาย ๆ ประเทศ เช่น เหตุการณ์ที่ บราซิล ยูเครน และสเปน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากความประมาท ซึ่งนำมาสู่ผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจาก ซีเซียม-137 มีความแรงรังสีในระดับสูง หากปล่อยให้หลุดสู่พื้นที่สาธารณะ หรือธรรมชาติ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง

ที่มา : marketwatch , 360ResearchReports

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS