ในปัจจุบันมีผู้คนมากมายที่อพยพไปทำงานหรือย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแค่ประชากรจากประเทศที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตหรือมีปริมาณงานไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชากรจากประเทศที่แม้จะไม่ได้มีความยากลำบากในการประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากค่าครองชีพภายในประเทศอาจจะไม่เอื้อต่อการดำรงชีพ ทำให้มีผู้คนมากมายที่แสวงหาความก้าวหน้าด้วยการโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งมักจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี มีอาชีพที่หลากหลายรองรับแรงงานต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้นคือเม็ดเงินที่ได้รับเป็นการตอบแทนก็มักจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าการทำงานภายในประเทศของบรรดาผู้โยกย้าย จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการโยกย้ายในภาคแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเองที่ก็มีแรงงานต่างชาติโยกย้ายเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นกัน
โดยข้อมูลจาก ‘สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว’ ระบุจำนวนแรงงานข้ามชาติและกลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 มีจำนวน 2,766,997 คน
อย่างไรก็ดี ในการโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศ นอกจากจะคำนึงถึงค่าตอบแทนที่จะได้รับแล้ว ยังต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารการกิน, ค่าเดินทาง, ค่าที่พัก เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ เพราะบางครั้ง แม้ว่างานในบางสถานที่จะมีค่าตอบแทนอยู่ในระดับสูง แต่หากมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย อาจจะนำมาซึ่งความ ‘ไม่คุ้มค่า’ ในการโยกย้ายตามไปด้วย เพราะการทำงานในต่างประเทศย่อมมีระดับความเสี่ยงที่สูงกว่าการทำงานในประเทศ เนื่องจากไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าผู้ที่เดินทางไปหางานทำจะสามารถหางานทำตามที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ หรือแม้แต่ผู้ที่มีงานรองรับไว้อยู่แล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถยึดเป็นอาชีพหลักในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งหลาย ๆ ครั้งจะพบว่ามีผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อยที่แบกรับกับความเปลี่ยนแปลงและความกดดันที่เกิดขึ้นไม่ได้จนต้องเดินทางกลับประเทศ
โดยในวันนี้ Business+ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลประเทศที่มีค่าครองชีพที่ถูกและแพงที่สุดในโลกประจำปี 2023 แบ่งเป็นฝั่งละ 5 อันดับ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘Traveler Sharma’ และได้ทำการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือนสำหรับ 1 คน จากเว็บไซต์ ‘numbeo’ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังมองหาทางเลือกในการทำงานในต่างประเทศ
เริ่มจาก 5 เมืองค่าครองชีพถูกที่สุด ได้แก่
1. ฮานอย เวียดนาม
ฮานาย ถือเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพถูกที่สุด และเป็นเมืองที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา โดยค่าใช้จ่ายต่อคน อยู่ที่ประมาณ 17,585 บาท/เดือน ซึ่งไม่รวมค่าที่พัก ในขณะที่ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน อยู่ที่ประมาณ 12,927 บาท/เดือน ดังนั้น หากรวมค่าใช้จ่ายพื้นฐานร่วมกับค่าที่พักแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 30,513 บาท/คน
2. กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
กรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นเมืองที่ประชากรในประเทศบ่นอยู่บ่อยครั้งถึงค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้ แต่สำหรับบรรดานักท่องเที่ยว และนักธุรกิจต่างชาติแล้วนั้น กรุงเทพฯ ถือเป็นอีกเมืองในฝันที่มีค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่แรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมักเดินทางเข้ามาหางานทำอยู่เสมอ โดยค่าใช้จ่ายต่อคน อยู่ที่ประมาณ 22,478 บาท/เดือน แบบไม่รวมค่าที่พัก ขณะที่ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน อยู่ที่ประมาณ 11,279 บาท/เดือน รวมค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่อเดือนประมาณ 34,404 บาท/คน
3. อาเมดาบัด ประเทศอินเดีย
ค่าใช้จ่ายต่อคน 12,730 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พัก), ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอนประมาณ 36,282 บาท/เดือน รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 49,012 บาท/คน
4. เคปทาวน์ แอฟริกาใต้
ค่าใช้จ่ายต่อคน 19,217 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พัก), ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน ประมาณ 22,101 บาท/เดือน รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 41,318 บาท/คน
5. โบโกตา โคลอมเบีย
ค่าใช้จ่ายต่อคน 16,879 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พัก), ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน ประมาณ 13,200 บาท/เดือน รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 30,079 บาท/คน
สำหรับ 5 เมืองค่าครองชีพแพงที่สุด ได้แก่
1. ฮ่องกง
ฮ่องกง ถือเป็นเป็นเมืองที่มีความเสรีทางเศรษฐกิจและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นเมืองยอดนิยมสำหรับนักเดินทางอีกด้วย ซึ่งไม่เพียงแค่ค่าครองชีพโดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดอันดับประเทศที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดอันดับ 1 สำหรับการเดินทางเพื่อธุรกิจ ซึ่งจัดขึ้นโดยเว็บไซต์ ‘ECA International’ อีกด้วย ซึ่งในปี 2023 ถือเป็นปีที่ 4 ที่ฮ่องกงครองแชมป์เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุด โดยมีค่าครองชีพเฉลี่ยอยู่ที่ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน
สำหรับค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ 39,603 บาท/เดือน ไม่รวมค่าที่พัก ซึ่งหากรวมค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอนที่ประมาณเดือนละ 81,155 บาท จะมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานโดยรวมประมาณเดือนละ 120,757 บาท/คน
2. นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองในฝันของใครหลาย ๆ คน เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และยังถือเป็นมหานครเอกของโลกที่ต้อนรับทั้งบรรดานักท่องเที่ยว นักธุรกิจ รวมถึงแรงงานต่างชาติหลายล้ายคน เนื่องจากการเป็นเมืองใหญ่และมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ทำให้เมืองแห่งนี้มีค่าครองชีพที่สูงตามไปด้วย โดยค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ 54,367 บาท/เดือน ไม่รวมค่าที่พัก ในขณะที่ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน อยู่ที่ประมาณ 134,469 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 188,836 บาท/คน
3. เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ 59,341 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พัก), ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน ประมาณ 83,311 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 142,652 บาท/คน
4. ลอนดอน สหราชอาณาจักร
ค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ 48,736 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พัก), ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน ประมาณ 80,342 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 129,078 บาท/คน
5. โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ 31,505 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าที่พัก), ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ 1 ห้องนอน ประมาณ 34,088 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 65,593 บาท/คน
ที่มา : Traveler Sharma, numbeo, สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, eca-international
เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ค่าครองชีพ #อันดับค่าครองชีพ #ค่าครองชีพถูกVSแพง #ทำงานต่างประเทศ #ย้ายประเทศ