ตรีนุช-คุณหญิงกัลยา ชื่นชม 10 ปีความร่วมมือ รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ-ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จเกินคาดปั้นเด็กวิทย์ไทยเทียบเท่าสากล พร้อมก้าวสู่การเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก

ตรีนุช-คุณหญิงกัลยา ชื่นชม 10 ปีความร่วมมือ รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ-ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จเกินคาดปั้นเด็กวิทย์ไทยเทียบเท่าสากล พร้อมก้าวสู่การเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก

กระทรวงศึกษาธิการ ชื่นชมการจัดงานครบรอบ 10 ปี ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างเด็กวิทย์ไทยมีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล พร้อมหนุนสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติต่อเนื่อง ก้าวสู่การเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก

โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ในวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 08.00-09.00 ตามเวลาประเทศไทย และ 10.00-11.00 ตามเวลาประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น หน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น ผู้อำนวยการ ครู และนักเรียนของโรงเรียน Super Science High Schools และสถาบัน KOSEN ผู้บริหาร ครู และนักเรียนของโรงเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั่วประเทศ

โดยในงานมีการบรรยายพิเศษจาก Professor Dr. Hiroshi Amano (ฮิโรชิ อามาโนะ) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิกส์ปี 2014 ผู้คิดค้น LED แสงสีน้ำเงิน รวมทั้งมีการนำเสนอผลความสำเร็จของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับประเทศญี่ปุ่น และการนำเสนอผลความสำเร็จของนักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตลอด 10 ปี ความร่วมมือของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับประเทศญี่ปุ่น สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างมากมาย ทำให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สามารถพัฒนาก้าวหน้าเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ ทั้งยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เน้นการทำโครงงานและการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง นักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้รับการบ่มเพาะความรู้ ทักษะ และสมรรถนะในระดับเดียวกันกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ

“ดิฉันขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสครบ 10 ปี ความร่วมมือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางวิชาการร่วมกับโรงเรียนในโครงการ Super Science High School และสถาบันโคเซ็น (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น การพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ผ่านการทำโครงการวิจัยร่วมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น การจัดการประชุมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น Thailand-Japan Student Science Fair มหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีที ญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair การแข่งขันการออกแบบเกมส์ในรูปแบบทีม Thailand-Japan Game Programing Hackathon ที่สนับสนุนโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น JICA โครงการ SAKURA Science Program ร่วมกับมหาวิทยาลัยโออิตะ รวมถึงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นร่วมกับ Japan Foundation ทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ การทดลอง การวิจัย รวมถึงได้เพื่อนใหม่ เรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของทั้ง 2 ประเทศ” นางสาวตรีนุช กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับประเทศญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือด้านการศึกษาดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อทั้ง 2 ประเทศ เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันในเกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ โดยนักเรียนได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนโดย MEXT, JST, SSHs, EOJ, KOSEN Institutes, JICA รวมถึงหน่วยงานทางการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น สร้างให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ และสัมพันธภาพระหว่างนักเรียน ครู และโรงเรียน ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดวิเคราะห์ นักเรียนได้รับความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากล

“ขอแสดงความยินดีและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งสำหรับความทุ่มเทในความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และ Super Science High School ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ในการเป็น Partner school เพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงศึกษาที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์นานาชาตินั้น จะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษให้ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งระดับนักเรียน ครู และโรงเรียน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นจะพัฒนาและดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และประธานคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทุกโรงเรียน มีความร่วมมือทางวิชาการกับโดยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ Super Science High Schools ของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 16 โรงเรียน และสถาบัน KOSEN ของประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 สถาบัน และได้จัดส่งนักเรียนทุนโครงการทุนการศึกษาต่อสำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยายศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่นแล้วจำนวน 46 คน พบว่าได้ผลดีมาก นักเรียนและครูได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้มาก นอกจากนี้ยังมีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการร่วมมือนี้มาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนของตนเองด้วย อีกทั้งนักเรียนทุนที่ไปศึกษา ณ สถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่นได้ประสบผลสำเร็จในการเรียนเป็นอย่างดี มีผลงาน รางวัลจากการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติ และเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในการแข่งขันระดับนานาชาติ อีกด้วย

“ขอแสดงความยินเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น นักเรียนและครูของทั้ง 2 ประเทศมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ได้ใช้ประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน” ดร.อัมพร กล่าว

ดร.อัมพร กล่าวต่อว่า ในระยะจากนี้ต่อไป การดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยจะยังคงดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ และอุดมการณ์และเป้าหมายของการพัฒนานักเรียน โดยปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาบรรลุผลสำเร็จนั้นคือ การมีความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กิจกรรม ความร่วมมือทางวิชาการส่วนใหญ่ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนนักเรียนระยะสั้น ระยะยาว การทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างครูกับครู และนักเรียนกับนักเรียน ทั้งในรูปแบบออนไลน์ (On-line) และออนไซต์ (On-site) การแลกเปลี่ยนครูทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ทั้งนี้การมีความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ จะทำให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยประเมินได้ว่ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของโรงเรียนที่มีความร่วมมือทางวิชาการหรือไม่เพียงใด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สามารถนำจุดดีจุดเด่นของโรงเรียนหนึ่งมาใช้พัฒนาอีกโรงเรียนหนึ่งได้ โดยกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จะดำเนินการจัดให้มีความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต