‘KEX’ หลังรีแบรนด์ดิ้งยังอ่วม ทุกๆการขนส่งสินค้า 100 บาทจะขาดทุน 33 บาท

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX หรือชื่อเดิม Kerry Express ในปี 2567 ขาดทุนสุทธิมากถึง 5,911 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนมากขึ้น 52% จากปีก่อนหน้า และยังถือเป็นผลประกอบการที่แย่ที่สุดในรอบ 5 ปี (2563-2567)

ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ KEX คือการรีแบรนด์ดิ้งเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘เคอีเอ็กซ์’ หลังจากในช่วงไตรมาส 1/67 บริษัท SF Holding Co., Ltd. (SF Holding) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในจีน และในเอเชีย ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ด้วยการเข้าถือหุ้น 62.66% และการเปลี่ยนมือจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมมาเป็น SF ทำให้ต้องมีการรีแบรนด์ดิ้งด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก “Kerry” เป็น “KEX” (เคอีเอ็กซ์) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ และกลยุทธ์ระยะยาวที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและการพัฒนาในอนาคต

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเจรจากับบริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด อดีตบริษัทแม่ของ Kerry Express ที่เป็นเจ้าของสิทธิชื่อและเครื่องหมายการค้าของ Kerry Express ไม่ลงตัวเรื่องการใช้ชื่อเดิมต่อไป ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 2/67 ทาง Kerry Express ได้รีแบรนด์ดิ้งกลายเป็น KEX เต็มตัว

ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าการเข้ามาของ SF Holding ซึ่งทำธุรกิจขนส่งภายใต้แบรนด์ SF Express จะทำให้ KEX ได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุน เทคโนโลยี และ Know-How ต่างๆ ที่จะส่งผลดีต่อ KEX แต่อย่างไรก็ตามผลงานในปี 2567 ของบริษัทฯ กลับขาดทุนมากกว่าเดิม

ทีนี้มาดูกันว่าอะไรที่ทำให้ KEX ขาดทุนมากถึง 5 พันล้านบาท

อย่างแรกเลยคือ รายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 9,449 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งเกิดจากปริมาณการส่งพัสดุจากแพลตฟอร์มพาณิชน์อิเล็กทรอนิกส์ (SAK) ลดลง ซึ่ง SKA คือ Strategic Key Account หรือกลุ่มลูกค้าเชิงกลยุทธ์ที่มีปริมาณขนส่งจำนวนมากและกำหนดราคาตามสัญญาและเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งกลุ่มลูกค้าประเภทนี้เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 2 ของ KEX ด้วยสัดส่วน 35% รองจากกลุ่มลูกค้า C2C หรือกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการผ่านช่องทางร้านค้า แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และคอลเซ็นเตอร ที่มีสัดส่วน 49%

อย่างที่ 2 บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรได้น้อยลง ปัญหาหลักคือค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารของ KEX เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ถ้าหากเราดูอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2567 จะเห็นว่าลดลงอย่างมากจาก -25% กลายมาเป็น -33.4% อธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือ ทุกๆการขนส่งของบริษัทฯในยอด 100 บาทจะขาดทุนไปแล้ว 33.4 บาท และยิ่งไปกว่านั้น หากรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะทำให้กำไรสุทธิลดน้อยลงไปอีก

โดย KEX มีอัตรากำไรสุทธิจะอยู่ที่ -62.6% เทียบกับปี 66 อยู่ที่ -34% เท่ากับว่ารายได้ทุกๆ 100 บาทที่เข้ามานั้น KEX จะขาดทุนไปทั้งหมดเกือบ 63 บาทเลยทีเดียว ซึ่งทางบริษัทฯ ชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 1,914.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเกิดจากการปรับรูปแบบธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ KEX ยังบันทึกรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (One-off Adjustment) อีก 1,618.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับค่าเผื่อสินทรัพย์ถาวร ยานพาหนะ และค่าชดเชยพิเศษแบบครั้งเดียว นอกจากนี้ยังมีรายการปรับปรุงภาษีเงินได้จำนวน 920.5 ล้านบาท หากตัดผลกระทบทั้ง 2 ออกไป บริษัทฯ จะเหลือขาดทุนสุทธิส่วนของผู้เป็นเจ้าของบริษัท 3,372.6 ล้านบาท

เป็นที่น่าจับตามองต่อว่าในปี 2568 บริษัทฯ จะพลิกฟื้นธุรกิจอย่างไร บนแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2568 ที่จะเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่ารายได้ผู้ให้บริการโลจิตติกส์จะขยายตัว 3.4% ลดลงจากปี 2567 ที่ขยายตัว 5% จากความต้องการขนส่งสินค้าลดลงตามเศรษฐกิจ และการกีดกันการค้าโลกที่สูงขึ้น นอกจากนี้ในประเทศแล้วการบริโภคทั้งภาคเอกชน และอุตสาหกรรม E-commerce ลดลง ส่วนการขนส่งสินค้าถนนในประเทศมีแนวโน้มทรงตัวในขณะที่อัตราค่าขนส่งเฉลี่ยยังใกล้เคียงกับปี 2567 แต่จะมีความผันผวนมากขึ้น

นอกจากนี้หากมองภาวะการแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุด่วนยังค่อนข้างสูงต่อเนื่อง เพราะมีการขยายรูปแบบการให้บริการโลจิสติกส์ที่ทับซ้อนมากขึ้น เพราะผู้ให้บริการมุ่งเป็น Total logistics provider ทำให้มีรูปแบบขนส่งครอบคลุมมากขึ้น นำไปสู่การแข่งขันด้านราคา (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชน์)

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET , ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชน์
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#thebusinessplus #BusinessPlus #SET #ตลาดหลักทรัพย์ #ตลาดหุ้นไทย #KEX #เคอีเอ็กซ์ #ธุรกิจขนส่ง #โลจิสติกส์