ดร. ต่อยศ-ดร. เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ นานาชาติพันล้าน

ดร. ต่อยศ-ดร. เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ นักการศึกษาเลือดใหม่ที่น่าจับตามอง ไม้ต่อโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า ที่สืบทอดจิตวิญญาณความเป็นครูของอาจารย์อารย์ ปาลเดชพงศ์มาเต็มเปี่ยม ก็ถึงเวลาจะนำพาอนุบาลเด่นหล้าไปสู่บทบาทใหม่ที่ท้าทาย

 

วันนี้ Business+ มีนัดกับ 2 ด็อกเตอร์หนุ่มรุ่นใหม่ ดร. ต่อยศ-ดร. เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ ภายในห้องรับรองโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า เพชรเกษม หลังจากทักทายกันสักพัก ดร. ต่อยศ ก็เริ่มเล่าที่มาของโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า

 

“อนุบาลเด่นหล้าเป็นโรงเรียนที่รับเฉพาะอนุบาลอย่างเดียว เริ่มจากคุณพ่อต้องการเปิดโรงเรียนให้น้องสาวผม (ผศ.พญ. เด่นหล้า ปาลเดชพงศ์) ได้เรียนแบบโฮมสคูล ซึ่งนักเรียนกลุ่มแรกที่มาเรียนก็เป็นลูกหลานของญาติ ๆ และลูกเพื่อนบ้าน ใน 2-3 ปีแรกตั้งใจว่าน้อง ๆ เรียนจบก็จะปิดโรงเรียน แต่พอเรียนไปเรียนมากลับตรงกันข้าม จากที่จะปิดเป็นต้องขยายมาเรื่อย ๆ”

 

ดร. เต็มยศ ปาลเดชพงษ์
ดร. เต็มยศ ปาลเดชพงษ์

 

เนื่องจากความเป็นโฮมสคูล พื้นที่บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่เดียวกัน ทำให้ทั้งดร. ต่อยศ-ดร. เต็มยศเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการศึกษา สำหรับพี่ชายคนโต ดร. ต่อยศ หลังจากกวาดปริญญาทั้งในไทยและต่างประเทศมากมาย รวมทั้งปริญญาเอก สาขาจัดการงานวิศวกรรม มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตต (Portland State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มต้นสายงานด้วยบทบาทอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

 

ในขณะที่เส้นทางของผู้เป็นน้อง ดร. เต็มยศ ก็ไม่ต่างกันมาก หลังจากคว้าปริญญาเอก สาขาวิชาการจัดการเชิงปฏิบัติการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต (Michigan State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยบทบาทอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ รวมทั้งร่วมแต่งและแปลหนังสือควบคู่กันไป

 

แน่นอนว่าบทบาทอาจารย์พิเศษเป็นเพียงบทบาทรอง ซึ่งบทบาทหลักของทั้งคู่คือการบริหารโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าต่อจากคุณพ่อนั่นเอง หลังจากโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า เพชรเกษมเต็มจำนวนจนไม่สามารถขยายต่อได้แล้ว เมื่อ 10 ปีที่แล้วจึงมีการขยายไปที่นครอินทร์ ชื่อ โรงเรียนเด่นหล้า พระราม 5 ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า เพชรเกษมอยู่ภายใต้การบริหารของดร. ต่อยศ และโรงเรียนเด่นหล้า พระราม 5 อยู่ภายใต้การบริหารของดร. เต็มยศ

 

ดร. ต่อยศ ปาลเดชพงษ์
ดร. ต่อยศ ปาลเดชพงษ์

ด้วยโมเดลการสอนของอาจารย์อารย์ที่เต็มไปด้วยศักยภาพ บวกกับการนำเทคโนโลยีที่ดร. ต่อยศ-ดร. เต็มยศนำเข้ามาเป็นสื่อการสอน ทำให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนในฝันของผู้ปกครองที่พร้อมใจกันเรียกร้องให้สองด็อกเตอร์เปิดหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาต่อเนื่อง

 

หลังจากทนเสียงรบเร้าของบรรดาผู้ปกครองไม่ไหว ประกอบกับความพร้อมหลาย ๆ ด้าน สองด็อกเตอร์ก็ได้ฤกษ์คลอดโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาหลักสูตรนานาชาติเสียที

 

“ตลอดระยะเวลาที่เปิดโรงเรียนมากว่า 37 ปี มีเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาพอใจในระบบการเรียนการสอนการดูแลของเรา ซึ่งเราก็คิดมานานว่าถ้าจะทำอะไร เราอยากทำให้มันดี แตกต่าง และตอบโจทย์ เราก็มองว่าผู้ปกครองไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาอังกฤษ ฉะนั้นโมเดลหลักสูตรสองภาษาหรือนานาชาติเป็นอะไรที่ผู้ปกครองให้ความสนใจ” ดร. ต่อยศ เล่าให้เราฟังถึงก้าวต่อไปของโรงเรียนเด่นหล้า

 

อนุบาลเด่นหล้า

 

ขณะเดียวกัน ดร. เต็มยศก็เสริมว่า “การที่เรามี 2 โรงเรียนตอนนี้ก็ยุ่งมากแล้ว แต่เป็นความตั้งใจของครอบครัวที่ต้องการก้าวไปอีกก้าว เป็นความท้าทายอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเรามั่นใจว่าเราทำได้ เพราะเรารู้ว่าผู้ปกครองต้องการอะไร สิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่ขาดอยู่คืออะไร ซึ่งเราได้ครูใหญ่ที่มีความสามารถ คือ อดิสัน เทอร์เนอร์ และทีมงาน เจ้าของโรงเรียนนานาชาติเบอร์ 1 จากดูไบเข้ามาเสริม และสุดท้ายโรงเรียนจะดีต้องอยู่ที่ครูดี ครูดีค่าตัวแพง ซึ่งเราก็เข้าใจและรู้ว่าจำเป็นต้องรอก็ต้องรอ เพื่อให้ได้คนที่ดีจริง ๆ”

 

ซึ่งตอนนี้ DENLA BRITISH SCHOOL อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและจะเปิดการเรียนการสอนในเดือนสิงหาคม 2560 ในปีแรกจะเปิดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาก่อน โดยใช้หลักสูตรเอกชนของอังกฤษที่จะเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนแบบเดียวกับในประเทศอังกฤษ ซึ่งมูลค่าการก่อสร้างครั้งนี้ ครอบครัวปาลเดชพงศ์ทุ่มงบกว่าพันล้านบาทเลยทีเดียว

 

“ในปีแรกเราคาดหวังให้ 1 ชั้นเรียนมีห้องเรียน 3-4 ห้อง และจะเปิดถึงป. 4 เพราะลูกชายคนโตของผมจะเข้าเรียนชั้นป. 4 เป็นการเปิดเรียนที่เอาแต่ใจพวกเราเล็กน้อย ส่วนนักเรียนรุ่นแรกตอนนี้มีแน่ ๆ 7 คนคือลูกของผม ลูกของดร. เต็มยศ และลูกของผู้ช่วยคุณอดิสัน” ดร. ต่อยศ เล่าให้ฟังอย่างมีอารมณ์ขัน

 

 อดิสัน เทอร์เนอร์
อดิสัน เทอร์เนอร์

 

เมื่อเราถามถึงความคาดหวังที่มีต่อ 3 โรงเรียนในเครือ ดร. เต็มยศก็ตอบคำถามนี้และปิดท้ายบทสนทนาในวันนี้สั้น ๆ ว่า “จะทำก็ต้องทำให้ดี 3 โรงเรียนภายใต้ผู้บริหาร 3 คน แต่ละคนมีอำนาจและวิธีบริหารต่างกันภายใต้แนวคิดแบบเดียวกัน นโยบายต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เราไม่ได้คาดหวังผลกำไรมากมาย แต่เราต้องอยู่ได้ และเราเชื่อว่าโรงเรียนคุณภาพดี ไกลแค่ไหน เขาก็มาเรียน”

 

จากการนั่งคุยกันในวันนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือความตั้งใจอันแรงกล้าของพี่น้องปาลเดชพงศ์ นั่นคือการนำโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าก้าวไปสู่บริบทใหม่ ๆ เพื่อสานต่อปณิธานของอาจารย์อารย์ ปาลเดชพงศ์…