Alcohal

ตลาด ‘น้ำเมา’ ปีนี้เดือด! ค่ายใหญ่ร่วมศึกชิงส่วนแบ่ง ‘เหล้า-เบียร์’ คาดมูลค่าตลาดในไทยปีนี้โตทะลุ 5 แสนล้าน

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเชิงพาณิชย์ของไทย โดยภาครัฐได้มีการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในยุคแรกเริ่มรัฐเป็นผู้ผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุรา แต่ถัดมาในปี 2543 รัฐได้เปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราจึงทำให้มีการลงทุนโรงสุราอีกหลายแห่ง

รวมทั้งเริ่มมีการผลิตเบียร์ในไทย ซึ่งมีทั้งแบบร่วมทุนกับแหล่งทุนไทยเอง และร่วมทุนกับต่างชาติเป็นบริษัทข้ามชาติ จึงทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการขยายตัวและสามารถผลิตได้หลากหลายประเภททั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่าถึง 490,680 ล้านบาท ขยายตัว 8.9% จากปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายในไทยมี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เบียร์ (Beer), สุรา (Spirit) และไวน์ (Wine) โดยเบียร์ครองส่วนแบบตลาดสูงสุด 55% ของมูลค่าการจำหน่ายในประเทศ รองลงมาได้แก่ สุรา 37% และไวน์ 7%

ซึ่งเบียร์ที่จำหน่ายในไทยส่วนใหญ่กว่า 99% อยู่ในกลุ่มเบียร์ลาเกอร์ (Lager Beer) รองลงมา คือ เบียร์ดำ (Dark Beer) และเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ (Non Alcoholic Beer) โดยเบียร์ลาเกอร์ที่จำหน่ายในไทย ได้แก่ เบียร์สิงห์ (SINGHA), เบียร์ลีโอ(LEO), เบียร์ช้าง ( Chang), ไฮเนเก้น (Heineken) และบัดด์ไวท์เซอร์ (Budweiser) เป็นต้น โดยในปี 2565 เบียร์ลาเกอร์ มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 262,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% จากปีก่อน

ขณะที่เบียร์ดำ มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 6,897 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% จากปีก่อน ส่วน เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ มีมูลค่าการจำหน่าย 24.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีก่อน

สำหรับสุรา พบว่า สุรากลั่นชุมชน แบรนด์รวงข้าว มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 30.9% รองลงมา ได้แก่ สุรากลั่นสี ซึ่งหงษ์ทอง มีสัดส่วน 11.4%, เบลนด์ 285 มีสัดส่วน 11.2%, รีเจนซี่ มีสัดส่วน 3.6%, แสงโสม มีสัดส่วน 3% และ แม่โขง มีสัดส่วน 2.5% โดยในปี 2565 มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 182,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อน

ส่วนไวน์ที่ได้รับความนิยมในไทยกว่า 93% คือ ไวน์องุ่น ประกอบไปด้วยไวน์แดง อยู่ที่ 80.1% ของปริมาณการจำหน่ายทั้งหมดในตลาด รองลงมาได้แก่ ไวน์โรเซ่ (Rosé Wine) อยู่ที่ 0.4% และ ไวน์ขาว (White Wine) อยู่ที่ 12.4%

อย่างไรก็ดีในปี 2566 คาดว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย จะมีมูลค่า 5.32 แสนล้านบาท ขยายตัว 8.4% จากปีก่อน และจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 4 ปีข้างหน้า คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.9% ต่อปี

ทั้งนี้ในปัจจุบันความหลากหลายทางแบรนด์เครื่องดื่มมีเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งคราฟท์เบียร์ และเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ที่เป็นกระแส จนนำไปสู่การปลดล็อกให้ผลิตเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี ยกเลิกการกำหนดทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ขอผลิตเบียร์ และยกเลิกกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ สุรากลั่นหรือสุราพื้นบ้านให้เพิ่มกำลังการผลิตจาก 5 แรงม้า เป็น 50 แรงม้า เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

โดยหากจะดูผู้เล่นหลักของไทยคงหนีไม่พ้น บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยมีกฎที่ค่อนข้างเข้มงวด รวมทั้งได้กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำที่อยู่ในระดับสูง จึงอาจเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

สำหรับ บุญรอดบริวเวอรี่ อยู่ในวงการเบียร์มาราว 90 ปี โดยหากอ้างอิงข้อมูลจากการวิจัยตลาดโดย ‘Euromonitor’ พบว่า ในปี 2563 บุญรอดบริวเวอรี่ ครองส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามมาด้วย ไทยเบฟเวอเรจ ครองส่วนแบ่งตลาด 34.3% และบริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ครองส่วนแบ่ง 4.7%

ขณะที่หากเป็นวงการสุราผู้นำตลาดคือ ไทยเบฟเวอเรจ ครองส่วนแบ่งอยู่ 59.5% ตามมาด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ครองอยู่ 8.0% บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ครองอยู่ 4.4% และบริษัทอื่น ๆ 28.1%

ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า ไทยเบฟเวอเรจ เดินเกมการผลิตแบบสองขาตั้งแต่แรก คือ ผลิตทั้งเบียร์ และสุรา เรียกได้ว่าทั้งสองตลาดก็เป็นทั้งผู้นำและรอง ต่างจาก บุญรอดบริวเวอรี่ ที่เป็นผู้เล่นแค่เบียร์อย่างเดียว แต่ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2566 ทาง บุญรอดบริวเวอรี่ ได้ประกาศลงสนามสุราอย่างเป็นทางการ ประเดิมด้วย ‘สกอตช์วิสกี้’ ภายใต้แบรนด์ ‘ซิลเเวอร์ไนท์’ (Silver Knight) เพื่อหวังเข้ามาชิงส่วนแบ่งสุรา และหวังสร้างรายได้ ขยายฐานลูกค้าเพิ่ม

ขณะเดียวกัน คาราบาวกรุ๊ป ก็แตกไลน์สินค้าเข้ามาสู่วงการเบียร์ หลังก่อนหน้าอยู่ในวงการสุรา ซึ่งจะออกผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบขวดและกระป๋อง คาดจะวางจำหน่ายในไตรมาส 4 ปีนี้

สำหรับการที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไหวเล่นเกมการตลาด อาจอนุมานได้จากข้อมูลที่มีการนำเสนอไปแล้วนั้น มูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เป็นผลมาจากคนไทยเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการขอใบอนุญาตจัดจำหน่าย และการต่อใบอนุญาต สะดวกมากกว่าในอดีต ทำให้ร้านค้าปลีกแทบทุกร้านมีการจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์

อีกทั้งจากการที่ภาครัฐมีการปลดล็อกให้ผลิตเบียร์-สุราพื้นบ้านเสรี ก็จะเป็นอีกตัวขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้เล่นอาจจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต แต่ถ้าจะเข้ามาชนกับรายใหญ่เลยนั้นคงต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งหลังจากนี้ก็เป็นที่น่าจับตามองว่า รายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว และเบนเข็มแตกไลน์มาลงทุนเพิ่มนั้น จะเดินแผนการตลาดอย่างไรเพื่อสร้างฐานลูกค้า และโปรดักส์ที่ส่งลงสนามนั้นจะสามารถสู้เทียบกับแบรนด์ดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนได้หรือไม่

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เพียงสู้แค่กับแบรนด์โลคอลในประเทศเท่านั้น แต่ต้องสู้กับแบรนด์นอกด้วย ถึงแม้อยู่ในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มานานก็จริง แต่การที่จะลงทุนทำอะไรใหม่ ๆ นั้น ก็เปรียบเป็นน้องใหม่อยู่ดี

.

ที่มา : fic, ไทยรัฐ

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ #เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ #สุรา #เบียร์