เจาะลึก 3 ธุรกิจ อสังหา-ก่อสร้าง-ร้านอาหาร ทำไมรายเก่าไปไม่รอด แต่กลับมีรายใหม่เยอะขึ้น

จากข้อมูลผลการจดทะเบียนธุรกิจในไตรมาส 1/2566 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่เปิดเผยให้เห็นจำนวนของธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ และธุรกิจเลิกการ มีข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อ 3 อันดับธุรกิจแรกที่มีการจัดตั้งใหม่ตกเป็นของ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจร้านอาหาร เช่นเดียวกันกับในฝั่งของธุรกิจเลิกประกอบกิจการ อีกทั้งเมื่อดูจากจำนวนแล้ว ยังพบว่าธุรกิจที่จัดตั้งใหม่มีมากกว่าธุรกิจเลิกประกอบกิจการด้วยซ้ำ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ยังคงกล้าที่จะเสี่ยงในธุรกิจเหล่านี้

โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยให้เห็นว่าประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกในไตรมาส 1/2566 ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 2,118 ราย คิดเป็น 8% 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,916 ราย คิดเป็น 7% 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 1,228 ราย คิดเป็น 5%

ขณะเดียวกัน ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรกในไตรมาส 1/2566 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 352 ราย คิดเป็น 11% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 157 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 95 ราย คิดเป็น 3%

อ่านต่อเพิ่มเติมที่ : ‘พาณิชย์’ เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจพุ่งสูง! เฉพาะ มี.ค.66 แตะ 9,179 ราย มูลค่เฉียด 3 แสนลบ. ฟาก 3 ธุรกิจเลิกกิจการใน Q1/66 กว่า 3,000 ราย

จากข้อมูลทำให้เห็นว่าแม้จะมีผู้ประกอบการที่เลิกกิจการไป แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังเลือกที่จะลงสนามแห่งการแข่งขันของ 3 ธุรกิจนี้ วันนี้ Business+ จึงได้นำข้อมูลที่พอจะเป็นคำตอบให้ได้ว่าทำไมจึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่กล้าจะลองเสี่ยงกับธุรกิจเหล่านี้

โดยหากอ้างอิงจากบทวิเคราะห์จาก ‘วิจัยกรุงศรี’ และ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ พบว่า ทั้ง 3 ธุรกิจ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์, ก่อสร้าง และร้านอาหาร ยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงอยู่ ดังนี้

1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

​‘วิจัยกรุงศรี’ มองตลาดที่อยู่อาศัยในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง สรุปได้ดังนี้

ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก 1.การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ทำให้การเดินทางสู่ใจกลางเมืองสะดวกขึ้น 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวในอัตราเร่งจนอยู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 ภายในปี 2568 และ 3.มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ อาทิ การแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ ตลอดจนการเข้ามาลงทุน/ทำงานในไทยของชาวต่างชาติ (Expatriates) ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทว่าการเติบโตของธุรกิจจะถูกจำกัดจาก 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานและวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง 2.ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้บริโภค และ 3.หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูง ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวได้จำกัด

ด้านการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.0-8.0% ต่อปี โดยผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับโครงการบ้านแนวราบ เพื่อรองรับกลุ่ม Real demand ที่มีกำลังซื้อ ขณะที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของคอนโดมิเนียมชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะทำเลท่องเที่ยว รอบสถาบันการศึกษาหรือใกล้แหล่งงาน เช่น นิคมอุตสาหกรรม ด้วยระดับราคาไม่สูงมากเพื่อตอบรับกลุ่มผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่าและกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะสามารถประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะที่รายกลาง-เล็กจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงทั้งด้านต้นทุนวัสดุก่อสร้างและแรงงานขาดแคลน

ส่วนบ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์) มีทิศทางเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการอยู่อาศัยในระยะยาวและให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอย/ฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยทำเลชานเมืองจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินยังไม่สูงเท่าย่านใจกลางเมือง ประกอบกับมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น อาทิ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว–สำโรง) และสายสีส้ม (รามคำแหง–ลำสาลี)

ขณะที่คอนโดมิเนียม มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อกลุ่มลงทุนเพื่อปล่อยเช่า ผลจากราคาน้ำมัน ค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นจะกดดันกำลังซื้อผู้บริโภค หนุนความต้องการเช่าเพิ่มขึ้น ขณะที่การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน จะเพิ่มกำลังซื้อในตลาดคอนโดมีเนียมโดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองและแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ขณะที่คอนโดมีเนียมในพื้นที่รอบนอกยังไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับโครงการแนวราบในทำเลเดียวกัน และบางพื้นที่ยังมีอุปทานที่อยู่อาศัยคงค้างระดับสูง เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) และสายสีเขียว (บางนา-สมุทรปราการ) ผลประกอบการจึงมีแนวโน้มชะลอตัวและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

สำหรับประเด็นท้าทายที่ธุรกิจต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ 1.หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 2.ต้นทุนการพัฒนาโครงการมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และ 3.ปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมาใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) หลังผ่อนคลายชั่วคราวในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด อาจทำให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไร

2.ธุรกิจก่อสร้าง

‘วิจัยกรุงศรี’ มองแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 2566-2568 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวม 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.0% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และภาวะเศรษฐกิจที่จะทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะหนุนให้การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการเพื่อการพาณิชย์กระเตื้องขึ้น

โดยการลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.0-5.5% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่เชื่อมโยงกับ EEC ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ระยะที่ 2 ปี 2566-2570 จำนวน 77 โครงการ วงเงินลงทุน 337.8 พันล้านบาท (เฉพาะก่อสร้าง) ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น รวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ในพื้นที่อื่นที่น่าจะคืบหน้ามากขึ้น

สำหรับการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.0-4.5% ต่อปี หนุนโดย 1.การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่เหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมสายใหม่ ๆ 2.การลงทุนใน EEC ที่จะหนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ 3.การลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

ทั้งนี้ ผู้รับเหมารายใหญ่จะมีความได้เปรียบรายกลางและเล็ก เนื่องจากมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสูงกว่า และมีโอกาสได้งานประมูลมากกว่า ทั้งยังสามารถขยายการก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ผู้รับเหมารายกลางและรายเล็กยังต้องพึ่งพาการรับเหมาช่วง (Subcontract) จากผู้รับเหมารายใหญ่ รายได้จึงไม่แน่นอน อีกทั้งมีโอกาสเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลนเป็นระยะ รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นตามราคาพลังงาน

3.ธุรกิจร้านอาหาร

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า ในปี 2566 รายได้ของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง และการฟื้นตัวจะมีปัจจัยเฉพาะของประเภทของการให้บริการร้านอาหารและเฉพาะพื้นที่ โดยกลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) ร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารในศูนยก์ารค้า มีโอกาสฟื้นตัวได้ดี

สำหรับในปี 2566 การขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารมาจากปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ

ภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลในเชิงบวกต่อธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยวในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ 13-20 ล้านคน ซึ่งช่วย

สนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินกระจายลงสู่ธุรกิจร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว อย่างร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และร้านอาหารข้างทาง หรือ Street Food ตามตลาดนัดหรือถนนคนเดินที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินซื้อสินค้า

การกลับมาขยายสาขาของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยปรับรูปแบบการให้บริการมาเป็นแบบ 2 Limited Service เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด โดยให้ความสำคัญกับตลาดในกลุ่มลูกค้าซื้อกลับ (Takeaway) รวมถึงการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในภาวะที่ต้นทุนทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขาดแคลนแรงงานและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในการสั่งอาหาร ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบกำรธุรกิจร้านอาหารปรับรูปแบบการให้บริการเป็นการลงทุนในร้านอาหารขนาดเล็ก โดยปรับลดพื้นที่นั่งในร้าน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยหนุนรายได้ร้านอาหารกลุ่มนี้

กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ขับเคลื่อนได้ตามปกติ ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ ทำให้มีการใช้บริการร้านอาหารนอกบ้าน และการจัดกิจกรรมสังสรรค์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อร้านอาหาร อย่างร้านอาหารในศูนย์การค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่าในปี 2566 ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารยังเผชิญหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดการเติบโตฝั่งรายได้แรงกดดันด้านต้นทุนที่สูง และการแข่งขันที่เข้มข้น โดยต้นทุนการทำธุรกิจยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนอาหารสด, วัตถุดิบในการปรุงอาหาร และพลังงาน ล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไร ทำให้ผู้ประกอบการบางรายคงต้องปรับขึ้นราคาอาหารและบริการ แต่มองว่าการปรับขึ้นราคาต่อเนื่องยังทำได้จำกัด เนื่องจากกำลังซื้อยังเปราะบาง

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, วิจัยกรุงศรี, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #กระทรวงพาณิชย์ #พาณิชย์ #ยอดจดทะเบียนธุรกิจ #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #ธุรกิจร้านอาหาร #ร้านอาหาร #ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ #อสังหาริมทรัพย์ #อสังหา #ธุรกิจก่อสร้าง #ก่อสร้าง