3 แบรนด์แฟชั่นชื่อดังกลับใจ!! หันมารับผิดชอบความสวยคู่สิ่งแวดล้อม

 

ไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นกระแสในโลกโซเชียลกับการต่อต้านแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง หนึ่งในผู้ต้องหาของอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่มีการกดขี่แรงงาน ละเมิดลิขสิทธิ์ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิต

 

ซึ่งอันที่จริงกลุ่มผู้บริโภค ก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะต่อต้านแบรนด์ที่ยังคงเป็น Fast Fashion อย่างต่อเนื่อง 

 

Fast Fashion แย่อย่างไร ?

เพราะด้วยความมาเร็ว ไปเร็วของแฟชั่น ทำให้แบรนด์ต้องเร่งผลิตสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของการจ้างแรงงานราคาถูก ผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ และนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในสุด 

 

มีผลสำรวจระบุว่า จำนวนไมโครพลาสติกในท้องทะเลกว่า 20-35% และอีก 20% ของการปล่อยน้ำเสีย มาจากอุตสาหกรรม Fast Fashion รวมไปถึงในกระบวนการผลิตสินค้ายังเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอีก 10%

 

ที่สำคัญ 93% ของผลการสำรวจแรงงานของเหล่า Fast Fashion ยังพบว่า พวกเขาได้รับค่าจ้างในราคาที่ต่ำกว่าค่าครองชีพ ซึ่งผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเสื่อผ้ามีจำนวนมากถึง 1 ใน 6 ของประชากรโลก โดย 80% เป็นผู้หญิง

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เรายังคงมองข้าม หรือนิ่งนอนใจ เพราะทุกการซื้อเสื้อผ้าจากบรรดาแบรนด์ที่ไร้ความผิดชอบนั้น เท่ากับว่าตัวเราเองก็คือส่วนหนึ่งที่กำลังสนับสนุนการกระทำเหล่านี้อยู่

 

แล้วเราช่วยอะไรได้บ้าง ? 

มีหลายวิธีที่เราสามารถหลีกเลี่ยง และลดการสนับสนุน Fast Fashion ได้ ไม่ว่าจะเป็น อุดหนุนเสื้อผ้ามือสอง มองหาเสื้อผ้าคุณภาพดีเพื่อใส่ได้ในระยะยาว หรือแม้แต่การปรับ Mind set ของการใส่เสื้อผ้าซ้ำว่าไม่ใช่เรื่องตกเทรนด์ และเราสามารถ Mix and Match ได้หลากหลาย ที่สำคัญที่สุดคือสนับสนุนแบรนด์เสื้อผ้าที่ให้ความสำคัญกับ Sustainable Fashion

 

Levi’s

เป็นแบรนด์เก่าแก่ ที่ไม่ได้มีดีแค่กางเกงยีนส์ แต่เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นอย่างยั่งยืน 

 

“Buy better. Wear longer”

คือปฎิฐานของ Levi’s ที่อยากให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการลงทุนซื้อสินค้าที่ดี มีคุณภาพกว่า เพื่อการใช้งานที่ยาวนานกว่า

 

โดยแบรนด์ได้มีการนำนวัตกรรม ‘Cottonized Hemp’ มาประยุกต์ใช้กับการผลิต หรือเป็นการนำกัญชงมาผสมกับฝ้ายในการผลิตยีนส์ และเสื้อผ้าในคอลเลคชั่นนี้ 

 

เนื่องจากกัญชง ได้รับการวิจัยและรับรองว่า เป็นพืชที่มีความยั่งยืน ใช้งานได้ยาวนานมากกว่าฝ้าย อีกทั้งการปลูกกัญชงนั้นใช้น้ำน้อย สามารถประหยัดน้ำถึง 30% และใช้ยาฆ่าแมลงในการปลูก น้อยกว่าฝ้ายเป็นอย่างมาก

 

อีกทั้งบริษัทยังมีเป้าหมายที่จะให้ฝ้าย และพลังงานในการผลิตที่สามารถกลับนำมาหมุนเวียนใช้ได้ 100% ภายในปี 2025 

 

ซึ่ง Levi’s ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยในไตรมาส 3/2021 มีรายงานระบุว่า Levi’s สามารถทำรายได้ไปกว่า 1.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เติบโต 41% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนเลยทีเดียว

 

ในทางด้านฝั่งประเทศไทยก็มีเช่นกัน 

She Knows

แบรนด์สัญชาติไทย ผู้ให้ความสำคัญกับ Sustainable fashion ไม่ว่าจะเป็นการคัดสรรวัตถุดิบการผลิตที่ต้องมาจากใยฝ้ายธรรมชาติ หรือผ้ารีไซเคิล 

กระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลงกว่าปกติถึง 70%  และให้ความสำคัญกับแรงงานช่างไทยแม้จะต้นทุนที่ถูกกว่าก็ตาม

 

ทางด้านเหล่าแบรนด์ใหญ่ที่เคยติดโผล่ แบรนด์ fast fashion ที่ควรหลีกเลี่ยง ก็พยายามพลิกตัวกลับมาปรับการผลิตใหม่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น 

 

H&M 

หันมาใส่ใจทุกกระบวนการผลิตที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และวางเป้าหมายที่จะใช้เฉพาะวัสดุที่ยั่งยืนแบบ 100% ภายในปี 2030

 

UNIQLO

ก่อตั้งโครงการ RE.UNIQLO เป็นการนำเสื้อผ้าที่ไม่สามารถนำปรับไปใช้ได้ใหม่ เช่น เสื้อขนเป็ด มารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและวัสดุซับเสียงต่อไป 

 

Zara

ระบุว่าได้บรรลุเป้าหมายในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์ไปแล้วกว่า 65% 

และตั้งเป้าหมายกำจัดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และรีไซเคิลของเสียทั้งหมดจากการผลิตของบริษัทให้ได้ภายในปี 2030

 

จะเห็นได้ว่าทั่วโลกทั้งในฐานะผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ต่างก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่แบรนด์แฟชั่นทั้งหลายหันปรับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

 

เขียนและเรียบเรียง : ธนัญญา มุ่งสันติ
ข้อมูล : en.vogue.me / .retail-insight-network / เว็บไซต์บริษัท
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SlowFashion #SustainableFashion #แฟชั่นรักษ์โลก #สิ่งแวดล้อม