โอกาสของไทยในการเป็น ‘เวเนซุเอลา 2’

วิกฤตเวเนซุเอลา กลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เนื่องจากส่งผลอย่างหนักต่อประชาชนให้ตกอยู่ในสภาวะยากจน ซึ่งประเด็นความน่าสนใจ คือ สถานการณ์ขณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับไทยเป็นอย่างมาก จนมีหลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าไทยเองในอนาคตอาจตกเป็น ‘เวเนซุเอลา 2’

ประชานิยมไม่ถูกทางกลายเป็นแผลลุกลาม

 

ต้องบอกก่อนว่า เวเนซุเอลานั้นพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน โดยเป็นแหล่งน้ำมันสำรองที่ใหญ่ที่สุด (น้ำมันดิบ) ของโลก ซึ่งกลายเป็นรายได้ของประเทศหลัก ทั้งนี้ การที่พึ่งพาแหล่งน้ำมันนั้น กลายเป็นช่องทางหาเสียงให้แก่พรรคการเมืองก่อนหน้านั้น

 

แผลลุกลามนั้นเริ่มต้น เมื่อปี 1976 ประธานาธิบดี คาร์ลอส เปเรซ ได้ชนะการเลือกตั้ง โดยนำรายได้จากน้ำมันของรัฐบาล เอากลับมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชน แต่การนำกลับดังกล่าวนั้น ผ่านโครงการประชานิยมที่ไม่ถูกทาง

 

โครงการประชานิยมของเปเรซนั้น เป็นการจ่ายเงินให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างฐานคะแนนการเลือกตั้งทั้ง 2 สมัยที่เขาชนะ คล้ายกับให้เงินเปล่าแก่ประชาชน ซึ่งทำลายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด

 

ทั้งนี้มาจากโครงการดังกล่าว ได้แก่ บ้านพักราคาถูกซึ่งขายต่ำกว่าท้องตลาด และร้านค้ารัฐบาลโดยขายสินค้าถูกกว่าทุน เป็นต้น

 

กลายเป็นว่าหลังจากเปเรซนั้นเสียชีวิตลง หลายพรรคการเมืองหาเสียงด้วยโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทำให้เวเนซุเอลา กลายเป็นประเทศแห่งนโยบายประชานิยม เพื่อคะแนนเสียงจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถชนะการเลือกตั้งได้ในที่สุด

 

crisis

 

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้

 

  1. ในอดีตที่ผ่านมาราคาน้ำมันนั้นผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งราคาถดถอยลงนั้น ส่งผลให้เวเนซุเอลาซึ่งพึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
  2. เมื่อรายได้หลักลดลง ทำให้การถือครองเงินในมือลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าลดลง ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น กระทั่งประชาชนขาดแคลนสินค้าในทุกประเภท จนส่งผลให้ในปี 2017 มีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อยถึง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. รัฐบาลไม่มีเงินสำหรับจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานราชการ อีกทั้งยิ่งกระทบหนักเมื่อรัฐบาลมีโครงการประชานิยมเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นโครงการที่แจกจ่ายเงินแก่ประชาชน ซึ่งเมื่อรัฐบาลตกที่นั่งลำบาก ส่งผลเป็นทอด ๆ ต่อประชาชนไม่มีเงินใช้จ่าย
  4. ประชาชนประท้วงรุนแรงเป็นเวลาหลายเดือน เผชิญหน้ากับผู้สนับสนุน ‘นิโคลัส มาดูโร’ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ขณะที่  ‘มาดูโร’ ส่งทหารเวเนซุเอลาไปตามถนนเพื่อสลายกลุ่มชุมนุมประท้วงให้ตนออกจากตำแหน่ง
  5. Maduro พยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ 30 เท่า แต่ก็ยังไม่ได้ผล
    และการสร้างตัวสกุลเงินขึ้นมาใหม่ ‘Bolivar Soberano’ รวมถึงอีกหลากหลายทางเพื่อแก้ปัญญาแต่ผลลัพธ์ก็ไม่เป็นดังคาด

 

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบัน เวเนซุเอลามีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมหาศาล โดย IMF กล่าวว่า “อัตราการเงินเฟ้ออาจแตะระดับ 1 ,000,000% ในช่วงปลายปี”

 

ประเทศไทย เข้าใกล้สถานการณ์นั้นหรือยัง

 

นโยบายประชานิยมของไทยถูกกล่าวขวัญมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือว่าเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งเช่นเดียวกับเวเนซุเอลา เช่นอุดหนุนดีเซล รถยนต์คันแรก การการแจกแท็บเล็ต และอีกมากมาย ต้องบอกว่าไทยนั้นมีโครงการประชานิยมเยอะพอสมควร ซึ่งมักจะทำลายกลไกของตลาด เนื่องจากเป็นการพยุงเศรษฐกิจซึ่งทำให้ไม่สามารถสะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจาก ความล้มเหลวของโครงการจำนำข้าวที่ทุ่มเงินลงทุนไปกว่า 9.8 แสนล้าน หากแต่ขาดทุนไปเกิน 50% ในเวลาต่อมา ซึ่งทำลายระบบการค้าข้าวของไทยในเวลาต่อมา

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังคงไม่ได้เป็นวิกฤตเทียบเท่ากับเวเนซุเอลาเห็นได้จาก GDP ณ ไตรมาส 1/2018 อยู่ที่ 4.8% สำหรับอัตราเงินเฟ้อ และการว่างงาน เดือน ก.ค. 2018 เท่ากับ 1.46% และ 1% ตามลำดับ ซึ่งยังคงไม่ได้เข้าข่ายน่ากลัวเสียเท่าไหร่

 

อย่างไรก็ตาม เวเนซุเอลานั้นมีโครงการประชานิยมอยู่เป็นพันโครงการ ซึ่งเยอะมากเมื่อเทียบกับไทย ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การที่โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือประชาชนตรงจุดแล้วหรือยัง เพราะการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ มิใช่การให้เปล่าซึ่งเวเนซุเอลาก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้เราได้เห็น โดยความยั่งยืนยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ไทยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ ต้องมาดูกันว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ของไทย จะยัดนโยบายแบบไหนในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งหากเราไม่อยากจะเป็น ‘เวเนซุเอลา 2’ แล้วล่ะก็ ดังนั้น ควรจะพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะพรรคการเมืองนั้นเป็นเหมือนผู้นำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าและดิ่งลงเหวได้เช่นเดียวกัน