เอ็นทีทีชี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดัน 44% ขององค์กรธุรกิจ ผลการดำเนินงานพุ่ง

ผลการสำรวจล่าสุดของเอ็นทีทีย้ำ แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม หนุนธุรกิจโต

โตเกียว 22 กุมภาพันธ์ 2565 — เอ็นทีที เผยผลการสำรวจความยั่งยืนขององค์กรระดับโลกในรายงาน Innovating for a Sustainable Futureพบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรายงานระบุว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความจำเป็นตามหลักจริยธรรมและต่อการดำเนินธุรกิจในการช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในเชิงบวกและสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น นอกจากนี้ 69 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารทั่วโลก ยอมรับว่านวัตกรรมดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

รายงาน Innovating for a Sustainable Future” เป็นการสำรวจความยั่งยืนขององค์กรระดับโลก จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเอ็นทีทีและ ThoughtLab เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการก้าวสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

สาระสำคัญของผลการศึกษา

รายงานฉบับนี้ ได้สำรวจบริษัท 500 แห่งทั่วโลก เพื่อศึกษาแนวทางที่บริษัทต่างๆ ได้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนผสานเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมถึงผลที่ได้รับ โดยผลการศึกษามีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ผลการสำรวจพบว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดย 68 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรที่ทำการสำรวจยอมรับว่า บอร์ดและคณะกรรมการของบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเป็นอันดับแรก
  • การระบาดของ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นถึงจุดพลิกผันครั้งสำคัญของหลายองค์กร โดย 47 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าการระบาดที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน
  • ผลจากการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พบว่า 33 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรสามารถลดต้นทุนจากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ขณะที่ 32 เปอร์เซ็นต์สามารถพัฒนานวัตกรรม และ/หรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้มากขึ้น และ 24 เปอร์เซ็นต์ มีการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น
  • องค์กรทั่วโลกเพียง 12 เปอร์เซ็นต์มองว่า ความยั่งยืนเป็นเพียงเรื่อง “ดีแต่พูด” และองค์กร 4 ใน 10 ระบุว่า ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น และชุมชน คาดหวังให้องค์กรมีการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

นาย Vito Mabrucco หัวหน้าฝ่าย Global Marketing ของเอ็นทีทีกล่าวว่า “เนื่องจากประชากรโลกกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของโลกและผู้คนมากขึ้น เราจึงได้เห็นพันธะสัญญาจากองค์กรต่างๆ ในการประยุกต์ใช้และพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และเมื่อเราไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงสุขภาพของผู้คน หรือการเติบโตของผลกำไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ความยั่งยืนและความสามารถในการทำกำไรทางธุรกิจ จึงเป็นสองสิ่งที่กำลังพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

รายงานฉบับนี้ ได้วางขอบเขต “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” สอดคล้องกับ 17 Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ  ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนภายในปี 2573 โดยเอ็นทีทีได้ปรับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับ SDGs ครอบคลุม 3 หมวดหมู่หลัก ประกอบด้วย สังคมที่ดี สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เอ็นทีที และ ThoughtLab ได้จัดกลุ่มบริษัทต่างๆ เป็น 3 กลุ่ม (กลุ่มเริ่มต้น กลุ่มระดับกลาง และกลุ่มผู้นำ) โดยพิจารณาจากความก้าวหน้าของบริษัท ภายใต้กรอบแนวทาง 10 ประการสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ยั่งยืน ประกอบด้วย

  • การพัฒนาวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน และงบประมาณ
  • การพัฒนาโครงสร้างองค์กร ทักษะและทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ
  • เป้าหมายการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น นักลงทุน ลูกค้า และพนักงาน
  • การกำหนด ติดตาม และรายงานตัวชี้วัดสำหรับผลการดำเนินงานที่ยั่งยืน
  • การขับเคลื่อนประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและการสร้างให้เกิดนวัตกรรมในการดำเนินงาน
  • การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสินค้าและบริการ
  • การประยุกต์ใช้รูปแบบธุรกิจในเชิงนวัตกรรม
  • การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง
  • การบูรณาการเป้าหมายความยั่งยืนและตัวชี้วัดเพื่อการตัดสินใจในการลงทุน
  • การใช้ประโยชน์จากแนวทางการวัดผลที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น GRI, SASB หรือ TCFD)

เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของผู้นำองค์กร เอ็นทีทีได้สรุปแนวทางปฏิบัติ (Best Practices) โดยอิงจากการวิเคราะห์ศึกษาเพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. สร้างรากฐานสู่ความเป็นเลิศด้านความยั่งยืน (Build the Foundation for Sustainability Excellence) โดยกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และโครงสร้างองค์กรเพื่อความยั่งยืนอย่างชัดเจน มีการตรวจสอบประสิทธิภาพโดยเทียบกับตัวชี้วัดความยั่งยืน และผสมผสานการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าสู่การทำธุรกิจ
  2. ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน (Harness Digital Innovation to Drive Sustainability Results) ผู้บริหารองค์กรควรตระหนักว่า ความยั่งยืนและนวัตกรรมดิจิทัลเป็นสองด้านของเหรียญ เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะระบบคลาวด์ AI และ IoT ผู้บริหารต้องเข้าใจว่า การได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเกิดจากกลยุทธ์การผสานความยั่งยืนและนวัตกรรมดิจิทัลเข้าด้วยกัน
  3. สร้างพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Build Partnerships that Work Together to Deliver on Common Sustainability Goals) ผู้บริหารองค์กรไม่เพียงทำงานอย่างใกล้ชิดกับส่วนต่างๆ ในซัพพลายเชน หากยังต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่หลากหลาย ตั้งแต่องค์กรพหุภาคี เอ็นจีโอ (NGOs) ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้บริโภค

ผลการศึกษานี้ได้เผยแพร่พร้อมกับการเปิดตัวโครงการนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของเอ็นทีที NTT Innovation for a Sustainable Future Program เพื่อนำเสนอผลกระทบเชิงบวกของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) และการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งมอบความยั่งยืนและสร้างให้เกิดประโยชน์ทางสังคม โดยได้วางแนวทางการผสานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ากับความต้องการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ภายใต้โครงการนี้ เอ็นทีทีจะสนับสนุนด้านข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อให้องค์กรต่างๆ นำแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์และการพัฒนานวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรทุกระดับมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลทางบวกต่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกและผู้คน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอ็นทีที และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://www.global.ntt/isf/index.html

รายงาน Innovating for a Sustainable Future” ฉบับเต็ม สามารถเข้าชมได้ที่ https://www.global.ntt/isf/pdf/Innovating-for-a-sustainable-future.pdf

โครงการ NTT Innovation for a Sustainable Future ริเริ่มขึ้นหลังจากการเปิดตัวโครงการระดับโลก NTT’s August 2021 Launch of a Worldwide Initiative ในเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทบทวนถึงความสำคัญของสุขภาพและการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี

ด้วยความร่วมมือกับหน่วยธุรกิจต่างๆ ของเอ็นทีที ประกอบด้วย NTT DATA, NTT Ltd., NTT Research และ NTT Disruption โครงการได้นำเสนอแนวคิดและทรัพยากรที่เอื้อให้หน่วยงานรัฐบาล ชุมชน และองค์กรต่างๆ ทบทวนแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล สุขภาพจิต สุขภาพสังคม สุขภาพผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งแนวทางการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสนับสนุนและรองรับให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ NTT Health and Wellbeing สามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://www.global.ntt/healthandwellbeing

ระเบียบวิธีวิจัย (Methodology)

เอ็นทีที และ ThoughtLab ได้ศึกษาวิจัยและสำรวจแนวปฏิบัติของผู้บริหารครอบคลุม 500 บริษัท ใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 8 ตลาดระดับโลกตั้งแต่เดือนกันยายน เพื่อวางแนวทางปฏิบัติให้องค์กรผสานการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจจากการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติดังกล่าว – ตุลาคม 2564