ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ Manufacturing Production Index (MPI) คือดัชนีรายเดือนที่ถูกสร้างขึ้นเป็นข้อมูลเร็วเพื่อช่วยสะท้อน GDP ภาคอุตสาหกรรม รวดเร็วเพราะจัดทำเป็นรายเดือน (ปกติ GDP ของประเทศจะจัดทำเป็นรายไตรมาส และรายปี) แถมยังเป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนสภาวะกิจกรรมภาคการผลิตของอุตสาหกรรมโดยตรงได้เป็นอย่างดี ซึ่งล่าสุดพบข้อมูลว่า MPI เดือนพ.ค.ที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลง
โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยข้อมูล เผยดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค.67 อยู่ที่ระดับ 98.34 ลดลง 1.54% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.66 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) ดัชนี MPI เฉลี่ยอยู่ที่ 98.16 ลดลง 2.08% และยังเป็นการปรับตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งมีปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนี MPI ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 10 โดยหดตัวจากตลาดภายในประเทศ เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง จากปัญหาหนี้ครัวเรือน , หนี้ภาคครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตามแนวโน้มดัชนีในอนาคตยังมีสัญญาณที่ดี เนื่องจากมียอดนำเข้าสินค้าทุนเพิ่ม ซึ่งอาจจะทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นตาม
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อ MPI ได้แก่
- ยานยนต์ หดตัวลดลง 14.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนแอ สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ตลาดส่งออกขยายตัว
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลง 17.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาวะการผลิตและการจำหน่ายลดลงของ Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก เป็นไปตามทิศทางของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกที่ยังชะลอตัว ประกอบกับบางบริษัทมีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้นจึงมีปริมาณการผลิตลดลง
- คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลง 11.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเสาเข็มคอนกรีต พื้นสำเร็จรูปคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายยังมีสต๊อกอยู่ในระดับสูงจึงชะลอคำสั่งซื้อ
อย่างไรก็ตามยังมี 3 อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่
- น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 19.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากเกิดภาวะฝนแล้งและร้อนมากในช่วงก่อนหน้าทำให้ผลปาล์มสุกแดด จึงมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
- อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 10.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าตะวันออกกลาง บาห์เรน และญี่ปุ่น รวมถึงการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัว 8.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย และท่อเหล็กกล้า เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในโครงการของภาครัฐ และฐานต่ำในปีก่อน