เปิดงบแบงก์ใหญ่ ไตรมาส 2/2565 กำไรใครปังสุด?!

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ได้ทยอยประกาศกันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา โดย Business+ ได้รวบรวมข้อมูลผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ จำนวน 7 แห่ง โดยจะเรียงจากธนาคารที่ทำกำไรสูงที่สุดประจำไตรมาส 2/2565 ดังนี้

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK  มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 จำนวน 10,794 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 2,484 ล้านบาท หรือ 12.72% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 8,894 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 22,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 2,484 ล้านบาท หรือ 12.72% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 5,913 ล้านบาท หรือ 10.22% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร และการให้สินเชื่อสนับสนุนให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการทั้งในและต่างประเทศ

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์) มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 จำนวน 10,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,236 ล้านบาท หรือ 14% จากไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 8,815 ล้านบาท ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 22,764 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 26,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาส 2/2564 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้และการมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 20,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากจำนวน 18,902 ล้านบาท ในงวด 6 เดือนแรกปี 2564 โดยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 8,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,347 ล้านบาท หรือ 39% จากไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 6,011 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมที่ขยายตัว 2.1% ทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของสินเชื่อ และการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในภาพรวม ส่งผลให้ Cost to Income Ratio เท่ากับ 42.48% ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับคงที่จากไตรมาส 2/2564

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 17,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัว 4.9% จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย รวมถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับ 2.50% ประกอบกับาการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดี รวมถึงค่าใช้จ่ายตามฤดูกาล ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลง 0.7% โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับ 41.86% ลดลงจาก 43.33% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ทั้งนี้ KTB และบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 31% แต่ยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ 174.3% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 6,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 604 ล้านบาท หรือ 9.5% จากไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 6,357 ล้านบาท และในงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.9% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 3,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 904 ล้านบาท หรือ 35.6% จากไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 2,534 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 6,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.7% จากงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 5,316 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 7,262 ลดลง 4.4% จากไตรมาส 2/2564 เช่นเดียวกับในงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 14,249 ล้านบาท ลดลง 9.8% จากงวด 6 เดือนแรกของปี 2564

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565  จำนวน 2,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 679 ล้านบาท หรือ 50.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 1,354 ล้านบาท และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวมจำนวน 1,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาส 2/2564 โดยหลักมาจากในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจการให้สินเชื่อตามการขยายตัวของสินเชื่อ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองยังคงปรับลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% จากครึ่งแรกของปี 2564 และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวมเท่ากับ 3,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากงวด 6 เดือนแรกของปี 2564

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 จำนวน 1,848.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182.38 ล้านบาท หรือ 10.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 1,666 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภค บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” ตามแผนการขยายสาขา ประกอบกัยธุรกิจนายหน้าประกันภัยสามารถฟื้นตัวได้ดีที่ 20.2% เป็นไปตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ปรับตัวลดลง ตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 3,643.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 214.24 ล้านบาท หรือ 6.2% จากงวด 6 เดือนของปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่เติบโต 4.5% จากสิ้นปี 2564 การฟื้นตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่เพิ่มขึ้น 16% จากงวด 6 เดือนปี 2564 รวมถึงค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ลดลง 83.9% ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น

.

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
.
ที่มา : SET
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธนาคารพาณิชย์ #กลุ่มแบงก์ #งบธนาคาร #งบกลุ่มแบงก์