Nestle

เจาะข้อมูล ‘เนสท์เล่’ เจ้าของแบรนด์ ‘เนสกาแฟ’ จนถึงวันแยกทางกับตระกูล ‘มหากิจศิริ’

เป็นประเด็นข่าวร้อนแรงตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน หลังจาก ‘เนสท์เล่’ บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง ‘เนสกาแฟ’ มีประเด็นฟ้องร้องกับตระกูล ‘มหากิจศิริ’ หนึ่งในตระกูลมหาเศรษฐีของไทยที่มีธุรกิจมากมายทั้งอาหารเครื่องดื่ม สาธารณูปโภค ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงธุรกิจบันเทิง ซึ่งทั้ง 2 เคยร่วมทุนกันเพื่อจัดตั้งโรงงานขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าให้กับเนสกาแฟมานานกว่า 34 ปี

ซึ่งภายหลังจากมีการขัดแย้งปมธุรกิจระหว่างกันเมื่อต้นเดือนเมษายน 2568 ก็ทำให้ เนสท์เล่ ไม่สามารถผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทยไปเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าๆ จากคำสั่งศาล

อย่างไรก็ตามตอนนี้ เนสท์เล่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติแล้ว หลังจากคำตัดสินล่าสุดจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยืนยันว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

แต่การหยุดผลิตไปไม่กี่วันนั้น อาจจะมีผลกระทบที่ตามมากับผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของ เนสกาแฟ สำหรับส่งออกไปยังตลาดโลก นอกจากนี้ตลาดในประเทศแล้วยังมีผู้ประกอบการรายย่อยในไทยอย่าง ร้านกาแฟขนาดเล็ก รวมไปถึงร้านกาแฟรถเข็นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเนสกาแฟเป็นหลัก

นอกจากนี้แล้ว ถึงแม้คำสั่งจะออกมาอย่างชัดเจนว่าเนสท์เล่สามารถกลับมาผลิตและจำหน่ายได้เหมือนเดิมแล้วก็ตาม แต่หลังจากที่หมดสัญญาการผลิตกับโรงงาน QCP ภายใต้ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ที่ร่วมทุนกับตระกูลดัง (ถือหุ้นใน คนละ 50%) ทางเนสท์เล่ ก็ต้องหาผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาทดแทน หรืออาจจะต้องนำเข้าสินค้าเข้ามาขายในไทย ซึ่งรอยต่อระหว่างการจัดหานี้อาจจะทำให้สินค้าขาดแคลนไปช่วงหนึ่ง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของบริษัทฯ หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ยังต้องคอยจับตากันต่อไป

ซึ่ง Infographic นี้ เราจะมาข้อมูลที่น่าสนใจของ เนสท์เล่ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาจนถึงการตีตลาดในไทย และวันที่ต้องแยกย้ายกับตระกูลดัง เป็นอย่างไร?

Nestle

โดย เนสท์เล่ ก่อตั้งในปี 2410 โดย Henri Nestle’ และมีผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ คือ Farine lacte’e ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกเกิดจากนมและซีเรียล ซึ่งตอนนั้นผลิตภัณฑ์เริ่มมีชื่อเสียงเพราะสามารถช่วยชีวิตเด็กจำนวนมากในยุคนั้นที่ไม่สามารถดื่มนมแม่ได้ ทำให้แบรนด์เนสท์เล่ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มาจนถึงปัจจุบันบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 158 ปี ครอบคลุม 185 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเวเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่งเนสท์เล่ มีผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงครอบคลุมในทุกช่วงวัย เป็นเจ้าของแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากกว่า 2,000 แบรนด์ เช่น เนสกาแฟ เนสเปรสโซ ไมโล แม็กกี้ ตลอดจนแบรนด์ที่เป็นที่ชื่นชอบในท้องถิ่นอย่าง ตราหมี หรือมิเนเร่

สำหรับความเป็นมาของเนสท์เล่ในประเทศไทย เริ่มในปี 2436 โดยสินค้าชิ้นแรกที่มีการโฆษณา และตีตลาดในไทยคือนมข้นหวานตรา “ตราแหม่มทูนหัว” หลังจากน้ันในปี 2511 ผลิตภัณฑ์ของเนสท์เล่ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีความต้องการในตลาดประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เนสท์เล่ได้สร้างโรงงานผลิตขึ้นมา เป็นก้าวแรกของการสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย

โดย เนสท์เล่ ร่วมลงทุนกับฝั่ง ‘คุณประยุทธ มหากิจศิริ’ ทำโรงงานชื่อบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย ซึ่งตระกูล มหากิจศิริ ถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP ส่วนเนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่ง (50 : 50) โดย เนสท์เล่ เป็นฝ่ายบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย รวมถึงสูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นของเนสท์เล่เองทั้งหมด ทางบริษัท QCP เพียงแต่รับจ้างผลิตให้กับเนสท์เล่ เท่านั้น

การดำเนินธุรกิจร่วมกันเป็นไปได้อย่างดีจนกระทั่ง ปี 2564 เนสท์เล่ บอกเลิกสัญญากับ QCP โดยแจ้งต่อศาลอนุญาโตตุลาการและอยู่ระหว่างการเจรจากันทั้ง 2 ฝ่าย ต่อมาในปี 2566 ตระกูลมหากิจศิริ ยื่นฟ้องด้วยข้อกล่าวหาที่ ‘เนสท์เล่’ คิดค่าธรรมเนียมเกินจริงไปกว่า 3,000 ล้านบาท และคดียังไม่จบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2567 ได้ถือเป็นการสิ้นสุดสัญญาระหว่างเนสท์เล่ กับ QCP หลังทำธุรกิจร่วมกันมายาวนานถึง 34 ปี

ต่อมาในวันที่ 3 เม.ย. 2568 กึ้ง ‘เฉลิมชัย มหากิจศิริ’ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล ยื่นต่อศาลแพ่งมีนบุรี โดยศาลฯได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามเนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย จนทำให้เนสท์เล่ต้องหยุดผลิตไปนานถึง 8 วัน และกลับมาผลิตและจำหน่ายได้อีกครั้งวันที่ 11 เม.ย. 2568 หลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ

ทีนี้มาดูผลประกอบการย้อนหลังของทั้งโรงงานผลิตอย่าง QCP และเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเนสท์เล่ เราจะเห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า ถึงแม้รายได้ของ QCP จะน้อยกว่าเนสท์เล่ อย่างมาก ด้วยระดับรายได้ของเนสท์เล่สูงถึง 5 หมื่นล้านบาทในทุกๆปี ส่วน QCP มีรายได้ระดับหมื่นกว่าล้านบาท แต่กำไรสุทธินั้น กลับไม่แตกต่างกันมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ QCP รับผลิตอย่างเดียว ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการตลาด หรือค่าใช้จ่ายในการขาย รายได้จึงค่อนข้างคงที่ตามปริมาณการผลิต ส่วนของเนสท์เล่เองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สำหรับการตีตลาดจึงมีอัตรากำไรสุทธิที่ต่ำกว่านั่นเอง

แต่สิ่งที่น่าจับตามองต่อคือภายหลังจากการหมดสัญญานี้ก็เป็นจุดที่ท้าทายของ ‘ตระกูลมหากิจศิริ’ ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับรายได้ที่ขาดหายไประดับ 5 พันล้านบาทต่อปี (จากการถือหุ้น 50% ใน QCP) หลังจากไม่สามารถผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ใหญ่ของเนสท์เล่ได้อีกต่อไป

ที่มา : corpusx , nestle

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829

#BusinessPlus
#ธุรกิจ
#เนสกาแฟ