รัฐบาล ‘อินเดีย’ สั่งแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง โอกาสทองผู้ประกอบการไทยรุกธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทดแทน

พลาสติกถือเป็นสิ่งที่อยู่กับประชากรทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ทั้งในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ก็มักจะมีพลาสติกเกี่ยวข้องด้วยเสมอ แต่อย่างไรก็ดี เราต่างก็ทราบกันดีว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ยาก และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยจากข้อมูล ณ กันยายน 2564 พบว่าทั่วโลกมีพลาสติกประมาณ 8.3 พันล้านตัน และพบว่าประมาณ 6.3 พันล้านตัน เป็นขยะจากพลาสติก ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และจากการที่ขยะประเภทพลาสติกนั้นใช้เวลาในการย่อยสลายอย่างน้อยเป็นร้อย ๆ ปี จากปัญหานี้ทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มหันมาตระหนักในการใช้พลาสติกมากขึ้น

อย่างล่าสุด รัฐบาลกลางอินเดียได้สั่งห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง โดยได้ประกาศกฏแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดการขยะพลาสติกปี 2564 โดยโรงงานไม่สามารถนำเข้า กักตุน แจกจ่าย จำหน่าย และใช้สิ่งของประเภทต่าง ๆ จากพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง มีผล 1 กรกฎาคม 2565 และเตรียมจัดตั้งห้องควบคุมเฉพาะและทีมบังคับใช้กฎหมายพิเศษสำหรับตรวจสอบการผลิต นำเข้า จัดเก็บ กระจาย จำหน่าย และใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (SUP) ที่ผิดกฎหมายเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้ร้องขอรัฐและดินแดนทั้งหมดในประเทศตั้งจุดตรวจพรมแดน เพื่อหยุดยั้งการขนส่งพลาสติกประเภทดังกล่าวระหว่างรัฐ

สำหรับพลาสติกใช้แล้วทิ้งที่อินเดียประกาศสั่งห้าม อาทิ สิ่งของประเภทพลาสติกที่มีความหนาของพลาสติกน้อยกว่า 100 ไมครอน อย่างเช่น จาน ถ้วย แก้วน้ำ และพลาสติกห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับกล่องขนมหวาน บัตรเชิญ และบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ รวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง อย่างเช่น ช้อน ส้อม มีด และถาดอาหาร

นอกจากนี้ ถุงพลาสติกประเภทแบบบางจะเพิ่มความหนาขึ้นเป็น 120 ไมครอน ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ซ้ำของถุงพลาสติก ซึ่งก่อนหน้านี้ อินเดียได้มีการเพิ่มความหนาจาก 50 ไมครอน เป็น 75 ไมครอน มาแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ 20 กันยายน 2564

ซึ่งคาดว่าการประกาศในครั้งนี้ น่าจะเป็นการขยายผลจากที่รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจเริ่มการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้ว ในเมืองหลักอย่างเดลี ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2565 โดยเริ่มจากยกเลิกการใช้ปากกาประเภทใช้แล้วทิ้ง และขวดน้ำ รวมถึงยกเลิกการใช้แบนเนอร์ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณา และอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง

โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศอินเดียเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมอินเดียเป็นอย่างมาก อย่างเช่น สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ โดยปัจจุบัน อินเดียสร้างขยะมากถึง 3.5 ล้านตันต่อปี จากผลการศึกษาของ World Wide Fund for Nature ชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันการใช้ไมโครพลาสติก (ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรที่แตกออกมาจากพลาสติก) เฉลี่ยแล้ว 5 กรัมต่อสัปดาห์/คน หรือประมาณกว่า 250 กรัมต่อปี ในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่รู้ตัวจากการใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก ซึ่งส่วนมากมีที่มาจากการดื่มน้ำในขวดพลาสติก ซึ่งเป็นประเภทแบบใช้แล้วทิ้งที่มีปริมาณไมโครพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 44 ชิ้น และหากมีการสะสมในร่างกายมากเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ระบบพัฒนาการและระบบฮอร์โมนของร่างกายได้

อย่างไรก็ดี แม้การประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในไทยพอสมควร แต่ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกมายังอินเดีย เช่น อุปกรณ์สำหรับการรับประทานอาหารประเภทใช้แล้วทิ้งในรูปแบบกระดาษ หรือกระดาษชานอ้อย ที่ความคงทนและแข็งแรงเทียบเท่ากับการใช้พลาสติก หรือผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้ามาร่วมทุนผลิตบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกในอินเดีย

ซึ่งไทยถือว่าได้เปรียบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติก หรือที่เรียกกันว่า ‘พลาสติกชีวภาพ’ เพราะถือเป็นต้นน้ำจากการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพในผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอ้อย

ทั้งนี้ จากข้อมูลตลาดพลาสติกชีวภาพ โดย Allied Market Research ระบุว่า ตลาดพลาสติกชีวภาพในปี 2560 มีมูลค่า 21,126.31 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 68,577.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 18.8 ต่อปี

นอกจากนี้ จากข้อมูลตลาดล่าสุดที่รวบรวมโดย European Bioplastics และสถาบันวิจัย Nova ได้คาดการณ์ว่าการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 2.05 ล้านตัน ในปี 2560 เป็น 2.44 ล้านตันในปี 2565

 

ที่มา : DITP, recyclecoach, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี, prachachat, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อินเดีย #อินเดียแบนพลาสติก #พลาสติก #พลาสติกชีวภาพ