ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวอีกครั้ง!! ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-อาหาร-โรงกลั่น เริ่มซึม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังเจอสิ่งที่ท้าทาย

จากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ของ ‘สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย’ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 86.2 (ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมี.ค.) โดยที่การปรับตัวลดลงครั้งนี้มาจากทุกตัวแปรที่ใช้สำหรับการสำรวจปรับตัวลดลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม คือ ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานรวมถึงค่าขนส่ง

ขณะที่กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ และหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยคือวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้การผลิตลดลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบด้านการส่งออกสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินค้ากลุ่มโลหะ รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และ Space บนเรือไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออกสินค้า รวมทั้งความล่าช้าของเรือขนส่งยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี แม้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออกก็ตามแต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงินบาทที่อ่อนจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจนอาจยิ่งเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกได้

ทั้งนี้หากจำแนกดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบข้อมูลดังนี้

– อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และมีค่าดัชนีฯ มากกว่า 100 มีจำนวน 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์,เครื่องปรับอากาศและท าความเย็น,ยา,ผู้ผลิตไฟฟ้า,ปิโตรเคมี,พลาสติก,อลูมิเนียม

– อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้น แต่มีค่าดัชนีฯ ต่ำกว่า 100 มีจำนวน 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง,โรงเลื่อย และโรงอบไม้,ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก,น้ำตาล ,น้ำมันปาล์ม,พลังงานหมุนเวียน

– อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่น ฯ ลดลง แต่มีค่าดัชนีฯ มากกว่า100 มีจำนวน 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์,ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม,อาหาร,โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม,ผลิตภัณฑ์ยาง,การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์,ดิจิทัล,เครื่องมือแพทย์และสุขภาพ

– อุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลง แต่มีค่าดัชนีฯ ต่ำกว่า 100 มีจำนวน 24 อุตสาหกรรม ได้แก่สิ่งทอ,เครื่องนุ่งห่ม,รองเท้า,อัญมณีและเครื่องประดับ,เหล็ก,ปูนซิเมนต์,หลังคา และอุปกรณ์,แกรนิตและหินอ่อน,แก้วและกระจก,เซรามิก,ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น,เฟอร์นิเจอร์, เครื่องจักรกลและโลหะการ,เครื่องจักรกลการเกษตร,หล่อโลหะ,สมุนไพร,ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร,ก๊าซ,เคมี,เยื่อกระดาษ,หัตถกรรมสร้างสรรค์,การจัดการสิ่งแวดล้อม,เทคโนโลยีชีวภาพ,เครื่องสำอาง

ทั้งนี้เมื่อมองแนวโน้มแล้ว จะเห็นได้ว่าอนาคตของภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับปัญหารอบด้าน ซึ่งมีการสำรวจดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวลดลงจาก 99.6 ในเดือนมี.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากภาครัฐลดการอุดหนุนราคา โดยจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึง 35 บาทต่อลิตร

รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกจะทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิต และค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้นโยบายปิดเมืองของจีนเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19

ทั้งนี้หากดัชนีความเชื่อมั่นฯ (TISI) อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเชื่อว่าภาวะการณ์ด้านนั้น ๆ จะมีสภาพแย่ลง หรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี

หากค่าดัชนีอยู่ในระดับ 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่า
ภาวะการณ์ด้านนั้น ๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่หากค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวะการณ์ด้านนั้น ๆ จะมีสภาพดีขึ้น

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : FTI

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เงินเฟ้อ #ภาวะเศรษฐกิจ #เศรษฐกิจมหภาค #ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ #ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม