เมื่อลูกสะกดคำไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ออก แปลว่าลูกของเราโง่หรือเปล่า ?

เมื่อลูกสะกดคำไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ออก แปลว่าลูกของเราโง่หรือเปล่า ?

ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำถามที่มักจะเจอบ่อย ๆ สำหรับผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ ที่มีลูกเป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นโรคแอลดีหรือไม่ ? โดยนิยามของโรคแอลดี – LD ย่อมาจากคำว่า Learning Disorder ซึ่งต้องตอบแบบนี้ว่า ส่วนใหญ่ของเด็กที่เป็นโรคแอลดี- LD เกือบ 100%  ไม่มีปัญหาด้านสติปัญญา  และไม่ได้โง่ เพียงแต่จะมีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่าเพื่อนนักเรียนในชั้นอย่างชัดเจน จนเป็นปัญหาที่กระทบต่อการเรียนอย่างต่อเนื่อง

ในทางการวินิจฉัยทางการแพทย์ โรค LD จัดเป็นหนึ่งในจิตเวชและมีปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ ที่พบร่วมกันได้ถึงร้อยละ 40 – 50 เช่น โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร ปัญหาการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตา

จากตัวเลขสถิติทั่วโลกพบตรงกันว่า 5% ของเด็กชั้นประถมเป็นโรค LD ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย โดยจะพบแบบรุนแรง 1-2% ส่วนที่เหลือ 3% เป็นแบบไม่รุนแรง สามารถช่วยตัวเองได้ ทั้งนี้ พบว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเป็น LD มีตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่เด็กผู้ชายมักถูกส่งมาพบแพทย์มากกว่า เนื่องจากมีพฤติกรรมดื้อและซน ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะเรียบร้อย ไม่ค่อยแสดงออก ส่วนโรคร่วมอย่างสมาธิสั้นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงอย่างชัดเจน

แน่นอนว่าการรักษาโรค LD  สิ่งแรกที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจยอมรับ จากประสบการณ์พบว่า การให้ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่เปิดใจพาเด็กโรค LD ไปหาหมอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่จะมักปฏิเสธ ไม่จริง ไม่ใช่ ลูกเราไม่ใช่หรอก เป็นไปไม่ได้ ตระกูลเราไม่เคยมี บางคนจมอยู่กับความทุกข์ วิตกกังวล ไม่อยากพาลูกไปเจอไปพบหมอ กลัวได้รับคำวินิจฉัย การหนีความจริงทำให้การเริ่มบำบัดการเข้าสู่กระบวนการรักษาช้าลง

ดังนั้น การยอมรับของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะการตรวจพบโรคได้เร็วและเริ่มรักษาให้เร็วเป็น หัวใจของการช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรค LD โดยเฉพาะใน 5-6 ขวบแรกของชีวิต

ทีนี้ เรามาทราบในรายละเอียดลงลึกไปว่า โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือแอลดี แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่

1.ความบกพร่องด้านการอ่าน โดยความบกพร่องด้านการอ่านเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดของเด็ก LD ทั้งหมด เด็กมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ จึงอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

2.ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ โดยความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้ไม่สามารถแสดงออกผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

3.ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่า เด็กขาดทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคำนวณคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการคิดคำนวณต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

 

ครู หมอ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม เป็นสมการที่จะช่วยการดำเนินชีวิตที่ดีเด็กๆ LD

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่ามีเด็ก LD เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของโรงพยาบาลจำนวนน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองบางคนต้องทำงาน ไม่มีเวลา หรือบางคนมองว่าไม่ได้เป็นอะไรมากจึงไม่ใส่ใจ ในขณะที่ครู โรงเรียน ควรจะต้องจัดทำแผนเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียน สอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อตัว ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน โดยการช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหาความรู้เร็วขึ้น การให้เวลาในการทำสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการอ่านโจทย์และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

เชื่อเหลือเกินว่า ยังมีเด็กหลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต หากได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม

“ทั้งนี้ เด็ก LD ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่วัยเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้เชื่อว่าเขาทำได้ ไม่ได้เป็นคนล้มเหลว รวมถึงหาความสามารถพิเศษร่วมไปด้วยและต้องมีการฝึกฝน ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีทีมช่วยเหลือที่เข้มแข็ง คุณครูต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ดี เพื่อคัดกรองและประเมินเด็ก โดยรวมคือทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดและเหมาะสม”

 

Writer : พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล (จิตแพทย์ โรงพยาบาล Bangkok Mental Health Hospital : BMHH)

ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus