‘กอบศักดิ์’ เปิดทางรอดธุรกิจไทย บนสงคราม ‘สหรัฐฯ-จีน’ ทำยังไงให้รอดเงื้อมมือ ‘ทรัมป์’

‘กอบศักดิ์’ เปิดทางรอดธุรกิจไทย บนสงคราม ‘สหรัฐฯ-จีน’ ทำยังไงให้รอดเงื้อมมือ ‘ทรัมป์’

นับตั้งแต่วันที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เริ่มเปิดศึกขึ้นภาษีกับคู่ค้าหลักสามรายคือ แคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกปรับเพิ่มขึ้น 25% ส่วนจีน 10% ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกปั่นป่วน ไล่มาตั้งแต่ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ซึ่งในวันนี้ (6 ก.พ. 2568) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ได้มาบรรยายในรายการ “ทันเศรษฐกิจกับธนาคารกรุงเทพ” ถึงประเด็นดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า สาเหตุที่แคนาดากับเม็กซิโกกลายเป็นเป้าหมายแรก ๆ ของทรัมป์ แม้ว่าแคนาดาจะเป็นมิตรที่ดีต่อสหรัฐเสมอมาก็เพราะว่า ทั้งสองประเทศได้เปรียบด้านการค้ากับสหรัฐมาหลายปี ประกอบกับการที่ทรัมป์มองว่า สหรัฐเสียเปรียบประเทศคู่สัญญาในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA

การขึ้นภาษีครั้งนี้จึงเป็นการกดดันทั้งสองประเทศ โดยทางทรัมป์รู้อยู่ก่อนแล้วว่า แคนาดากับเม็กซิโกจะต้องยอมอ่อนข้อให้สหรัฐ เพราะทั้งสองประเทศพึ่งพาสหรัฐในด้านการค้าสูงมาก โดยแคนาดาส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 74.2% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนเม็กซิโกเองก็ส่งออกไปสหรัฐมากถึง 77% ของการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็พึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางแคนาดาจะตัดสินใจยอมอ่อนข้อให้สหรัฐในเวลาต่อมา เช่น การยอมทุ่มงบส่งทหารไปตรวจตราบริเวณชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อพยพย้ายจากแคนาดาไปสหรัฐ

ตัดภาพมาที่จีนที่โดนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพียง 10% โดยการขึ้นภาษีครั้งล่าสุดนี้ เป็นการขึ้นต่อยอดจากสมัยที่เคยขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนไปแล้วก่อนหน้านี้สมัยแรกของปธน.ทรัมป์และไบเดน ทำให้ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะเท่า ๆ กับสินค้าแคนาดาและเม็กซิโก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากการขึ้นภาษีส่วนนี้แล้ว ทางสหรัฐได้ยกเลิกการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น ซึ่งมาตรการนี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออีคอมเมิร์สจีน อย่างเช่น Temu และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของอีคอมเมิร์สสัญชาติสหรัฐได้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนคราวนี้จะส่งผลกระทบด้านลบในด้านการค้าของสหรัฐประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ

การขึ้นภาษีจีนครั้งนี้จึงตีความได้ว่า นอกเหนือจากจะเป็นการพยายามลดดุลการค้า ที่จีนค้าขายได้ดุลการค้าสหรัฐมาหลายปีแล้ว ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของสงครามการแย่งชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของสหรัฐและจีนมากกว่า โดยที่ผ่านมา จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

โดยตัวชี้วัดล่าสุดของ ASPI’s Critical Technology Tracker ซึ่งเป็นการรวบรวมผลการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีในหมวดต่าง ๆ 44 หมวด ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน กลาโหม ไปจนถึง AI พบว่า เฉพาะทางด้านการวิจัย จีนสามารถวิจัยนำสหรัฐไปแล้ว 37 หมวด ในขณะที่สหรัฐนำจีนเพียงแค่ 7 หมวด เท่านั้น

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในอนาคต ทรัมป์จึงน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีก

มาถึงคำถามว่า แล้วไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร ? ดร.กอบศักดิ์ มองว่าจะกระทบไทยใน 5 ช่องทาง

  1. ด้านการค้า เมื่อสหรัฐและจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของอีกประเทศ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศอย่างจีนจะหันมาตั้งโรงงานผลิตในไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเวลาส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งการไหลเข้าของสินค้าจีนก็ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตไทย
  2. ภาคการท่องเที่ยว เมื่อเกิดสงครามการค้า ความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจของคนทั่วโลกก็ย่อมลดลง ทำให้ลดการท่องเที่ยวลงด้วย
  3. เงินลงทุน โดยเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งในตลาดหุ้น พันธบัตร หรือแม้แต่เงินลงทุนโดยตรงจากประเทศที่ไหลเข้ามาไทยก็จะลดลง
  4. ความผันผวน เมื่อเงินลงทุนจากต่างชาติลดลง ตลาดหุ้นหรือตลาดเงินของไทยก็จะเผชิญความผันผวนที่มากขึ้นด้วย
  5. ความเชื่อมั่น โดยข้อนี้จะเกี่ยวโยงกับข้ออื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวย่อมโดนกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้

แล้วทีนี้ธุรกิจของไทยจะปรับตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าครั้งนี้

ด้านดร.กอบศักดิ์มองว่า ในอนาคต ไทยน่าจะไม่รอดพ้นการขึ้นภาษีจากสหรัฐ เพราะไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง โดยไทยอยู่อันดับที่ 13 ประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐมากที่สุด

ดังนั้น ดร.กอบศักดิ์จึงมองว่า ไทยควรวางตัวเป็นกลางในสงครามการค้าครั้งนี้ ไม่เลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง พร้อมรับผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐด้วย โดยธุรกิจไทยควรมองถึงประโยชน์ที่จะได้ต่าง ๆ เช่น

  1. ใช้ความได้เปรียบจากอัตราภาษีสินค้าส่งออกระหว่างสหรัฐ-จีน ที่สูงขึ้น โดยอาจจะผัวตัวมาเป็นฐานผู้ผลิตให้บริษัทจีน ส่งออกไปสหรัฐ
  2. หันมาทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การรับซื้อของจากสหรัฐมากขึ้น หรือการหันมาผลิตสินค้าที่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้มากขึ้น

ที่มา : Bnomics

เขียนและเรียบเรียง : พรบวร จิรภัทร์วงศ์

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus

Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829