bond

ครึ่งปีที่ผ่านมาธุรกิจไหนออกตราสารหนี้สูงสุด?

การออกตราสารหนี้ของภาคธุรกิจเอกชน ถือเป็นการระดมทุนของบริษัทที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคาร เพราะไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารแต่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้โดยตรง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้บริษัทเอกชนในไทยหันมาระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น หากเราเปรียบเทียบข้อมูลแล้วจะเห็นว่าการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากย้อนกลับไปในปี 2548 การระดมมทุนโดยการออกตราสารหนี้คิดเป็นเพียงประมาณ 20% ของมูลค่าการกู้ยืมเงินทั้งหมดของภาคเอกชน

ซึ่งในปี 2560 มูลค่าการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ขยับขึ้นมาเป็น 50% และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจนถึงปี 2566 โดยภาพรวมตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จากข้อมูลของ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดเผยให้เราเห็นว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าคงค้าง 4.86 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 6.6% ซึ่งตราสารที่เติบโตสูงสุดเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือหรืออันดับเครดิตในระดับ A ขึ้นไป ซึ่งสูงถึง 84% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด

อย่างไรก็ตามหากเรานับเฉพาะมูลค่าการระดมทุนทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 1.14 ล้านล้านบาท ลดลง 0.95 ล้านบาท จากมูลค่า 2.09 ล้านล้านบาทในปีก่อน ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะผู้ออกตราสารหนี้ได้มีการทยอยออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่อจำกัดต้นทุนอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกตราสารหนี้ระยะยาวอายุเฉลี่ย 4.33 ปี ซึ่งระยะเวลาปรับลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5.11 ปี

โดยสัดส่วนของตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 53% และระยะยาว 47% เทียบกับปี 2565 ตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 60% และระยะยาว 40% ซึ่งหลักๆ แล้วผู้ออกตราสารหนี้รายใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ พลังงานและสาธารณูปโภค และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ชำระหนี้และใช้ในกิจการของบริษัท

ทีนี้มาดูมูลค่าคงค้างกันบ้างว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นมูลค่าค้างแยกตามอันดับความน่าเชื่อถือได้อย่างไรบ้าง?

โดยในช่วงครึ่งปีแรกมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A มากที่สุด ด้วยสัดส่วน 57% อันดับที่ 2 เป็นระดับ AA ด้วยสัดส่วน 16% และอันดับ 3 เท่ากันระหว่างระดับ AAA และ BBB ด้วยสัดส่วน 11% และสุดท้ายตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สัดส่วนอยู่ที่ 3% ซึ่งสัดส่วนของตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือระดับ A มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 48% คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 9%

จะเห็นได้ว่าตราสารหนี้ที่มีมูลค่าสูงจะเป็นระดับ A แต่ก็ต้องบอกว่า ตราสารหนี้ระดับนี้ยังมีความเสี่ยงสูงพอสมควร โดยที่ผู้ลงทุนต้องประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองว่าเหมาะสมกับตราสารหนี้ที่ตนเองจะลงทุนหรือไม่ ซึ่งความเสี่ยงในการพิจารณาที่สำคัญที่ก.ล.ต.แนะนำเอาไว้ คือ

– ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท โดยตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ BB+ ลงมา หรือไม่มีการจัดอันดับเครดิต มักจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง จึงให้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับสูง

– ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือเพราะหุ้นกู้ในตลาดรองบางตัวอาจมีไม่มากหรือบางตัวแทบจะไม่มีสภาพคล่องเลยในตลาดรอง

– ความเสี่ยงด้านราคา ในกรณีที่ต้องการขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดการไถ่ถอน อาจจะทำให้ไม่สามารถขายได้ในราคาที่ต้องการ

ถึงจะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างตามระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ แต่จุดเด่นของตราสารหนี้ คือ การให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ละตัวมีลักษณะและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำซึ่งเหมาะกับผู้ลงทุนที่เน้นความมั่นคง ไปจนถึงความเสี่ยงสูงที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นซึ่งเหมาะกับนักลงทุนบางประเภทเท่านั้น ผู้ที่สนใจลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจในลักษณะของตราสารที่จะลงทุน รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสมกับระดับที่ตนเองสามารถยอมรับได้ โดยมีหลักเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุนในการพิจารณาลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน

ที่มา : SEC , SET ,KKP

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS