‘พรประภา’ ทุกภารกิจคือการเปลี่ยนแปลง

ภาพของตระกูล ‘พรประภา’ ในวันที่ทายาทรุ่น 3 จะต้องทำหน้าที่สานต่อธุรกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า แม้เลือดจะไม่เคยต่างสี แต่เมื่อสาแหรกของตระกูล ‘พรประภา’ ที่ฉายชัดถัดจากผู้ก่อตั้ง ดร.ถาวร พรประภา ผู้กรุยทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกว่า 60 ปีที่แล้ว เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากการนำเข้า และเริ่มสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ ก่อตั้ง บริษัท สยามกลการ จำกัด ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2495

แม้ดร.ถาวร ได้จากไปในปี 2544 ปิดตำนานผู้ก่อตั้ง แต่นั่นคือการก่อเกิดสร้างตำนานบทใหม่ให้กับทายาทรุ่นถัดมาได้เทคออฟธุรกิจของตระกูลให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

มาถึงทายาทรุ่น 2 คุณหญิงพรทิพย์ ตำนานของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘หญิงเหล็กของวงการธุรกิจ’ ที่ได้ร่วมบริหารสยามกลการ ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ฝ่าฟันมรสุมคลื่นลมธุรกิจมานับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะแยกตัวออกมาดูแลกิจการรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า และก่อตั้งอาณาจักร “เคพีเอ็น” กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนและการค้าลงทุน แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีจะเป็นสถาบันสอนดนตรีเคพีเอ็น ร่วมกับสามี ดร.เกษม ณรงค์เดช และมีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ กฤษณ์ ณรงค์เดช, ณพ ณรงค์เดช และกรณ์ ณรงค์เดช

โดยเฉพาะ กฤษณ์ ณรงค์เดช ที่รุกเต็มที่กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในนาม The Diplomat 39 คอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี ส่วนณพและกรณ์ ก็ทุ่มเทสานต่อสิ่งที่คุณหญิงพรทิพย์ผู้เป็นแม่กรุยทางสร้างทางไว้

ดร.ถาวร ยังมีทายาทหัวแก้วหัวแหวน ที่ชื่อ พรพินิจ ซึ่งฝ่าสงครามธุรกิจทั้งภายนอกและภายในตระกูลมาอย่างโชกโชน เข้ามากอบกู้สถานะในช่วงที่ ‘สยามกลการ’ ซึ่งกำลังมีปัญหาและเริ่มขาดทุน โดยหวังจะใช้ทักษะทางภาษาญี่ปุ่น และความคุ้นเคยกับคนญี่ปุ่นมาช่วยกันกอบกู้ธุรกิจของตระกูลร่วมกับพี่ๆ

พรพินิจต้องใช้ทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่ทั้งหมดในการบริหารงานสายการตลาดให้กับบริษัทสยามกลการ และยังต้องรับศึกทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ

หากแต่ศึกที่สำคัญและหนักหนาที่สุด ดูเหมือนจะเป็นศึกสายเลือด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดุเดือดมากจนสื่อมวลชนบางแห่งเปรียบเปรยว่าเป็น “สงคราม 3 ก๊ก” แห่งตระกูลพรประภา

ในวงล้อมของความขัดแย้งในครั้งนั้นพรพินิจ ใช้ความนิ่ง เข้ามาเป็นตัวกลางค่อยๆ ประสานความขัดแย้งในหมู่พี่น้อง ‘พรประภา’ เพื่อประคองให้ธุรกิจเดินหน้าได้ต่อไป สุดท้ายก็ลงเอยกันด้วยดี

เมื่อศึกภายในสิ้นสุด สยามกลการก็เริ่มเผชิญกับมรสุมของโลกาภิวัตน์ (คำล้ำสมัยในยุคนั้น) จนในที่สุดปี 2547 ‘พรเทพ’ ผู้พี่ในฐานะผู้จัดการใหญ่ก็ตัดสินใจขายหุ้นบริษัทให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเพิ่มอีก 50% เหลือหุ้นที่กลุ่มพรประภาถืออยู่เพียง 25% แลกกับเงินสดเกือบ 8,0000 ล้านบาท

วันนี้ทายาทรุ่น 3 ของพรพินิจ ซึ่งมีพี่ใหญ่อย่าง ประธานวงศ์ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ที่กำลังทุ่มเททุกสรรพกำลังในการดำเนินธุรกิจรถยก ภายใต้แบรนด์ Nissan Forklift by UniCarriers โดยมีน้องสาว ประธานพร พรประภา ที่เข้ามาเชื่อมต่อฝันของผู้เป็นพ่อในธุรกิจโรงแรม ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม แอท สยาม จำกัด

ในขณะที่น้องชายลำดับถัดมา ประนัย พรประภา มีบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารดูแลถึง 3 บริษัท ในธุรกิจศูนย์ซ่อมสีรถ, งานไอที และบริษัทร่วมทุนจัดงานอีเวนต์ ส่วนน้องคนสุดท้อง ประคุณ พรประภา

ทายาทรุ่น 3 ในตระกูล ‘พรประภา’ ที่แตกเหล่าแตกกอออกไป พวกเขาจะวางเข็มทิศธุรกิจหลักของตระกูลไปยังทิศทางใด และจะสร้างธุรกิจใหม่ๆ เดินไปกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยวิธีการใด นี่คือสิ่งที่ Business Plus พยายามที่จะเข้าไปค้นหาคำตอบ ภายใต้บริบทใหม่ของโลกธุรกิจที่แตกต่างไปจากคนรุ่นพ่อของพวกเขาที่ได้พยายามฝ่าฟันมาอย่างสิ้นเชิง…

สามเสือ แห่ง เคพีเอ็น กรุ๊ป

แม้ว่าพี่ใหญ่ทายาทคุณหญิงพรทิพย์ กฤษณ์ ณรงค์เดช จะควบรวมตำแหน่งประธานบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจทั้งกลุ่ม หากแต่วันนี้กฤษณ์พุ่งเป้าความสนใจไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ขณะที่น้องคนรอง ณพ ณรงค์เดช ประธานกรรมการบริหาร เคพีเอ็น กรุ๊ป ดูแลธุรกิจการศึกษา โรงเรียนสอนดนตรี โดยมี “กรณ์ ณรงค์เดช” น้องคนสุดท้อง นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท เคพีเอ็น อวอร์ด ดูแลธุรกิจบันเทิง ศิลปินฯ

บนเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงลิ่ว ที่จะผลักดันรายได้ให้ขึ้นมาแตะใกล้แสนล้านบาท!!…

คงให้ความสำคัญ ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการลงทุน (อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจการศึกษา (สถาบันดนตรีเคพีเอ็น, ติวเตอร์ฯ) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เน้นธุรกิจที่จะเป็นเสาหลักของกลุ่มไปยังธุรกิจการศึกษา และธุรกิจอสังหาฯ ที่มีผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง !!

จากนี้ไปคือการเน้นความชัดเจนเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย แสวงหาโอกาส คำถามคือด้วยวิธีการใด? เส้นทางบายพาสไปให้ถึงเป้าหมายก่อนใครคือ การซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) ที่จะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญ ที่จะให้ธุรกิจการศึกษาในแบรนด์เคพีเอ็นกลายเป็น ‘เสือติดปีก’

ไม่ใช่!! เพิ่งเริ่มคิดเริ่มทำ แต่ในธุรกิจการศึกษาภายใต้การกุมบังเหียนของน้องคนกลาง ณพ ณรงค์เดช ได้ใช้ยุทธศาสตร์ข้างต้นมาตั้งแต่สองปีที่ผ่านมาไปแล้วมากกว่า 10 ราย

ทำให้ที่ผ่านมาเคพีเอ็นบริหารธุรกิจติวเตอร์ทั้งสิ้น 105 สาขา และคาดว่าจะเพิ่มอีก 30 สาขาในปี 2558 ข้ามไปสู่การพัฒนาธุรกิจกีฬาในชื่อ “เคพีเอ็น อคาเดมี” โรงเรียนสอนกอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอลฯ

ขณะที่มีแผนจะขยายสาขาสถาบันสอนดนตรีอีกราว 10 สาขา จากปัจจุบันมี 60 สาขาแผนดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายภายใน 3-4 ปี ที่เคพีเอ็นจะเปิดสถาบันสอนดนตรีอีก 40 สาขา เพื่อให้ครบ 100 สาขา

ในยุครุ่งเรืองของสยามกลการ ภายใต้การบริหารงานของคุณหญิงพรทิพย์ได้มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้น ในการจัดกิจกรรมการจัดเวทีประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ ‘นิสสัน อวอร์ด’พร้อมกับจัดประกวดร้องเพลงในระดับยุวชน ในชื่อว่า ‘ยามาฮ่า อวอร์ด’ แต่คนส่วนใหญ่จะเรียกเวทีนี้ว่า ‘เวทีประกวดร้องเพลงสยามกลการ’ มาถึงปัจจุบันในชื่อ ‘เคพีเอ็น อวอร์ด’

ฝันไกลแต่ไปไม่ถึง!! ในยุคของคุณหญิงพรทิพย์ ที่ต้องการให้แบรนด์ เคพีเอ็น ไปไกลสู่แบรนด์โลก มาถึงรุ่น 3 ณพ ณรงค์เดช เตรียมสานฝันของแม่ผู้ล่วงลับ พร้อมแล้วที่จะผลักดันธุรกิจการศึกษา (สถาบันดนตรี) ‘KPN’ แบรนด์ไทยสู่แบรนด์ระดับภูมิภาค ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือกระทั่งฟิลิปปินส์ โดยมุ่งไปสู่แบรนด์โลกภายในปี 2563

เคพีเอ็นในสิงคโปร์ จะเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ที่เคพีเอ็นจะใช้เป็นโชว์รูมเบิกทางต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

เคพีเอ็น กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ออโต้พาร์ตและการลงทุน 40% อสังหาริมทรัพย์ 40% การศึกษา 20% โดยกลุ่มการศึกษามีการเติบโตสูง 40% คิดเป็นรายได้ 1,400 -1,500 ล้านบาท

อสังหาฯ เติมเต็มธุรกิจ ตระกูล ‘พรประภา’ ‘ณรงค์เดช’

ไม่ใช่เป็นการชิมลาง!! แต่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจและถึงเวลาที่จะนำแลนด์แบงก์ของครอบครัวสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการพัฒนา ‘The Diplomat Sathorn’ คอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์โครงการแรกที่ทาง เคพีเอ็น กรุ๊ป ส่งเข้ามาเจาะตลาดภายใต้ข้อมูลที่พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนย่านใจกลางเมืองยังคงมีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และเพื่อการลงทุนระยะยาว

ล่าสุดที่ดินผืนสุดท้ายในซอยสุขุมวิท 39 กฤษณ์ พี่ใหญ่ ภูมิใจกับที่ดินแปลงนี้ ซึ่งกว่าจะได้มาทีมงานต้องทำงานหนักเพื่อโน้มน้าวเจ้าของที่ดินเดิมให้ขายให้กับกับกลุ่ม เคพีเอ็น กรุ๊ป เพื่อนำมาขึ้นโครงการ ‘The Diplomat 39’ มูลค่าโครงการ 3.600 ล้านบาท ตั้งอยู่บนที่ดิน 2 ไร่ ในถนนสุขุมวิท 39 ราคาเริ่มต้น 15-185 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 280,000 บาท/ตารางเมตร (ตร.ม.)

ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘The Timeless Treasure’ ผสมผสานระหว่างโลกเก่า-โลกใหม่ โดยการประยุกต์ใช้ Palladian Architecture รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิกสไตล์อิตาลีกับความทันสมัยของโลกปัจจุบันเข้าด้วยกัน

โดยรูปแบบห้องพักประกอบด้วย ขนาด 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 54-60 ตร.ม., ขนาด 2 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 74-94 ตร.ม., ขนาด 3 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 134-193 ตร.ม., แบบดูเพล็กซ์ พื้นที่ใช้สอย 157-168 ตร.ม. และแบบเพนท์เฮ้าส์ พื้นที่ใช้สอย 135-450 ตร.ม. พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพักอาศัยอย่างครบครัน

“การที่บริษัทตัดสินใจเข้ามาพัฒนาโครงการในย่านสุขุมวิทเพราะเล็งเห็นว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์บนทำเลถนนสุขุมวิทนั้น มีโครงการในระดับซูเปอร์ลักชัวรียังไม่มากนัก อีกทั้งตลาดดังกล่าวยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีก ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาพรวมของระบบเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และปัจจัยลบจากต่างประเทศก็ตาม ทั้งนี้ เพราะลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นดีมานด์ที่มีอยู่จริง และมีกำลังซื้อสูงมาก ทำให้บริษัทตั้งใจพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา” กฤษณ์ กล่าวในวันเปิดตัวโครงการ

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจตลาดคอนโดฯในทำเลสุขุมวิทของบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CBRE พบว่า ตลาดคอนโดฯ ระดับบนในย่านใจกลางเมือง ได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดอสังหาฯ อื่นๆ เนื่องจากเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และกลุ่มนักลงทุนระยะยาวเป็นหลัก โดยในช่วงปลายปี 2557 มีคอนโดฯระดับบนจำนวน 5 โครงการ ที่สามารถขายได้ในราคาที่ทำลายสถิติสูงกว่า 300,000 บาท/ตร.ม

ด้วยราคาขายดังกล่าว เคพีเอ็น กรุ๊ป จึงต้องใส่ใจในรายละเอียดเรื่องการออกแบบ วัสดุ และเพื่อให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ซื้อระดับบน

ในปี 2558 จะเห็นการพัฒนาของสินค้าในรูปแบบที่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อและสอดคล้องกับราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการปรับมาตรฐานของคอนโดฯ ระดับบนไปสู่ระดับ World Class ในขณะที่ราคาของคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ในย่านเอเชียและยุโรป ก็ยังถือว่ามีช่องว่างในการปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในอนาคต

นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยของคอนโดฯใหม่ในย่านใจกลางเมือง ปรับขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 78,000-105,000 บาท/ตร.ม. เพิ่มเป็น 160,000-220,000 บาท/ตร.ม. โดยในย่านสุขุมวิทราคาเฉลี่ยปรับตัวขึ้นจากประมาณ 84,000 บาท/ตร.ม.เมื่อปี 2547 เพิ่มมาเป็น 180,000 บาท/ตร.ม.ในปัจจุบัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาที่ดินในย่านใจกลางเมืองที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กฤษณ์ ยังคงมีความมั่นใจในการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ก้าวต่อไปบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาโครงการในซีรีส์ของ เดอะ แคปิตอล บาย เคพีเอ็น (THE CAPITAL by KPN) สำหรับเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าระดับบี ถึง บี+และ เดอะ ดิโพลแมท บาย เคพีเอ็น (THE DIPLOMAT by KPN) สำหรับลูกค้าระดับเอขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 2-3 โครงการต่อปี โดยจะเน้นไพรมโลเคชั่นที่ใกล้กับสถานที่สำคัญ และรถไฟฟ้าทุกโครงการจะมีความโดดเด่นในด้านของการดีไซน์ และฟังก์ชันที่ครบครัน

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการกระโดดเข้ามาดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ “เคพีเอ็น กรุ๊ป” เพราะถึงแม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการด้วยประสบการณ์เพียง 3 ปี ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาก็สามารถสร้างผลงานได้อย่างแตกต่างและมีคุณภาพ และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง!!

‘พรประภา’ ทายาทรุ่น 3 สยามกลการ

ภายหลังจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยซานติอาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาบริหารธุรกิจ วันนี้ลูกชายคนโตของพรพินิจ พก-ประธานวงศ์ ผู้บริหารหนุ่มวัย 30 ปี เดินมาไกลโดยบริหารงานอยู่ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม, พีพีเอ็น มาร์เกตติ้ง จำกัด, สยามออโต้โมทีฟ อีควิปเมนต์, พีเอ็นเอ็น เรนทัล แอนด์ เซอร์วิส และพีเอ็นเอ็น โปรเฟสชั่นแนล โอเปอเรชั่น เซอร์วิส ซึ่งแต่ละบริษัทมีธุรกิจคล้ายๆ กัน โดยแยกธุรกิจออกมาเป็นเช่ารถ เชื้อเพลิง อะไหล่ แต่กิจการหลักๆ ของสยามกลการอุตสาหกรรม คือการขายรถยกแบรนด์นิสสัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

ธุรกิจที่ประธานวงศ์กำลังโฟกัสแบบ One by One คือธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยกของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ Forklift by UniCarriers รถยกในอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท และยังมีในธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งก็ใช้ฟอร์คลิฟต์ทั้งนั้น ในตลาดธุรกิจประเภทนี้ก็มีหลากหลายแบรนด์ แต่ Unicarriers เป็นแบรนด์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยกมานาน ซึ่งกำลังพยายามไล่จี้แบรนด์เจ้าตลาดอย่างโตโยต้าอยู่ในขณะนี้

“บริษัทที่ผมรับผิดชอบมีทั้งขาย ปล่อยเช่าบริหารคนขับ มีบริษัทที่แตกต่างอยู่บ้างก็คือ สยามออโต้โมทีฟ อีควิปเมนต์ ขายเครื่องมือในการซ่อมรถยนต์ทั่วไป ลิฟท์ยกรถ เครื่องมือเจียรจานเบรกไปถึงประแจ เครื่องมือทุกประเภทที่ใช้อยู่ในศูนย์บริการรถยนต์”

การวางน้ำหนักธุรกิจไปยังรถยก อดีตที่อยู่ภายใต้แบรนด์ Nissan Forklift by UniCarriers ที่ครอบคลุมทั้งรถยกภายในและภายนอก ให้บริการลูกค้าองค์กรใหญ่ เช่น บางบริษัทในเครือของ เอสซีจี บริษัทการบินไทย

คู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยก จากสหรัฐอเมริกา และยุโรป ขณะที่แบรนด์ญี่ปุ่นกินส่วนแบ่งตลาดรถยกทั้งโลกไม่ต่ำกว่า 70% แม้บางรายจะแข่งขันกันด้วยราคา แต่จุดได้เปรียบสำคัญของรถยก UniCarriers ซี่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนทางด้านเงินทุนนำมาซื้อ 2 แบรนด์คือ Nissan และTCM และรถยกติดอันดับ Top 5 เข้ามารวมกันเพื่อสร้างการถ่วงดุลทางด้านการแข่งขัน

“ผมสนุกกับหน้าที่ตรงนี้มาก เป็นความท้าทายในการทำธุรกิจในลักษณะของบิสิเนสทูบิสิเนส (B2B) ซึ่งแตกต่างจากแนวทางการบริหารจากคนรุ่นพ่อที่ใช้ความเก๋าในเกมธุรกิจมากกว่ารุ่นของผมที่มีความรู้ที่นำมาใช้ในการไตร่ตรองรายละเอียดได้อย่างรอบคอบ ซึ่งไม่ทำก็ไม่ได้เพราะองค์กรอื่นทำกันหมด”

ประธานวงศ์ ทายาทรุ่น 3 เข้มข้นในเรื่องของด้านการตลาดและการขาย ใส่ใจด้านบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้หน้างานของลูกค้าต้องสะดุดหยุดลง เพราะนั่นคือค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงินและเรื่องของเวลา นี่คือความแตกต่างที่เราพยายามทำให้ต่างจากแบรนด์อื่น

“สมัยรุ่นพ่อ รถยกมียอดขายต่อปีเริ่มต้นเพียง 20 คัน เพิ่มเป็นหลักร้อยคัน โดยก่อนที่ผมจะเข้ามาบริหารมียอดขายประมาณเกือบ 500 คัน วันนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 700 คัน แม้จะตามผู้นำตลาดรถยกจากโตโยต้าอยู่กว่าเท่าตัว ที่มีความได้เปรียบขนาดกำลังการผลิตที่ออกมาเป็นจำนวนมาก จึงขายสินค้าได้ถูกกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญคือ การที่ UniCarriers Asia เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ดูแลตลาด 9 ประเทศในภูมิภาค โดยสนับสนุนเรื่อง โปรดักต์เทรนนิ่ง และเรื่องของราคาที่มีความยืดหยุ่นในรูปแบบของพันธมิตรทางธุรกิจ”

ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จึงเป็นมากกว่าการรีแบรนด์ Forklift by UniCarriers ที่ประธานวงศ์บอกว่า ต้องพยายามใช้ทุกสรรพกำลังโดยเฉพาะเครื่องมือด้านการตลาด และการขายสลัดให้หลุดจากภายใต้เงาของแบรนด์ Nissan ให้ได้

จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้วันนี้ ประธานวงศ์บอกว่า “ผมเต็มที่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยความสนุกในทุกๆ วัน…”

‘พรพินิจ พรประภา’ ผู้เป็นตำนานโรงงานผลิตรถยนต์สยามกลการ แม้จะศึกษาจบมาทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่น แต่ได้ถูกเรียกตัวเข้ามากอบกู้สถานะในช่วงที่ ‘สยามกลการ’ ซึ่งกำลังมีปัญหาและเริ่มขาดทุน โดยหวังจะใช้ทักษะทางภาษาญี่ปุ่น และความคุ้นเคยกับคนญี่ปุ่นมาช่วยกันกอบกู้ธุรกิจของตระกูลร่วมกับพี่ๆ

ลูกสาวคนที่สอง เอ็ม-ประธานพร เข้ามาเชื่อมต่อความฝันของผู้พ่อพรพินิจ ด้วยการเรียนจบจาก Glion Institute of Higher Education สถาบันการโรงแรมอันดับต้นๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาบริหารงานในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม แอ็ท สยาม จำกัด

โรงแรมในเครือสยาม แอ็ท สยาม ทั้งหมด 4 โรงแรม ประกอบด้วย โรงแรมสยามแอ็ทสยาม ดีไซน์ โฮเต็ล แอนด์ สปา กรุงเทพฯ โรงแรมโหมด สาทร โฮเต็ล เมเนจ บาย สยามแอ็ทสยาม โรงแรมคราว ลันตา จ.กระบี่ และล่าสุด โรงแรมสยามแอ็ทสยาม ดีไซน์ โฮเต็ล พัทยา ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นสยามแอ็ทสยาม คือ Industrial Hotel

ขณะที่น้องคนที่สาม นัย-ประนัย ภายหลังจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้แยกตัวออกมาสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ มีบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารดูแลถึง 3 บริษัท และดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เอสแบรนด์ จำกัด (ศูนย์ซ่อมสีรถ), บริษัท โคเดียม ทำแอพพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือและเว็บไซต์  มีหน้าที่ดูแลเรื่องครีเอทีฟและการตลาด สำรวจตลาด ความต้องการของลูกค้า ตามด้วยธุรกิจล่าสุดที่ร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติ บริษัท เอ็กซ์ซีด สปอร์ต แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ธุรกิจจัดงานอีเวนต์ โดยมีออฟฟิศตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกงและไทย ส่วนน้องคนสุดท้อง เช้า-ประคุณ เพิ่งเริ่มต้นเข้าไปดูแลบริษัทท่องเที่ยวในกลุ่มธุรกิจของผู้พ่อ-พรพินิจ

ทายาทรุ่น 3 ที่สร้างตัวตั้งต้นมาจากตระกูล ‘พรประภา’ ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปจากเสาหลักธุรกิจที่มีอยู่แต่เดิม ความท้าทายครั้งสำคัญที่พวกเขาจะอยู่ภายใต้บริบทใหม่ของโลกธุรกิจที่แตกต่างไปจากคนรุ่นพ่อของพวกเขา ที่ได้พยายามฝ่าฟันสร้างธุรกิจจากอดีตมาแล้วอย่างสิ้นเชิง…