ทำไมงบรายจ่ายปี 66 ถึงโดนจวกเละ? นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤต แล้วยังไม่สามารถสร้างอนาคตให้ประเทศชาติ

เมื่อไม่กี่วันก่อน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2566 วาระแรก ที่ตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ที่ 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท (ปีก่อน 3,100,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 2.74% และคิดเป็นเกือบ 18% ของ GDP

แต่แผนยุทธศาสตร์ของการตั้งงบประมาณครั้งนี้ กลับถูกมองว่า “ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตที่ประชาชนเผชิญอยู่ และยังไม่สามารถสร้างอนาคตให้ประเทศได้อีกด้วย”

โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐฯ ยังมีรายจ่ายที่มากขึ้นแล้ว แต่รายได้จากการเก็บภาษีต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อการใช้บริหารประเทศ โดยที่ในช่วงปี 2565 มีการคาดการณ์ว่า จะมีรายได้เข้ามาสุทธิ 2,400,000 ล้านบาท (จากการเก็บภาษีประชาชน) แต่จะมีรายจ่ายมากถึง 3,185,000 ล้านบาท ดังนั้น เงินส่วนที่เหลือรัฐต้องกู้เงินเพื่อมาชดเชยงบประมาณแบบขาดดุลเหล่านี้ (ไทยขาดดุลมาเป็นปีที่ 16)

ทีนี้มาดูสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท กันหน่อยว่าทำไมถึงถูกวิจารณ์กันซะเละเทะ? โดยที่การแบ่งงบประมาณ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
– รายจ่ายประจำ 2,396,942 ล้านบาท คิดเป็น 75.26% ของงบรวม
– รายจ่ายลงทุน 695,077 ล้านบาท คิดเป็น 21.82% ของงบรวม
– รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.14% ของงบรวม
และสัดส่วนที่เหลือเป็น รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ

ทั้งนี้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท เป็นดังนี้
– รายจ่ายประจำ 2,373,009.5 ล้านบาท คิดเป็น 76.3% ของงบรวม
– รายจ่ายลงทุน 611,933.4 ล้านบาท คิดเป็น 19.7% ของงบรวม
– รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.2% ของงบรวม
และสัดส่วนที่เหลือเป็น รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุน

จะเห็นได้ว่าถึงแม้รัฐบาลจะร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 85,000 ล้านบาท แต่สัดส่วนของรายจ่ายลงทุนกลับลดลงจาก 21.82% ของรายจ่ายทั้งหมดเหลือแค่ 19.7% ทั้ง ๆ ที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องการแรงขับเคลื่อนเป็นอย่างมาก ทั้งจากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 รวมไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งควรจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพการเติบโตให้ประเทศ

ซึ่งสัดส่วนที่มากที่สุด และถูกมองว่ามีประโยชน์น้อยกว่าเงินลงทุน คือ รายจ่ายประจำที่สูงถึง 75.26% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นเงินเดือน และค่าจ้างประจำ รวมถึงหมวดค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเม็ดเงินในส่วนนี้ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้ช่วยในการพัฒนาประเทศ

แต่ในส่วนที่เป็นงบเพื่อการลงทุนเหลือเพียงแค่ 21% เท่านั้น (เม็ดเงินลงทุนเพียง 695,000 แสนล้านบาท) ซึ่งเม็ดเงินก้อนนี้อาจจะใช้สามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้บางส่วน แต่ไม่อาจสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนว่า เม็ดเงินจำนวนนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง?
อย่างโครงข่ายถนนมอเตอร์เวย์ และทางพิเศษสายใหม่ ที่จะมีการผลักดันในปี 2565 ใช้วงเงินลงทุน 261,000 ล้านบาท สามารถทำโครงการทางยกระดับ และทางพิเศษจำนวน 8 โครงการ ระยะทาง 203.68 กิโลเมตร

แต่หากเป็นการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จะต้องใช้เงินลงทุนที่มากกว่านั้นหลายเท่า อย่างเช่นโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีงบการลงทุนด้วยวงเงินสูงถึง 2,200,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-2569) ซึ่งเท่ากับว่าอาจต้องใช้งบลงทุนมากถึงปีละ 440,000 ล้านบาท แต่ที่ใช้งบเยอะขนาดนั้นเป็นเพราะ EEC จะมีการลงทุน 3 ด้านหลักใหญ่ๆ คือ

1. ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน
2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG)
3. ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน

นี่คือสาเหตุที่ทำให้งบประมาณรายจ่ายในปี 2566 ซึ่งตั้งงบลงทุนเพียงแค่ 695,000 แสนล้านบาท อาจจะ “ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจ ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ ไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนได้”

โดย ‘นายอนุสรณ์ ธรรมใจ’ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง งบประมาณปี พ.ศ. 2566 ว่า การจัดทำงบประมาณปี พ.ศ. 2566 นั้นต้องเป็นการจัดทำงบประมาณบนฐานความคิดใหม่ วิธีการใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่คิดแยกส่วน เน้นบูรณาการ ภายใต้พลวัตเศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนไปหลังสงครามปูตินรัสเซียยูเครน ภายใต้ภาวะปรกติใหม่หลังโควิด ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและการแตกตัวของฟองสบู่ในตลาดการเงิน

รวมทั้งการเร่งตัวของผลกระทบ New Technology Disruption และความตึงเครียดที่ลดลงของสงครามการค้าจีนสหรัฐฯถูกแทนที่โดยสงครามคว่ำบาตรระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก

หากไม่จัดทำงบประมาณแบบใหม่ภายใต้พลวัตใหม่แล้ว งบประมาณจะไม่ได้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาวิกฤติที่ประชาชนเผชิญอยู่ และ ไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างอนาคตให้ประเทศ

การมีสัดส่วนงบประมาณประจำสูงถึง 75.26% และมีงบเพื่อการลงทุนเพียงแค่ 21% เม็ดเงินลงทุนเพียง 6.95 แสนล้านบาทย่อมไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจ ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆในประเทศ ไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนได้

แถมยังแนะนำให้รัฐสภาควรพิจารณาตัดงบประจำลงมาให้อยู่ในระดับหรือต่ำกว่า 70 % และ เพิ่มงบลงทุนให้อยู่ที่ 26-30% ของวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ควรกำกับควบคุมการก่อหนี้สาธารณะไม่ให้ทำงบประมาณขาดดุลเกิน 3% ของจีดีพี ในปี พ.ศ. 2566

ที่มา : Royal thai government ,สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #งบประมาณรายจ่าย