ARIP กับ Business Model ใหม่ ที่เป็นมากกว่า “Commart”

หากเอ่ยชื่อ บมจ.เออาร์ไอพี (ARIP) หลายคนอาจคุ้นชินกับภาพการเป็นผู้จัดงานคอมมาร์ต “Commart” มาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งตลอดระยะเวลา 19 ปี งานคอมมาร์ตถือว่าเป็นงานอีเวนต์หนึ่งเดียวที่ตอบโจทย์ธุรกิจสินค้าไอทีแบบครบวงจร

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชื่อของบมจ.เออาร์ไอพี ได้ปรากฏบนสื่อมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสดิจิทัลที่เข้ากระทบต่อทุกธุรกิจ

เช่นเดียวกับบมจ.เออาร์ไอพี ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่ “เอื้อมพร ปัญญาใส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศปรับทิศทางธุรกิจใหม่ โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Marketing Service Provider

และเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจต่อการเปลี่ยนตัวเองให้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เราได้รับเกียรติจาก “เอื้อมพร ปัญญาใส” ที่สละเวลามานั่งพูดคุยถึงทิศทางใหม่ ซึ่งประกอบด้วยสายธุรกิจ Content Provider, Event Organizer และ Digital Marketing (Online Service Platform) รวมไปถึงทิศทางการจัดงานของคอมมาร์ต ที่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานไปยังศูนย์ประชุมไบเทคบางนา

“Commart” 2019 บ้านใหม่ คอนเซ็ปต์ใหม่ กับทีมงานหน้าเก่าที่เก๋าประสบการณ์

จุดเริ่มธุรกิจของบมจ.เออาร์ไอพี คือ ใช้ความเชี่ยวชาญด้าน Content เพื่อสร้าง Owned Media กับกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และสายธุรกิจ เศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาค

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และในส่วนของอุตสาหกรรมก็ปรับ Form Factor ไปสู่ IoT, AI

เช่นเดียวกับงานคอมมาร์ต ซึ่งในปี 2019 จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 19  ก็จะย้ายการจัดงานไปยังศูนย์ประชุมไบเทค บางนา

“ไฮไลต์สำคัญของงานครั้งนี้ นอกเหนือจากสถานที่ที่เปลี่ยนไปแล้ว แนวคิดและรูปแบบการจัดงาน บมจ.เออาร์ไอพี ต้องการจะยกระดับงานให้เป็น Trend Setter”

นี่คือคำพูดของเอื้อมพร ที่สะท้อนถึง Strategic Move ครั้งสำคัญของงานคอมมาร์ต ซึ่งจะแบ่งการนำเสนอธีมคอนเซ็ปต์ในครั้งแรก คือ

Commart Connect โดยใช้คอนเซ็ปต์ของการเชื่อมต่อ Activity, Commart Joy คือความสนุกสนานและเน้นไปที่กิจกรรมกีฬา E-Sport และ Commart Work

โดยกลยุทธ์ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานคอมมาร์ตในปีนี้ ผู้บริหารมองว่า “เราไม่สามารถเติบโตคนเดียวได้อีกต่อไป แต่ต้องเดินไปพร้อม ๆ กับพันธมิตร โดยมีการเปิดโซน Digital Pavilion ที่มีพันธมิตรต่าง ๆ นำเสนอ Used Case Solution มาจัดแสดงเพื่อ Educate ตลาดที่ผู้บริโภคต้องรู้ รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ” เอื้อมพร กล่าวพร้อมระบุว่า

ความร่วมมือกับคู่ค้าหรือพันธมิตรรายใหม่ ๆ ผ่านการนำเสนอไอเดีย คอนเซ็ปต์ เพื่อหวังสร้างคุณค่าร่วมกับพันธมิตร ตัวอย่างเช่น ในงานคอมมาร์ตก็มีโซนพิเศษชื่อว่า “WE YOUNG ฒันสมัย” เพื่อขยายกลุ่มไปยังวัยผู้ใหญ่ ให้มาสัมผัสเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ยุค Ageing Society และร่วมทำกิจกรรมสนุก ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น”

ส่วนความท้าทายของงานคอมมาร์ต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะย้ายการจัดงานไปยังศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ซึ่งผู้จัดบอกว่า ได้เตรียมแผนประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มแฟนของคอมมาร์ตที่อาจกังวลในเรื่องของการเดินทาง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ในพื้นที่โดยรอบศูนย์ประชุมไบเทค บางนา

ปรับทัพสู่แพลตฟอร์มออนไลน์

ไม่เพียงแต่คอมมาร์ตเท่านั้นที่มีกิจกรรมทางการตลาดคึกคักมากเป็นพิเศษ แต่เออาร์ไอพียังเป็นผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มีโพรดักต์ในมือหลากหลาย

อย่างนิตยสารธุรกิจ BUSINESS+ นิตยสารการตลาดสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ได้มีฟังก์ชันแค่การเป็น Media มิติเดียวอีกต่อไป

แต่ได้มีการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งจัดงานสัมมนาควบคู่เพิ่มเติม โดยถือว่าในเชิงกลยุทธ์การตลาดของสื่อนิตยสาร เป้าหมายคือ เพื่อสร้างบริการ Convergence Media ที่ครอบคลุมทั้ง On Print, On Ground และ Online

นอกจากนี้ ยังมีนิตยสารเล่มพิเศษในแต่ละไตรมาส รวมไปถึงงานอีเวนต์ใหญ่อย่าง THAILAND TOP COMPANY AWARDS สุดยอดองค์กรแห่งปี ในขณะที่นิตยสาร ELEADER และ COMTODAY ได้มีการปรับตัวไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ


Digital Marketing ดาวดวงใหม่เออาร์ไอพี

อย่างที่บอกว่าเส้นทางใหม่เออาร์ไอพี คือ การเป็น Marketing Service Provider ซึ่งหัวใจของกลยุทธ์นี้จะประสบความสำเร็จมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการสร้างเนื้อหา (Content) ให้เกิดมูลค่าสูงสุดในสายตาลูกค้า

ซึ่งผู้บริหารมองว่าด้วยประสบการณ์การทำ Content ทั้งด้าน IT และธุรกิจที่ยาวนานกว่า 25 ปี เออาร์ไอพีย่อมมีโอกาสต่อยอดความเชี่ยวชาญด้าน Content เพื่อสร้าง Owned Media ของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นบทความยาวใน Website เพื่อรองรับ SEO Content สั้น ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้าง Engagement ซึ่งนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของบริการใหม่จากเออาร์ไอพีที่เรียกว่า Digital Services ในปี 2558″

ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของเออาร์ไอพี เป็นลูกค้าที่มีสินค้าหรือบริการ ซึ่งผ่านช่วงการสร้างการรับรู้ (Awareness) ไปแล้ว เช่น สินค้า IT หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า โจทย์ของลูกค้าจึงเปลี่ยนจากการรับรู้ในแบรนด์มาเป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้า ซึ่งแน่นอนว่าตัวชี้วัดจากเดิมที่เป็นการวัดจำนวน Engagement ที่เกิดขึ้น งบประมาณด้านการตลาดจึงต้องวัดได้จากยอดขาย หรือผลตอบแทนจากกิจกรรมการตลาดนั้น ๆ (Return on Investment : ROI) แทน

“ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน IT ที่เป็นทุนเดิมของบริษัท เราจึงสามารถให้บริการในลักษณะนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความเพื่อจูงใจผู้บริโภคในนามของสื่อ ที่เราเรียกว่า Advertorial รวมไปถึงการปิดการขายด้วยการทำระบบแจก eCoupon หรือ Code ส่วนลดต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การซื้อสินค้า พร้อมรายงานยอดขายได้แบบ Real-time ปี 2562 ถือเป็นปีที่ 4 ของธุรกิจ Digital Services ที่มียอดขายเติบโตมากกว่า 100% ทุกปี ถึงแม้รูปแบบและช่องทางการสื่อสารจะเปลี่ยนไป แต่ Content ยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการนำสารจากผู้ให้ไปยังผู้รับเสมอ โอกาสจึงยังคงเป็นของเราอยู่ในฐานะ Marketing Digital Agency ที่มีสื่อเป็นของตัวเอง”


WISIMO แพลตฟอร์มเรือธง มาเหนือทุก BU

WISIMO คือ eLearning Solution ซึ่งแพลตฟอร์ม e-Learning เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การ Transform ธุรกิจของบริษัทฯ ที่ไม่ได้ขายเพียง LMS (Learning Management System) Platform แต่เป็นการผสม Courseware ที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนทำงานในทุก ๆ องค์กร โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เพื่อส่งมอบเนื้อหาบทเรียนที่แตกต่าง

“เราเชื่อว่า Content คือส่วนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนสนใจและเข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ ทั้งนี้ เนื้อหาบทเรียนที่สร้างขึ้นจะเป็นลักษณะ Competency-based Learning ระบบ Learning Management System (LMS) ที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้กันจะเป็น Platform ที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้กับสถาบันการศึกษา การรายงานผลต่าง ๆ จึงส่งไปยังครูผู้สอนที่เป็นเจ้าของวิชา ซึ่งสำหรับองค์กรแล้วผลการเรียนควรจะส่งไปยังหัวหน้างานกับฝ่ายพัฒนาบุคลากร แต่ WISIMO ถูกออกแบบโครงสร้างการบริหารผ่านสายการบังคับบัญชา (Line of Command) จึงทำให้การรายงานผลการเรียนถูกส่งไปยังหัวหน้างานโดยตรง”

นอกจากระบบบริหารจัดการการเรียนรู้แล้ว WISIMO ยังรองรับการสร้าง Knowledge Base สำหรับองค์กรที่ต้องการให้บุคลากรสร้างองค์ความรู้ เพื่อแบ่งปันและนำไปสู่องค์กรให้การเรียนรู้ นอกจาก Platform และ Courseware แล้ว ในอนาคตอันใกล้ WISIMO จะมีเครื่องมือที่ช่วยให้ฝ่ายพัฒนาบุคลากรสร้างเส้นทางพัฒนาบุคลากรในองค์กรได้ตามสมรรถนะ (Competency) ที่องค์กรต้องการในแต่ละตำแหน่ง รวมไปถึงการพัฒนาโดยใช้ AI เข้ามาช่วยบริหารการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สุดท้าย “เอื้อมพร” บอกถึงความท้าทายของเออาร์ไอพีว่า “แม้ผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคและ Landscape ของสื่อที่เปลี่ยนไป แต่แผนธุรกิจใหม่ที่เกิดจากแนวคิดผสมผสานจุดแข็งเดิม จากนั้นพัฒนาให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ นอกเหนือจากจะสร้างความต้องการใหม่ ๆ และตลาดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ก็ต้องบอกว่าในอนาคตอันใกล้ภาพใหม่ของเออาร์ไอพีจะทันทุกสถานการณ์ แม้โลกจะเปลี่ยนไปไวเท่าไรก็ตาม

“ปัจจุบันธุรกิจอีเวนต์ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้หลักให้องค์กร เพราะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่า รายได้ที่จะรับรู้จาก Digital Services และ WISIMO อาจมากกว่าธุรกิจอีเวนต์เสียอีก”