บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย รายงานผลประกอบการปี 2567 โดยมีรายได้จากการขายและให้บริการปรับเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 49,436 ล้านบาท แต่กำไรกลับปรับเพิ่มขึ้นถึง 647% หรือมากกว่า 6 เท่า มาอยู่ที่ 3,477.9 ล้านบาท
ซึ่งเหตุผลที่สายการบินแอร์เอเชียมีรายได้ที่เติบโตขึ้นขนาดนี้ก็มาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาวะล็อกดาวน์ โดยในปี 2567 ทางสายการบินมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่จำนวน 20.82 ล้านคน ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนก็ปรับตัวขึ้น 10% มาเป็น 1,967 บาทจากปีก่อนหน้า
ประกอบกับการที่รายได้จากบริการเสริมของสายการบิน ยกตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง ก็ปรับตัวขึ้น 11% มาอยู่ที่ 8,520.5 ล้านบาท ก็ส่งผลให้รายได้จากการขายและบริการในปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49,435.6 ล้านบาท
ในส่วนของกำไรที่โตมากกว่า 6 เท่านั้นก็มาจากธรรมชาติของธุรกิจสายการบินที่ต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนคงที่ ซึ่งต้นทุนประเภทนี้จะแตกต่างกับต้นทุนแบบผันแปรตรงที่จะเป็นค่าใช้จ่ายที่จะไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีของสายการบินนั้นต้นทุนคงที่ก็จะได้แก่ ค่าน้ำมันเครื่องบิน ค่าลงจอดสนามบิน ค่าเสื่อมราคา และเงินเดือนกัปตันและแอร์โฮสเตส ที่ไม่รวมค่าตอบแทนต่อรอบเที่ยวบิน เป็นต้น
ซึ่งถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพผลของการมีต้นทุนคงที่ที่สูงก็คือ
ธุรกิจสายการบินแห่งหนึ่งมีรายได้ 100 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายหลักแบ่งเป็นต้นทุนคงที่ 60 ล้านบาทและต้นทุนผันแปร 20 ล้านบาท ก็จะมีกำไร 20 ล้านบาท แต่หากรายได้ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 50 บาท ต้นทุนผันแปรก็อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 10 บาท แต่ต้นทุนคงที่จะไม่ลดลงและอยู่ที่ 50 บาทเหมือนเดิม ทำให้สายการบินแห่งนี้ขาดทุนไปเลย 10 บาท
แต่ถ้าสมมติว่าการท่องเที่ยวกลับมาบูมจนสายการบินมีรายได้เพิ่มเป็น 150 บาท ต้นทุนผันแปรก็อาจจะเพิ่มเป็น 30 บาท แต่ต้นทุนคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง สายการบินก็จะมีกำไรถึง 70 บาท
จากตัวอย่างข้างต้นก็จะเห็นได้ว่าต้นทุนคงที่นั้นถือได้ว่าเป็นดาบสองคม ในเวลาที่รายได้ชะลอตัว ต้นทุนส่วนนี้ก็จะกัดกินผลตอบแทนของบริษัท แต่ในเวลาที่บริษัททำรายได้ได้ดี บริษัทก็จะได้ผลตอบแทนเป็นกำไรกลับมาเป็นจำนวนมาก
กลับมาที่แอร์เอเชีย ในปี 2567 ทางสายการบินมีค่าใช้จ่ายหลัก ๆ คือ
-ค่าน้ำมันเครื่องบิน 16,426.5 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายพนักงานอยู่ที่ 5,345.7 ล้านบาท
-ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน 8,106.9 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 3,187.2 ล้านบาท
ทำให้รวม ๆ แล้วสายการบินมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 44,096.8 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า
ดังนั้นเมื่อรายได้เติบโตขึ้นมาก แต่ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้นสูงเป็นเงาตามตัว รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ไหลลงมาเป็นกำไรเกือบทั้งหมด ประกอบกับการที่บริษัทยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 589 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะบันทึกในส่วนของกำไรทันทีแต่ไม่ได้เพิ่มในส่วนของรายได้ ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้กำไรของสายการบินแอร์เอเชียเติบโตขึ้นได้ระดับ 6 เท่ามาแตะ 3,477.9 ล้านบาท
ที่มา: งบการเงินและคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการของบริษัท
ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS