‘ไต้หวัน’ ส่ง ‘หมอต้นไม้ AI’ บุกตลาดโลก!! ขนทั้ง AI-IoT-Big Data ช่วยเกษตรกร เป้าหมายคือ ‘ผู้นำเกษตรอัจฉริยะ’

ไต้หวันถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก หลังจากที่รัฐบาลไต้หวันได้ทำการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรม จนกลายมาเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในทุกวันนี้

และในแง่ของระบบการศึกษา ไต้หวันก็ถือเป็นอีกประเทศที่มีความพร้อม และค่อนข้างมีชื่อเสียงในเรื่องของวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้เราได้เห็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ

ล่าสุด ‘มหาวิทยาลัยจงซิงของไต้หวัน’ ได้พัฒนาเทคโนโลยี AI ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั่วไต้หวัน พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในการตรวจสอบโรคพืชและสัตว์ผ่าน Smart Phone เพื่อรับคำแนะนำและวิธีการรักษาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ

โดยระยะแรกจะนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้สำหรับการปลูกข้าว กล้วยไม้ และการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ว่าจะสามารถใช้ ‘หมอต้นไม้ AI’ ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาจากระยะทางไกลได้ และจะสามารถนำเอาเทคโนโลยี AI และ IoT มาใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับภาคการเกษตรทั้งในไต้หวัน และทั่วโลกได้อีกด้วย

ซึ่งหลักการทำงานของ ‘หมอต้นไม้ AI’ คือ การรวบรวมข้อมูล Big Data ยกตัวอย่างเช่น หากพบเชื้อไวรัสใน กล้วยไม้ ก็จะกำหนดหมายเลขประจำตัวให้ และทำการตรวจสอบว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และเป็นโรคประเภทไหน จากนั้นจะทำการสร้างเป็นฐานข้อมูลขึ้น และเมื่อทำการตรวจสอบพบว่ากล้วยไม้มีอาการแบบเดียวกันกับฐานข้อมูลที่มี AI ก็จะวินิจฉัยออกมาได้ว่าเป็นโรคอะไร เกษตรกรต้องปฏิบัติอย่างไรหรือใช้ยาอะไรใน การรักษา

ขณะที่ในฝั่งของเกษตรกรก็สามารถแอดไลน์ “สุ่ยเต้าเสี่ยวปังโซ่ว” (มีความหมายว่าผู้ช่วยตัวน้อย) เช่น หากปลูกข้าว แล้วต้องการคำแนะนำ ก็สามารถถ่ายภาพรวงข้าวแล้วอัพโหลดเข้าระบบ โดย AI จะวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อวิเคราะห์ว่า ในเมล็ดข้าวมีปริมาณน้ำมากน้อยเพียงใด รวมถึงจะใช้ข้อมูลจากการพยากรณ์อากาศในการให้ คำแนะนำแก่เกษตรกรว่าอีกกี่วันควรจะทำการเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งช่วยคาดการณ์ราคาข้าวในอนาคตได้อีกด้วย

แพลตฟอร์มนี้ จึงเหมาะเป็น อย่างที่จะนำไปใช้ในการตรวจสอบผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณค่าสูงในทางเศรษฐกิจ

ซึ่ง ศูนย์วิจัยฯ มีแผนที่จะนำเอาระบบและเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ในแปลงสาธิตในและในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เพื่อช่วยเกษตรกรในพื้นที่แก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ พร้อมหวังว่า ไต้หวัน จะกลายเป็นแบบอย่างด้านการเกษตรอัจฉริยะที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป

ด้าน ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ’ มองว่า ไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาสินค้าเกษตร ผ่านการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพันธุ์พืช ส่งผลให้ปัจจุบันไต้หวันสามารถผลิตผักและผลไม้ที่หลากหลายมาก ทั้งผลไม้เมือง ร้อน และผลไม้เมืองหนาว เช่น ลูกพลับ เชอรร์รี่ สตรอเบอรี่ พีช สาลี่ ฯลฯ

ซึ่งการพัฒนานี้สามารถพลิกโฉมจากเดิมที่เคยผลิตผลไม้ได้เพียงไม่กี่ชนิด และด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า ทำให้ผลผลิตที่ได้มีขนาดใหญ่ รสชาติหวาน และคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไต้หวันนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาในการทำการเกษตร พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพรวมทั้งคุณภาพของผลผลิต

สำหรับประเทศไทยแล้ว อย่างที่เรารู้กันดีอยู่ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเกษตรกรรม ซึ่งอาชีพของประชากรไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นเกษตรกร แต่เรามักเจอปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุมาจากปริมาณการเพาะปลูกที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด (อาจจะมากหรือน้อยเกินไป) รวมไปถึงคุณภาพผลผลิตที่หลายภาคส่วนไม่มีคุณภาพ หรือไม่ได้มาตรฐาน

ดังนั้น หากเราพัฒนา หรือนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตรมาใช้ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะเทคโนโลยีนอกจากจะช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรได้แล้ว ยังช่วยให้วางแผนการเพาะปลูกในเวลาและปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะนำไปสู่ความสามารถแข่งขันสำหรับภาคเกษตรกรรมในเวทีโลกได้

ที่มา : China Times ,DITP

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #หมอต้นไม้