เป็นความจริงที่ว่า บริษัทใหญ่น้อยต่างจับจ้องเข้าไปทำธุรกิจในสปป.ลาว ประเทศในกลุ่มเกิดใหม่ลุ่มน้ำโขง ที่ว่ากันว่า มีความน่าสนใจไม่แพ้เมียนมาร์
ทรัพยากรใต้ดินที่ยังสมบูรณ์ บวกกับนโยบายเปิดประเทศ กลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญให้นักแสวงโชคต่างเข้ามาขุดทอง และดูเหมือนว่าในตอนนี้นักลงทุนพยายามตามล่าหาขุมทรัพย์ หลังผู้นำประเทศประกาศตัวเป็นศูนย์กลางแหล่งพลังงานสำรอง หรือ Battery of Asia
“ในปี 2563 ลาวจะต้องพ้นจากสถานะการเป็นประเทศด้อยพัฒนา และเตรียมพร้อมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 7.5%” วิสัยทัศน์ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่บอกกับประชาคมโลก ไปเมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันสถานะของประเทศ กำลังผลิดอกออกผล กลายเป็นจุดหมายลงทุนของต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยดูค่าเฉลี่ยอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจลาวในระดับ 7.5% ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
จากจุดนี้นอกจากจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในทิศทางบวก ยังสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศในระยะยาว และนั่นเป็นเหตุผลที่พอเพียงที่ทำให้ เจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) รุกมาเปิดร้านอาหาร ที่นครเวียงจันทน์ และถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงมียอดขายเติบโต 2-3 เท่าตัว ในเวลาไม่ถึง 3 ปี
ร้านอาหารของเจริญ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเวียงจันทน์ ซึ่งเขาก็เหมือนนักลงทุน นักธุรกิจทั่วไปที่มองหาโอกาสขยายธุรกิจในต่างแดน
“ผมแค่อยากขยายธุรกิจไปยังอาเซียน เลยลองดูว่าที่ใดน่าจะขายดี บวกกับแผนธุรกิจที่ต้องการขยายไลน์ธุรกิจไปสู่กลุ่มบริการอาหารจานด่วน หรือ QSR ภายใต้แบรนด์ร้านข้าวขาหมูยูนนาน ผมจึงมาลองที่เวียงจันทน์ก่อน” เจริญ บอก
ประตูขุมทรัพย์ ที่รอวันเติบใหญ่
สถานะของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว ที่อาศัยจุดด้อยในอดีต เปลี่ยนตัวเองจาก Land Lock สู่ Land Link กลายเป็น “จุดเด่น” ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านทั้งหมด เกิดเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region : GMS) ที่ดึงดูดเม็ดเงินจากกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาสู่ลาว โดยเฉพาะโครงการเหมืองแร่ เขื่อน โรงไฟฟ้า หรือแม้แต่การลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ทุนใหญ่ในวันนี้หนีไม่พ้นกลุ่มทุนจากประเทศจีน
การเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาว เป็นผลพวงจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันตัวเองก้าวออกจากสถานะการเป็นประเทศด้อยพัฒนาภายในปี 2563 และนั่นถือว่าเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ
“การเปลี่ยนแปลงของสปป.ลาว มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมาก จีดีพีรวมก็มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และนั่นทำให้มีคนสนใจประเทศนี้มากขึ้น” ชดาพร อุรัจฉัท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้จัดการสาขาเวียงจันทน์ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ ที่บอกกับ Business+ ในงานเปิดตัวรับฝากทรัพย์สิน (Custody Service) ซึ่งบมจ.ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวรุ่งแห่งลุ่มน้ำโขง กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยโมเดลการบริหารจัดการเพื่อดึงกลุ่มทุนเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้สปป.ลาว เป็นดาวเด่นขึ้นมาทันที
“นักลงทุนมองดูลาว คือความสะดวก ความง่าย ในการเข้าขยายธุรกิจเชื่อมโยงไปยังเวียดนามลงไปถึงอินโดนีเซีย และจากประสบการณ์ตรงที่ดูแลทั้งคนท้องถิ่นของที่ต้องการเข้ามาลงทุนในนี้ กับต่างชาติที่สนใจเข้ามาตรงเลย ลาวยังมีโอกาสอีกมาก ซึ่งหากมองถึงการสนับสนุนช่วยเหลือของรัฐบาล ต้องชื่นชมว่า ทางการลาวให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะสิ่งใดที่นักลงทุนเข้ามา เพื่อพัฒนาประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพยาบาล สาธารณสุข การศึกษา หรือภาคธุรกิจ ตรงนี้รัฐบาลลาวให้การสนับสนุนเต็มที่จริงๆ” ชดาพร บอกพร้อมระบุว่า
ด้วยการสนับสนุนตรงจากตัวแทนรัฐบาล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้สปป.ลาว เข้มแข็งที่สุดของประวัติศาสตร์ในการยืนหยัดบนเวทีการค้าโลก เพราะลาวมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากภายในสู่ภายนอก
เริ่มจากการเมืองมีเสถียรภาพ ส่งผลให้สถานะทางเศรษฐกิจมั่นคง โดยดูจากภาพรวมของเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งเหล่านี้เกิดเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันลาวกำลังโตวันโตคืน มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องในหลายมิติ ภาคธุรกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถูกเชื่อมโยงกับการลงทุน เพื่อนำตัวเองก้าวสู่โลกใหม่ ที่สามารถวัดประสิทธิผลได้จากขีดความสามารถทางการค้า หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและในอนาคตนับจากนี้
ตลาดทุน แหล่งระดมทุนเพื่อการสร้างชาติ
ชดาพร เคยทำงานเป็นผู้จัดการสาขาในจังหวัดอุดรธานี หัวเมืองหน้าด่านที่มีพื้นที่ติดต่อกับเวียงจันทน์มากว่า 30 ปี ทำให้เธอมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของพลวัตสปป.ลาว ซึ่งเธอก็เชื่อมั่นว่า จุดขายที่เป็น Battery of Asia จะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุนให้เติบใหญ่ขึ้นไปอีก
“สิ่งที่เราช่วยลูกค้าได้ก็คือ การ matching ระหว่างลูกค้าที่ต้องการเข้ามาลงทุน เพราะเรารู้ว่า ลูกค้าคือใคร คนซื้อสินค้าหรือบริการคือใคร เรา (บมจ.ธนาคารกรุงเทพ) แค่ทำหน้าที่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน ซึ่งแนวทางนี้เรา Drive มาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นทำให้ยอดสินเชื่อของสาขาเวียงจันทน์ จากเดิมปีๆ หนึ่งมีการหมุนเวียนเพียง 3-4 ล้านดอลลาร์ ก็เพิ่มมากกว่า 3 เท่าตัว จากการเติบโตของการลงทุนด้านก่อสร้างและสาธารณูปโภค รวมถึงธุรกิจเทรดดิ้งและโลจิสติกส์ของกลุ่มทุนต่างๆ ที่เข้ามาขยายธุรกิจเพิ่ม”
ผลจากการทำงานหนักของชดาพร บวกกับวิสัยทัศน์ของบมจ.ธนาคารกรุงเทพที่ปักฐานธุรกิจในสาขาต่างประเทศมาอย่างยาวนาน ดอกผลที่หว่านไว้ในอดีตเริ่มให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ซึ่งปีนี้หากเป็นไปตามเป้าหมาย “ชดาพร” บอกว่า อยากจะขยายพอร์ตสินเชี่อเพื่อสร้างรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 1,000 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งของรายได้ที่เพิ่มขึ้น “ชดาพร” บอกว่าจะมาจากส่วนงานกระตุ้นยอดการลงทุนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากกลุ่มลูกค้าไทยที่ต้องการเข้ามาลงทุนในสปป.ลาว (Thai Link) หรือนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ช่องทางระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ลาว โดยบริการของบมจ.ธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียงจันทน์ หลังได้รับใบอนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Commission Office: LSCO) ในการทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน และเป็นสมาชิกเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Exchange: LSX)
ทั้งให้บริการรับฝากทรัพย์สิน (Custody Service) รายแรกแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ประกอบไปด้วยบริการด้านการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า รับและส่งมอบทรัพย์สิน แจ้งและติดตามสิทธิประโยชน์ของหลักทรัพย์ จัดทำรายงานแสดงฐานะทางการเงินและทรัพย์สิน การรับมอบอำนาจการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น บริการแนะนำด้านภาษี และบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ชดาพร มองว่า ส่วนงานทั้งสองมีความเชื่อมโยงกัน โดยส่วนงานแรกจะผ่านการลงทุนตรงจากจากลูกค้าของแบงก์คือ ธุรกิจเทรดดิ้ง โลจิสติกส์ แมนูแฟคเจอริ่ง ก่อสร้าง และภาคบริการ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากช่องทางเข้ามาระดมทุน ซึ่งในฐานะตลาดหุ้นลาวมีความน่าสนใจอย่างมีนัยเช่นกัน
ประเด็นดังกล่าว “กฤษฏา สุขคร้าม” Product Development บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า แหล่งระดมทุนของสปป.ลาว (LSX) เป็นอีกเป้าหมายลงทุนเด่นของ Fund Manager ทั่วโลก ในฐานะ Emerging Markets ที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับตลาดในประเทศภูมิภาคนี้ ตลาดหุ้นลาวสามารถมอบความคุ้มค่าดีที่สุด
“แม้จะมีหุ้นเทรดกันแค่ 4 ตัว แต่ในระยะยาวหุ้นหลายตัวกำลังทยอยเข้ามามากขึ้น ครอบคลุมในทุกกลุ่มที่แบงก์เราโฟกัส ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ แมนูแฟคเจอริ่ง ก่อสร้าง หรือแม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างกลุ่มดาวเฮืองก็ทราบว่า ไมเกิน 2 ปีจากนี้ ผู้บริหารจะระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจ”
ทั้งนี้ บรรยากาศภายในงานเปิดตัวบริการใหม่ จากบมจ.ธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียงจันทน์ หลังได้รับใบอนุญาตจาก Lao Securities Commission Office: LSCO ในการทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน และเป็นสมาชิกเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์ลาว (Lao Securities Exchange: LSX) เพื่อให้บริการรับฝากทรัพย์สิน (Custody Service) ได้มีบรรดานักธุรกิจหน้าใหม่และนักธุรกิจรุ่นเก๋าของสปป.ลาว ให้เกียรติมาร่วมงาน รวมถึงสอบถามความน่าสนใจของการระดมทุนในตลาดหุ้นลาวแก่ท่านสอนไชย สิดพะไชย รองผู้ว่าการธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (กลาง)
รวมถึงท่านนางสายสะหมอน จันทะจัก รักษาการหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คตซ.) และตัวแทนจากบมจ.ธนาคารกรุงเทพ อาทิ พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการบริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ ไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ
Waddana Soukbandith ผู้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด “Souvanny” ซึ่งดำเนินธุรกิจนำเข้าวัสดุก่อสร้างของไทยและจากจีน รูปแบบธุรกิจคล้ายๆ โฮมโปรและบุญถาวรในประเทศไทย คือผู้ประกอบการในวันนั้นที่สอบถามโอกาสการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ลาว
Waddana เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนักธุรกิจสปป.ลาว ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของบ้านเกิด ซึ่งเขาและน้องชายคือ Phanngla วาดฝันว่า ไม่เกิน 5 ปีจากนี้จะนำบริษัทแห่งนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวให้ได้
Waddana บอกกับ Business+ ว่า ตัวเองจบการศึกษาปริญญาตรีจากบ้านเกิด สาขาวิศวกรรม ก่อนเดินทางมาศึกษาต่อปริญญาโทในเมืองไทย สาขาบริหารธุรกิจ และเริ่มจับธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างหลังมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสสป.ลาว ว่า ประเทศตัวเองจะต้องเติบใหญ่ในอนาคต จากการลงทุนในส่วนต่างๆ
“โครงสร้างพื้นฐานในสปป.ลาว จะต้องมีการลงทุนใหม่ๆ จากนโยบายเปิดประเทศ เพื่อหนีกับดักการเป็นประเทศด้อยพัฒนา ผมในฐานะนักธุรกิจก็มองว่า ธุรกิจนี้น่าจะตอบโจทย์ทางผลประโยชน์ระยะยาว และทุกอย่างก็เริ่มขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว”
ปัจจุบัน ธุรกิจของ Waddana มี 3 สาขา ครอบคลุมเส้นทางการค้า การลงทุน ในเวียงจันทน์ ซึ่งเขาและน้องชายตั้งใจว่า จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 10 แห่งภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ ซึ่งแต่ละสาขาที่ขยายไปจะมี 2 ขนาดคือ ไซส์กลางต้องมีพื้นที่ราว 2-3 เอเคอร์ และต้องใช้เงินลงทุนราว 200-300 ล้านบาท ส่วนสาขาขนาดใหญ่ จะมีพื้นที่ 5 เอเคอร์ และต้องใช้เงินราว 400 ล้านบาท
“อนาคตของสปป.ลาวกำลังจะเปลี่ยนไป เราต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับ ถามว่าอนาคตกับคนลาวจะเปลี่ยนอย่างไร ผมอาจตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่มุมคิดของผมคือ หากเราต้องการเติบใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผนระดมทุนเหมือนตลาดหลักทรัพย์ เหมือนเช่นตลาดทุนอื่นๆ ในโลกย่อมเป็นเส้นทางเรียนลัด เพียงแต่เจ้าของกิจการนั้นๆ จะคิดแบบใด และสำหรับเราก็มองโอกาสแบบนั้น ซึ่งผมคิดว่าสามารถจะประสบความสำเร็จได้”
Waddana ในวัย 40 ต้นๆ นับเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่กำลังวางจุดยืนของตัวเอง และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ หลังการเปลี่ยนไปของสังคมลาวที่เปิดรออนาคต ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในเวลาเดียวกัน