เปิด 2 ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้ ‘อมรินทร์’ ก่อนเปลี่ยนสู่มือ ‘เจ้าสัวเจริญ’

กลางเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ AMARIN ได้เทขายหุ้นทั้งหมด ให้กับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ‘เจ้าสัวเจริญ’ เจ้าของธุรกิจเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งในเครือ TCC Group กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ อมรินทร์ กรุ๊ป

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่นี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของทิศทางธุรกิจต่อจากนี้อย่างมากมาย เพราะภายหลังการทำรายการ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด จะเข้ามาควบคุมแผนธุรกิจจากการถือหุ้น 13.86% (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1) ซึ่งล่าสุดเราได้เห็นการลาออกจากตำแหน่งของผู้บริหารจากตระกูล ‘อุทกะพันธุ์’ ซึ่งเป็นตระกูลผู้ก่อตั้งอมรินทร์ เท่ากับว่าเป็นการเปิดทางให้กลุ่มใหม่เข้ามาบริหารเต็มตัว

โดยจุดกำเนิดของ อมรินทร์ มาจากการการผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ซึ่งตีพิมพ์ฉบับแรก และออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน 2519 ซึ่งในช่วงแรกเป็นการอาศัยการพิมพ์จากโรงพิมพ์ภายนอก และได้พัฒนาจนสามารถก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรินทร์การพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง และยังรับจ้าง งานพิมพ์อื่น มาจนถึงวันนี้มีผลงานที่โดดเด่นมากมาย ด้วยตัวอย่างผลงานโดดเด่นอย่าง บ้านและสวน, แพรว, ชีวจิต, National Geographic ภาษาไทย, ร้านหนังสือนายอินทร์ และยังพัฒนาจนมีธุรกิจอื่นที่สร้างรายได้สูงไม่แพ้กัน นั่นคือ ธุรกิจจัดงานแสดง ผลิตและให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์

และวันนี้ ‘Business+’ จะพามาดูโครงสร้างรายได้จาก 2 ธุรกิจหลักๆ ที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มอมรินทร์ โดยผลประกอบการในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) หากแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักจะมีธุรกิจผลิตงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ โดยในส่วนนี้สร้างรายได้ให้กับอมรินทร์จำนวน 417.05 ล้านบาท

โดยมีสำนักพิมพ์ในเครือ :  16 สำนักพิมพ์ ดังนี้

  • แพรวสำนักพิมพ์ : วรรณกรรมไทยและวรรณกรรม แปลจากทั่วโลก
  • สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน : วรรณกรรมเยาวชนทั้งไทย และแปลจากทั่วโลก
  • สำนักพิมพ์พิคโคโล : รสชาติเล็กๆ ระหว่างบรรทัดของนิยายแนวอบอุ่นหลากหลายรสชาติจากทั่วโลก
  • สำนักพิมพ์สปริงบุ๊คส์ : หนังสือความเรียงและจิตวิทยาที่จะทำ ให้คุณกระโดดสูงขึ้น
  • สำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู : หนังสือแปลแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเอง
  • สำนักพิมพ์ชอร์ตคัต : หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ให้เส้นทางที่ชัด ตัดตรงสู่เป้าหมาย จากนักเขียนหรือคนดังของไทย
  • สำนักพิมพ์โซเฟีย : ความรักในความรู้จากหนังสือสาระความรู้ วิชาการที่น่าสนใจ
  • สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ : หนังสือดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพราะสุขภาพที่ดีคือของขวัญและพลังอำนาจ
  • สำนักพิมพ์อมรินทร์คิดส์ : หนังสือสำ หรับเด็กและคู่มือพ่อแม่ อาณาจักรแห่งการเรียนรู้และจินตนาการ
  • สำนักพิมพ์อรุณ : นวนิยายรักโรแมนติกทั้งจีนและไทยยิ่งอ่านยิ่งอบอุ่นหัวใจ
  • สำนักพิมพ์โรส : นิยายวายไทยและนิยายวายแปลจากเอเชีย แซบสุดฟินสุดไปกับงาน Boy’s Love ที่คัดสรรมาแล้วว่าฮอตทุกหน้า
  • สำนักพิมพ์เลวอน : ก้าวผ่านจินตนาการกับนิยายแฟนตาซีเกาหลีชั้นเลิศ คัดสรรแต่งานที่สนุกที่สุดมันที่สุด ตื่นตาตื่นใจที่สุดเพื่อคุณ
  • สำนักพิมพ์พีโอนี : นิยายแปลรายตอนจากเกาหลีดินแดนแห่งความรักใสๆ ผสานแฟนตาซี
  • สำนักพิมพ์ไพน์ : นิยายแปลรายตอนแนวกำลังภายในสืบสวนระทึกขวัญ ผจญภัย และแฟนตาซี สำหรับคอบู๊และผู้รักความท้าทาย
  • สำนักพิมพ์คาเมลเลีย : นิยายรักรายตอนแปลร้อนๆ จากจีน อิ่มเอมทุกเรื่องราวความรักแบบทันใจ
  • สำนักพิมพ์ไลแลค : นิยายวายแปลรายตอนจากจีนและเกาหลี สำหรับคอ Boy’s Love โดยเฉพาะ

โดยจากสำนักพิมพ์ทั้งหมดมีผลงานที่โดดเด่นในปี 2565 ดังนี้

  • มุมมองนักอ่านพระเจ้า เล่ม 1
  • แค่โอบกอดตัวเองให้เป็น
  • ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก
  • บ้าน 100 ชั้นบนต้นไม้
  • ฮัสกี้หน้าโง่กับอาจารย์เหมียวขาวของเขา เล่ม 10
  • โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ
  • เชิญร่ำ สุรา เล่ม 1
  • สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”
  • ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์
  • ร้านขนมแห่งความลับ ตอนความลับแห่งวัยเยาว์

อีกหนึ่งธุรกิจคือ ธุรกิจจัดงานแสดง ผลิตและให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 สร้างรายได้ทั้งหมด 273.33 ล้านบาท ตัวอย่างงานอีเวนท์เช่น งานบ้านและสวนแฟร์ , AMARIN EXPO 2023 และยังมีธุรกิจสื่ออย่าง อมรินทร์ทีวี 34 เอชดี รวมไปถึงมีแพลตฟอร์มออนไลน์ www.amarintv.com ,34 เอชดี แอปพลิเคชัน

Amarin

ทั้งนี้หากพูดถึงผลประกอบการของ AMARIN ในปี 2566 ถือว่ามีทิศทางที่ค่อนข้างดี ด้วยรายได้ครึ่งปีแรก 1,982.58 ล้านบาท (6 เดือนของปี 2566) เมื่อเทียบกับปี 2565 ‘อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์’ มีรายได้รวม 474.37 ล้านบาท เติบโต 52% จากปี 2564และในช่วงครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 128.48 ล้านบาท

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET , AMARIN

ติดตาม Business+ ได้ที่ :https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business # AMARIN