ธุรกิจการเงินโลกยอมรับ Blockchain

  • เทคโนโลยี Blockchain ที่ทำให้เกิดเงิน Bitcoin หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ได้รับการยอมรับจากนักการเงินโลกแล้วว่า เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติระบบการเงินโลกครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์

  • Blockchain จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อใด 1-2 ปีข้างหน้าหรือ 5-10 ปี…?
  • อาร์เจนตินาถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่มีการลงทุนใน Blockchain

 

ก่อนหน้านี้ เงิน Bitcoin มีภาพพจน์ไม่ค่อยดี โดนโจมตีว่าเป็นเงินที่ใช้ในธุรกิจใต้ดิน ทั้งยาเสพติดและการก่อการร้าย รวมทั้งมักประสบปัญหาโดนโจรคอมพิวเตอร์ขโมยเงินออกจากระบบเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในเทคโนโลยีและมีกระแสต่อต้านจากหน่วยงานราชการและนักการเงินทั่วโลกพอสมควร

 
แต่สุดท้ายแล้ว นักการเงินเองพบว่า Bitcoin มีศักยภาพทำให้โลกการเงินสามารถเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 
มีผู้รู้อธิบายว่า Blockchain คือระบบที่ยืนยันว่าเงินดิจิทัลที่คนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งถือครองอยู่นั้นเป็นของจริง เป็นการยืนยันที่เกิดจากระบบที่กระจายไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ใครก็ได้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงที่มาของเงินแต่ละหน่วย และยากที่จะปลอมแปลงได้ นั่นทำให้เงินดิจิทัลสามารถใช้ซื้อขายสินค้าและบริการได้ทั่วโลกผ่านระบบดิจิทัล ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องค่าแลกเปลี่ยน ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ไม่ต้องให้สถาบันการเงินหรือหน่วยงานรัฐบาล ทั้งกระทรวงการคลังหรือแบงก์ชาติมายืนยันว่าเงินนั้นใช้ซื้อขายสินค้าได้ตามกฎหมาย

 

 

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ โดย Nathaniel Popper รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กลางที่ประชุม World Economic Forum ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักธุรกิจและนักการเงินชั้นนำของโลก แสดงการยอมรับเทคโนโลยี Blockchain แล้ว และมีสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในองค์กร
Giancarlo Bruno หัวหน้าคณะอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของ World Economic Forum ระบุในรายงานเรื่อง Blockchain ที่นำเสนอในที่ประชุมว่า ‘Blockchain ที่เคยอยู่แถบขอบ ๆ ของอุตสาหกรรมการเงินกำลังจะขยับเข้ามาเป็นแกนสำคัญของธุรกิจการเงิน’

 
รายงานของบรูโนมีความหนา 130 หน้า ใช้เวลาศึกษาค้นคว้านาน 1 ปี โดยมีนักการเงินจากสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง JP Morgan, Visa, Master Card และ Black Rock เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยในรายงานระบุว่า ร้อยละ 80 ของสถาบันการเงินทั่วโลก พร้อมนำระบบ Blockchain หรือบางทีเรียกว่าสมุดบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัวมาใช้ภายในปีพ.ศ. 2560

 
ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศกำลังทำการศึกษาว่า Blockchain จะทำมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการโยกย้ายเงินทั่วโลกอย่างไร ?

 
รายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า อุตสาหกรรมการเงินสนใจ Blockchain อย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีตัวนี้เปิดช่องทางใหม่ที่ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายเงินและติดตามธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดน หรือข้ามเครือข่ายระบบการเงินทั่วโลก ภายใต้ระบบที่ปลอดภัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 
นิวยอร์กไทม์สระบุว่า ในเวลาใกล้เคียงกับที่มีการนำเสนอรายงานเรื่อง Blockchain ในที่ประชุม World Economic Forum มีธนาคารใหญ่ระดับโลก 15 แห่ง ซึ่งรวมทั้ง Wells Fargo Bank และ UBS ประกาศว่า ได้ทำระบบบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัวต้นแบบเสร็จแล้ว พร้อมที่จะทดลองใช้สำหรับติดตามข้อมูลการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และทำให้เกิดระบบที่บันทึกธุรกรรมทางการเงินที่กระจัดกระจายและติดตามยากเอาไว้ในที่เดียว

 
รายงานที่นำเสนอในที่ประชุม World Economic Forum ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบ Blockchain ของสถาบันการเงินจะเกิดขึ้นที่ Back Offices ทำให้ผู้ใช้บริการหรือลูกค้ามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อโครงสร้างใหม่เสร็จแล้ว ธุรกรรมทางการเงินจะทำได้รวดเร็วขึ้น และมีราคาหรือค่าธรรมเนียมถูกลง

 
โดยระบบใหม่จะสามารถนำมาใช้กับธุรกรรมทางการเงินทั่วไป อาทิ ระบบการจ่ายเงินระหว่างประเทศ การค้าขายหุ้น การเงินสำหรับการค้าระหว่างประเทศ หุ้นกู้แปลงสภาพชนิดพิเศษ

 
อย่างไรก็ดี ในงาน World Economic Forum ยอมรับว่าการนำระบบ Blockchain มาใช้กับระบบการเงินอาจจะไม่เร็วอย่างที่คิด เพราะจะต้องมีการแก้ปัญหาที่เกิดกับเงิน Bitcoin โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจรกรรมเงินจากระบบโดยโจรคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมการเงินยังต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วม เพื่อกำกับดูแลเงินดิจิทัลที่เกิดจาก Blockchain ด้วย

 
รายงานข่าวในนิวยอร์กไทมส์ยังชี้ว่า รายงานที่นำเสนอในงาน World Economic Forum หลีกเลี่ยงที่จะเขียนถึง Bitcoin เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มสถาบันการเงินยังไม่ยอมรับเงิน Bitcoin ตามที่ได้เคยแสดงจุดยืนมาก่อนหน้านี้ แต่ยอมรับ Blockchain ในฐานะบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัว โดยคาดว่าสถาบันการเงินต้องการแสดงว่าสามารถใช้ Blockchain โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินดิจิทัล หรือเงินเสมือนจริง

 

ทำให้มีแนวโน้มว่าสถาบันการเงินน่าจะใช้บัญชีแยกแบบกระจายตัวเป็นฐานข้อมูลร่วมของกลุ่มสถาบันการเงินมากกว่าใช้ Blockchain เพื่อหนุนเงินดิจิทัลตัวใดตัวหนึ่ง

 

“Blockchain เป็นที่รู้จักครั้งแรกในฐานะเป็นฐานข้อมูลที่เก็บรวบรวม ธุรกรรมทั้งหมดของเงิน Bitcoin แต่โดยพื้นฐานแล้ว Blockchain คือ ข้อมูลบันทึกบัญชีแยกประเภทของสถาบันการเงินที่ไม่ได้บันทึกโดยพนักงานองค์กร หรือเก็บรักษาอยู่ที่สถาบันการเงิน แต่เปิดเป็นข้อมูลสาธารณะกระจายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก”

 
นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่า Blockchain เป็นระบบที่สามารถใช้กับอะไรก็ได้ที่สามารถบันทึกทางดิจิทัลได้ ทำให้เป็นระบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมการเงินโลกยอมรับและนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในธุรกิจแล้ว ทำให้การนำ Blockchain ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นจะมีการเร่งตัวขึ้น
Blockchain ใช้ได้หลากหลาย

 
มีรายงานว่า นอกจากอุตสาหกรรมการเงินที่เริ่มให้ความสนใจเงินดิจิทัลอย่างจริงจังแล้ว ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์กลางของประเทศรัสเซีย ได้ทำโครงการนำร่องขึ้นในปีพ.ศ. 2559 เพื่อนำระบบ Blockchain มาใช้กับระบบข้อมูลหลักทรัพย์และมีหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมเพลงหลายแห่ง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain ทำโมเดลระบบเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์และบริหารลิขสิทธิ์ในระดับโลก

 
Alex Hern ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน เผยแพร่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า เทคโนโลยี Blockchain ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่คนในวงการโลกดิจิทัลพยายามคิดหาคำตอบเป็นเวลานานนับ 10 ปี ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางมาคอยติดตามตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรบ้าง

 
คนแรกที่เสนอทางออกให้แก่คำถามของคนในโลกดิจิทัล คือคนที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto) ผู้สร้างเงิน Bitcoin และใช้ Blockchain ขึ้นมาเป็นกลไกหนุนค่าเงิน ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าคนที่ใช้นามแฝงนี้คือใคร

 
คนญี่ปุ่นที่มีชื่อเดียวกันกับชื่อนี้ก็ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่ได้สร้าง Bitcoin และ Blockchain ขึ้นมาเพื่อหนุนหลังเงิน ซึ่งปรากฏว่า Blockchain กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าเงิน Bitcoin ในเวลาต่อมา

 
บทความของ Hern ระบุว่า Blockchain ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใช้กับธุรกิจการเงินหรือธนาคารเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานตลาดหลักทรัพย์ อุตสาหกรรมเพลง หรือแม้กระทั่งธุรกิจเล็ก ๆ อย่างการค้าขายน้ำมันมะกอกได้ โดยยกตัวอย่างเช่น Provenance ในลอนดอน นำเสนอประวัติเหล้าองุ่นจากชิลีที่บริษัทให้ข้อมูลต้นกำเนิดและการเดินทางของขวดไวน์ตลอดเส้นทางไว้เป็นข้อมูลสาธารณะ ทำให้ร้านที่นำไปขายเป็นทอดรู้เส้นทางการเดินทางของไวน์แต่ละขวดตลอดเส้นทางอย่างละเอียด

 
Provenance เริ่มในสหรัฐอเมริกา เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ตรวจสอบแหล่งกำเนิดของสินค้าย้อนกลับตลอดเส้นทางห่วงโซ่อุปทานสำหรับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกได้โดยใช้ Blockchain เป็นมาตรฐานใหม่ที่ทำให้เกิดการซื้อสินค้าที่ผลิตขึ้นมาอย่างชอบธรรม มีประวัติดี ไม่ใช้แรงงานทาสหรือทำลายสิ่งแวดล้อม

 
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ในเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ. 2558 ตลาดหุ้นแนสแด็ก ของนิวยอร์ก ทำการศึกษาว่าจะนำ Blockchain มาใช้ในงานของตลาดหุ้นได้อย่างไร โดย Bob Greifeld ผู้บริหารแนสแด็กกล่าวว่า Blockchain เป็นวิวัฒนาการทางธรรมชาติของระบบดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้ แต่สามารถนำมาใช้บริหารงานหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้
‘เราเห็นว่า Blockchain ไม่ใช่แค่ให้ประโยชน์แก่ลูกค้าของเราเท่านั้น แต่จะมีประโยชน์ต่อตลาดเงินทุนทั้งโลกได้’
Blockchain จนถึงไตรมาสแรกปี 2559

 
เว็บไซต์ CoinDesk ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ทั่วโลกรายงานว่า เมื่อนักธุรกิจและองค์กรธุรกิจเริ่มยอมรับและนำ Blockchain มาใช้แล้ว คำถามที่ทุกคนถามต่อไปว่า Blockchain จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อใด จะเป็น 1-2 ปีข้างหน้าหรือ 5-10 ปี…?

 
Marc Andreessen ผู้ก่อตั้งบริษัท Netscape Communications Corporation ได้เขียนในคอลัมน์คนนอก (Op-Ed) ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า การเกิดขึ้นของเงิน Bitcoin ทำให้เขาคิดถึงยุคของ Internet Circa 1993 ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายในเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งหากใช้ตัวนี้เป็นเกณฑ์ ก็หมายความว่า Blockchain จะเข้าสูยุค Web 1.0 ในเวลาไม่กี่ปี

 
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของ Chris Skinner นักเขียนและที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟินเทค ที่กล่าวว่า Blockchain ในขณะนี้น่าเทียบกับช่วงปี 1970-80 (2513-23) มากกว่ายุคต้นทศวรรษ 1990 (2533-43) อย่างที่ Andreessen ไว้คิดไว้

 
“ในไตรมาสแรกปีนี้ กองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์ แคปิตอล) ได้กลับมาลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Bitcoin และ Blockchain อย่างคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เมื่อสิ้นไตรมาสที่ผ่านมา มีเงินลงทุนทะลุหลักพันล้านดอลลาร์ ไปที่ 1,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 39,600 ล้านบาท) แล้ว”

 
การลงทุนใน Bitcoin และ Blockchain กับตัวเลขที่บอกมา ถือว่าน่าสนใจมาก เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนของกองทุนเวนเจอร์ แคปิตอลทั่วไปอยู่ในช่วงขาลง แต่มีการลงทุนใน Blockchain เพิ่มขึ้น โดยความสนใจของนักลงทุนใน Blockchain เริ่มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ เหตุผลสำคัญคือ สถาบันดั้งเดิมหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเริ่มหันมายอมรับเทคโนโลยี Blockchain และนำมาใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

 
ปัญหาของการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินดิจิทัล และ Blockchain คือความสับสนในความแตกต่างระหว่าง Bitcoin กับ Blockchain ทำให้มีการแยกสตาร์ทอัพออกเป็น 3 กลุ่มคือ สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจหรือบริการ Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจ่ายเงิน การแลกเปลี่ยนเงิน การส่งเงิน และธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงิน

 

ขณะที่สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจ Blockchain คือธุรกิจที่ไม่ใช่เงิน อย่างเช่นการชำระหลักทรัพย์ สิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประวัติรากเหง้าของทรัพย์สิน และสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจและบริการไฮบริด คือทำทั้งเงินและไม่ใช่เงิน
สิ่งที่น่าสังเกตในช่วงไตรมาสแรกปีนี้คือ จำนวนสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจ Blockchain และไฮบริดมีมากกว่าปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันถึง 4 เท่าตัว และเป็นครั้งแรกที่สตาร์ทอัพ Blockchain และไฮบริดระดมเงินทุนได้มากกว่าสตาร์ทอัพ Bitcoin

 
ในแง่ของภูมิภาคที่มีการลงทุนในกิจการ Blockchain และ Bitcoin มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการลงทุนใน Bitcoin และ Blockchain และไฮบริดในวงเงินลงทุนที่ใกล้เคียง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มมีการลงทุนในสตาร์ทอัพ Blockchain คือ อังกฤษ อิสราเอล สวีเดน เยอรมนี ส่วน อาร์เจนตินา ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่มีการลงทุนใน Blockchain

 

 

สำหรับอนาคตของ Blockchain มีรายงานจาก PWC และ Deloitte ที่ทำนายว่า จะเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในตลาดการเงินและบริการระดับอาชีพในปี 2559 นี้ และสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพจะนำเสนอสินค้าใหม่ที่ขับเคลื่อนโดย Blockchain โดยสถาบันการเงินหลัก ๆ ผ่านช่วงเวลาคิดและพูดคุยไปสู่ขั้นปฏิบัติแล้ว ซึ่งจะทำให้มีการใช้ Blockchain อย่างแพร่ในเวลาอันสั้น

 

 

อย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์บางรายที่เชื่อว่า จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
…จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งว่า คำทำนายของใครจะเป็นจริง ซึ่งคงได้รู้กันใน 12 เดือนข้างหน้านี้อย่างแน่นอน