3 เหตุผลนำพา ‘ซันเวนดิ้ง’ วิ่งเหนือจอง!! ภาพรวมตลาดเป็นใจ ความเชื่อถือมาเต็ม

บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SVT เจ้าของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ ตู้ขายน้ำขายขนมอัตโนมัติแบรนด์ SUNVENDING เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น (SET) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจพาณิชย์ เป็นวันแรก โดยเปิดตลาดที่ 2.88 บาท บวกไป 13.39% จากราคา IPO ที่ 2.54 บาท

ก่อนจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดของวันที่ 4.02 บาท (บวกไป 58.27%) ถึงแม้ระหว่างวันจะมีการย่อตัวลงไปทำจุดต่ำสุดของวันที่ 2.80 บาท (บวกไป 10.24%) แต่ก็สามารถดีดคืนกลับมาได้จนปิดตลาดวันที่ซื้อขายวันแรก (5 ตุลาคม 2564) ที่ระดับ 3.54 บาท บวกไป 39.37% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 7,445 ล้านบาท (เกือบ 15 เท่าของมูลค่าการระดมทุน)

สาเหตุที่ ‘Business+’ คาดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นสามารถปิดในแดนบวกได้ 3 เหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

เหตุผลที่ 1 ‘ซันเวนดิ้ง’ เป็นบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล ของตระกูลโชควัฒนา ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย ชื่อแบรนด์ที่พูดออกมาแล้วทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีก็คือ มาม่า เปา วาโก้ และมีสทีน การที่มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างตระกูลโชควัฒนาเป็นผู้บริหาร ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทมีค่อนข้างสูง ซึ่งการนำบริษัทในเครือเข้าตลาดครั้งนี้ถือเป็นการ Spin-Off (การนำบริษัทย่อยออกมาเสนอขาย IPO) ก็ยังทำให้ความน่าเชื่อถือสูงตาม

เหตุผลที่ 2 ผลประกอบการของ ‘ซันเวนดิ้ง’ เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงโควิด-19 โดยรายได้รวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 972.62 ล้านบาท เติบโต 12.39% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 39.46 ล้านบาท เติบโต 31.18% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนกำไรสุทธิอยู่ที่ 30.08 ล้านบาท และกำไร 6 เดือนของปีนี้ถือว่ามาไกลเกินครึ่งทางของกำไรปี 2563 ทั้งปี ซึ่งอยู่ที่ 65.15 ล้านบาท (มีโอกาสที่กำไรทั้งปี 2564 จะสูงกว่าทั้งปี 2563 เสียด้วย)

เหตุผลที่ 3 อัตราส่วนทางการเงินแข็งแกร่งทั้งหนี้สิน และความสามารถทำกำไรแข็งแกร่ง โดยฐานะการเงินถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ต่ำเพียง 0.86 เท่า (มีหนี้สินต่ำกว่าส่วนทุนของบริษัท) แสดงให้เห็นว่า ‘ซันเวนดิ้ง’ เป็นบริษัทที่หนี้สินน้อย ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาขยายกิจการได้อีกจำนวนมาก ขณะที่มีการบริหารทรัพย์สินได้เป็นอย่างดี

ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) 5.76% (อยู่ในเกณฑ์ดี) ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 10.48% (ค่อนข้างสูง) อัตรากำไรขั้นต้น 32.62% อัตราส่วนกำไรสุทธิ 4.06% และยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล

แถมให้อีกสัก 2 เหตุผลคือภาพรวมของตลาดในวันนี้เป็นใจ โดยดัชนีขึ้นมาปิดที่ 1,624.24 จุด บวกไป 9.76 จุด และอีกหนึ่งเหตุผลคือ ราคาขาย IPO ที่ระดับ 2.54 บาท เหมาะกับการเข้าลงทุนในช่วงกำลังซื้อ หรือเศรษฐกิจหดตัว (ใช้เงินน้อยในการลงทุน)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเคยนำเสนอไปแล้วในบทความเดิม https://www.facebook.com/businessplusonline/photos/a.364233346979241/4342931629109373/?__cft__[0]=AZUcTRV130mJ2cM8wD_bY7ATrJzTLjbogku-x-8RYEtlGN2nUT-CscbtuxV5z5is6BFzo_f0itM9TIgJFB8q99E1P9DOu9N2gsAEhBV5pFdavtiYEt_dgvrvUMGgRWV6pK4&__tn__=EH-R

ซึ่งจะมาย้ำแบบสั้น ๆ อีกครั้งว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายของบริษัทในเครือสหพัฒน์ที่อยู่ในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ,บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ,บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ ICC , หรือ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ WACOAL ต้องบอกว่าสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ (มีปริมาณการซื้อขายหุ้นแต่ละวันน้อยมาก) เพราะนักลงทุนที่ถืออยู่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยซื้อหรือขายหุ้นออกมา

จึงต้องคอยจับตาต่อว่า หากพ้นช่วง IPO ไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป จะซ้ำรอยกับบริษัทในเครือ หรือไม่ หรืออาจจะทำได้ดีกว่า เพราะปกติแล้วหุ้น IPO จะเป็นกระแสติดลมบนเพียงไม่กี่วันเท่านั้น แต่ถ้าหากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทดีล่ะก็ ย่อมสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นในท้ายที่สุด

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET,ก.ล.ต.

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #ตู้กดอัตโนมัติ #มาม่า #สหพัฒน์