ตลาดแม่และเด็ก

ทำไม ‘ตลาดสินค้าเด็ก’ ในจีนยังเติบโต แม้จำนวนคนเกิดลดลง

หากพูดถึงประเทศที่มีประชากรอยู่มากที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้น ‘ประเทศจีน’ แม้ว่าในปี 2565 ประชากรจีนจะลดลง 8.50 แสนคน มาอยู่ที่ 1.41 พันล้านคนก็ตาม ซึ่งถือเป็นการลดลงของประชากรครั้งแรกในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ปี 2504 ที่เป็นปีสุดท้ายของภาวะอดยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน

โดยจากจำนวนประชากรทั้งหมด 1.41 พันล้านคน มีประชากรเกิดใหม่เพียง 9.56 ล้านคน ขณะที่เสียชีวิต 10.4 ล้านคน เรียกได้ว่าอัตราการเสียชีวิตได้แซงหน้าอัตราการเกิดใหม่อย่างแท้จริง

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ‘ยุคแห่งการเจริญเติบโตทางประชากรเชิงลบ’ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจาก ‘นโยบายลูกคนเดียว’ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2522 และเพิ่งมีการยกเลิกไปเมื่อ 7 ปีก่อน ทั้งนี้จากผลสำรวจอ้างอิงข้อมูลจากสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชากรจีนจะลดลง 109 ล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ในปี 2562 ถึง 3 เท่า ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตช้าลง

ซึ่งการที่จำนวนเกิดน้อยกว่าจำนวนการเสียชีวิต ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคตจีนอาจจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแล้ว เนื่องจากในตอนนี้จำนวนประชากรของประเทศอินเดียไม่ได้ทิ้งห่างส่วนต่างจำนวนประชากรของจีนมากนัก ซึ่งตอนนี้อินเดียมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 1.40 พันล้านคน

อย่างไรก็ตามถึงแม้อัตราการเกิดจะลดลงแต่มูลค่าตลาดสินค้าแม่และเด็กยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะว่า ปัจจุบันมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตมีการพัฒนา อีกทั้งอัตราการจ้างงานในผู้หญิงมีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต โดยจากข้อมูลสถาบันอุตสาหกรรมแม่และเด็กจีน ระบุว่า แนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็กในจีนปี 2566 คาดจะมีมูลค่าจะทะลุ 4 ล้านล้านหยวนได้ เนื่องจากคุณแม่ยุคหลัง 90s จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กเฉลี่ย 21-50% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนในแต่ละเดือน และพฤติกรรมการซื้อก็จะเน้นของที่มีคุณภาพถึงแม้จะจ่ายแพงกว่าเล็กน้อยก็ตาม

นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากผู้ปกครองมีความตระหนักรู้ด้านโภชนาการรวมถึงการเจริญเติบโตโดยรวมของทารกมากขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคของทารกเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมบริโภคเพียงแค่นมเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการบริโภคอาหารเสริมเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างอาหารของทารกมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่คุณแม่ยุคใหม่นิยมกันมากก็คือ ‘วิตามิน’ เพื่อหวังจะให้เข้ามาช่วยเสริมคุ้มกันและวิวัฒนาการของลูกน้อย

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศแล้ว จะเห็นว่าตลาดอาหารเสริมสำหรับทารกในจีนถือกำเนิดขึ้นช้ากว่า จึงทำให้แบรนด์ต่างประเทศเป็นผู้ครองส่วนแบ่งหลักของตลาดอาหารเสริมสำหรับทารกในจีน อาทิ แบรนด์ Gerber, แบรนด์ LittleFreddie และแบรนด์ Heinz

แต่หลายปีที่ผ่านมา ก็พบว่ามีแบรนด์อาหารเสริมสำหรับทารกของจีนเกิดขึ้นจำนวนมากและได้รับการตอบรับที่ดี อาทิ แบรนด์ Qiutianmanman, แบรนด์ baobaochanle, แบรนด์ Mixiaoya, แบรนด์ woxiaoya, แบรนด์ Three Squirrels และแบรนด์ Bestore ส่งผลทำให้ตลาดอาหารเสริมสำหรับทารกในจีนมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น

สำหรับผู้เล่นรายใหญ่ที่เป็นแบรนด์ระดับโกลบอลที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ ‘เนสท์เล่’ (Nestlé) สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแค่ขายสินค้าในจีน แต่ยังมีการตั้งฐานการผลิตสินค้าในจีนด้วย เพื่อผลิตอาหารเสริมทารกแบบซอง ภายใต้แบรนด์ Gerber โดยผลิตภัณฑ์ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน สำหรับในปี 2562 ทาง ‘เนสท์เล่’ ครองส่วนแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แม่และเด็กในตลาดโลก อยู่ที่ 20%

ทั้งนี้หากมองในมุมการเข้าร่วมชิงส่วนแบ่งตลาดอาหารเสริมสำหรับเด็กและทารกของจีนในอนาคต ก็ถือเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตอาหาร โดยได้รับการยอมรับระดับโลกถึงการเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ซึ่งไทยมีวัตถุดิบมากมายให้เลือกสรรในการทำอาหารอย่างพิถีพิถัน และในทุกวัตถุดิบก็มีรสชาติที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

อีกหนึ่งความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยก็คือจีนกับไทยเป็นพันธมิตรคู่ค้ากันมาช้านาน ซึ่งการที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปขยายตลาดอาหารเสริมสำหรับเด็กและทารกนั้นอาจไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด โดยอาจเป็นการขยายผ่านการตลาดออนไลน์ควบคู่ไปกับการหาคู่ค้าในตลาดออฟไลน์ พร้อมทั้งใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่เหมาะสม รวมถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยส่งผลให้สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอาหารเสริมสำหรับเด็กและทารกในจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

ที่มา : fic, ditp, fortunebusinessinsights

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #แม่และเด็ก #ทารก #อาหารเด็ก #สินค้าเด็ก