5 กลยุทธ์ยกระดับ ‘สมุนไพรไทย’

สมุนไพรกลายเป็นพืชที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 สาเหตุมาจากพฤติกรรมของคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากกว่าสารเคมี ขณะที่รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรในโรงพยาบาล ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน

โดย 3 ปัจจัยนี้เป็นเสมือนสิ่งที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดสมุนไพร โดยเฉพาะเป็นผลดีกับประเทศไทยที่มีความชำนาญ และมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทยมาอย่างยาวนาน แต่ผู้ประกอบการในไทยยังคงต้องเจอกับความท้าทายหลายด้าน ซึ่งจะต้องพัฒนาด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

สมุนไพรถือว่าเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกมากมาย โดยอุตสาหกรรมที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่ใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบสูงที่สุดคือ ตลาดเครื่องสำอาง ขณะที่การใช้สมุนไพรสำหรับเป็นอาหารเสริมมีสัดส่วนรองลงมา ตามมาด้วยการใช้เป็นยาสมุนไพร และใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่ม

มีข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะมีความต้องการสมุนไพรในปริมาณมากในอนาคตคือ กลุ่มธุรกิจด้านการแพทย์ และความงาม

นอกจากนี้ ‘กรมธุรกิจการค้าต่างประเทศ’ ยังมองแนวโน้มความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี

โดยในยุโรปจะมีความต้องการเครื่องปรุงที่มีส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ขณะที่ในเอเชียและฝั่งตะวันออกก็มีความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดเช่นเดียวกัน

ด้านกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มองว่า ปัจจุบันนี้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยา และเครื่องสำอาง ที่มาจากธรรมชาติ จึงแนะนำให้ผลักดันประเทศไทยกลายเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐานของภูมิภาคอาเซียน และพัฒนาสมุนไพรให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพื่อต่อยอดความเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองตลาดสมุนไพรในประเทศไทยแล้ว เรากลับพบว่า ถึงแม้ว่าจะมีความพร้อมด้านการเพาะปลูก และยังมีโอกาสทางการตลาดให้เติบโตอีกมาก แต่ผู้ประกอบการยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ จากเรื่องความเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจกลางน้ำอย่างโรงงานสกัด และโรงงานผลิตสินค้าประเภทอาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง ที่จำเป็นต้องมีมาตรฐานและคุณภาพสูง เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการส่งออกสมุนไพรผู้ประกอบการจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีกฎระเบียบที่แตกต่างกันออกไป โดยตลาดส่งออกสมุนไพรที่สำคัญของไทย ประกอบด้วย ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่เราควรให้ความสำคัญ ถือว่ามีกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวดด้านการนำเข้าสมุนไพร โดยสมุนไพรที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้จะต้องมีการเจรจาเปิดตลาดก่อน โดยต้องทำการยื่นขอตรวจสอบสินค้าที่ส่งเข้าจีนครั้งแรกกับสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค (AQSIQ)

ขณะที่การนำเข้าในรูปแบบผลิตภัณฑ์ยา อาหารบำรุงสุขภาพ อาหารเสริม และเครื่องสำอาง สำหรับการขออนุญาตนำเข้าครั้งแรกมีขั้นตอนและข้อกำหนดค่อนข้างมาก และต้องใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้ถือเป็นอุปสรรคในการค้าสมุนไพรไทยไปยังประเทศจีน

นอกจากติดข้อจำกัดเรื่องของมาตรฐาน และข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดแล้ว เมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิตของตลาดสมุนไพร พบว่า ถึงแม้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสมุนไพรเป็นอย่างดี แต่การดำเนินธุรกิจจะกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำเสียมากกว่า เช่น การปลูกสมุนไพร และการแปรรูปแบบไม่ได้ใช้นวัตกรรมสูงมาก เช่น การบด การอัดเม็ด การทำเป็นแคปซูล แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีมูลค่าไม่สูงมากนัก

แต่หากเป็นโรงงานผลิตที่มีนวัตกรรมขั้นสูง เช่น การสกัดแบบเข้มข้น การแปรรูป จะต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก และอีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญ จึงทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรในประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นสูงมีไม่มากนัก
ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

หากเราแบ่งความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในตลาดสมุนไพรออกตามห่วงโซ่อุปทาน เราจะพบว่าผู้ประกอบกิจการด้านสมุนไพรยังมีความท้าทายดังนี้

– ผู้ผลิตต้นน้ำ เช่น เกษตรกร ผู้นำเข้า ผู้รวบรวมวัตถุดิบ เผชิญความท้าทาย 3 ด้าน
1. ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมไปถึงการมีสินค้าเข้ามาทดแทนได้ง่าย
2. เกษตรกรไทยยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูกสมุนไพรบางชนิด
3. เกษตรกรขาดความรู้ และนวัตกรรมในการเก็บรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทำให้มีสินค้าเสียหายหรือใช้งานไม่ได้จำนวนมาก

– ผู้ผลิตกลางน้ำ เช่น โรงงานแปรรูป หรือโรงงานผลิต และผู้ผลิตปลายน้ำ เช่น ผู้ค้าส่งในประเทศ ผู้ค้าปลีกในประเทศ ตัวแทนจำหน่าย ผู้ส่งออก เผชิญความท้าทาย 4 ด้าน
1. มาตรฐานการผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
2. ปัจจัยการผลิตสมุนไพรถือว่ามีต้นทุนสูง
3. ขาดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดทางการค้า
4. ติดข้อจำกัดด้านกฎหมายกับประเทศคู่ค้า

จากข้อจำกัดของตลาดสมุนไพรในประเทศไทย ทำให้รู้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้พัฒนาไปถึงการได้รับมาตรฐานระดับสากล ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมการเพาะปลูก และป้อนวัตถุดิบที่มีคุณภาพและตรงความต้องการของตลาดโลก รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดให้สูงขึ้น

5 กลยุทธ์ยกระดับธุรกิจสมุนไพรไทย
1. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาเครื่องจักรสำหรับการผลิตสินค้าให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐาน ซึ่งการมีนวัตกรรมการผลิตที่เหมาะสมกับสินค้าจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง นำไปสู่ความสามารถแข่งขันทางการค้า

2. ควบคุมการเพาะปลูกเพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานที่ดีขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างเช่นการทำ Smart Farm ที่สามารถควบคุมกระบวนการได้ตั้งแต่ปลูก รดน้ำ ปรับแสงและอุณหภูมิที่เหมาะสม

3. ศึกษาความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด
.
4. สนับสนุนให้มีผู้ประกอบการขั้นกลางน้ำและปลายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การใช้สมุนไพรทางการแพทย์

5. เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย และควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งจุดนี้จะทำให้ผู้ประกอบการผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดของแต่ละประเทศได้ไม่ยาก นำมาสู่การขยายกิจการไปยังประเทศอื่น ๆ

นอกจากกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการแล้ว ฝั่งของภาครัฐบาลยังต้องสนับสนุน และสร้างแนวทางการส่งเสริมภาคเอกชนให้มากขึ้น โดย ‘กรมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ’ ระบุเอาไว้ 2 ข้อหลักที่รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการเร่งแก้ไขในด้านการขาดแคลนวัตถุดิบบางส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน อีกทั้งภาครัฐควรส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีในการใช้สมุนไพรไทย ควบคู่ไปกับภาคเอกชนที่ควรสร้างความแข็งแกร่งของตราสินค้า

ถึงแม้ว่าสมุนไพรจะเป็นพืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคจำนวนมาก แต่สมุนไพรบางชนิดก็มีพิษร้ายแรงอยู่ด้วย เป็นสาเหตุที่ความเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อสมุนไพรยังน้อยมาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วยการควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมไปถึงการให้ความรู้ถึงประโยชน์ของสมุนไพรและวิธีใช้ที่ถูกต้องให้ดีเสียก่อน ถึงจะสามารถยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : DITP

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สมุนไพรไทย #อุตสาหกรรมสมุนไพร